เมื่อวันที่ 31 ต.ค. นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.) พร้อมด้วยนางสาวสุชาดา แทนทรัพย์ เลขานุการ รมว.กระทรวง อว. เข้าร่วมงานสัมมนา TDRI Annual Public Conference 2023 “ปรับประเทศไทย…ไปสู่ เศรษฐกิจ-สังคมคาร์บอนต่ำ” เพื่อร่วมกันแลกเปลี่ยนในประเด็นการสร้างเศรษฐกิจและสังคมภายใต้โจทย์ “คาร์บอนต่ำ” โดยการสัมมนาครั้งนี้ได้บูรณาการความร่วมมือทั้งภาครัฐ เอกชน วิชาการ และประชาชน ซึ่งมีเป้าหมายในการลดการปล่อยคาร์บอนและก๊าซเรือนกระจกต่าง ๆ รวมถึงการปรับตัวให้เข้ากับสภาพภูมิอากาศในอนาคต ที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของคนไทย ณ ชั้น 5 สามย่านมิตรทาวน์ฮอลล์ กทม.
นางสาวศุภมาส รมว.อว. กล่าวว่า การจัดสัมมนาในครั้งนี้ ชี้ให้เห็นว่าการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) จะกำหนดความอยู่รอดของเศรษฐกิจและสังคมไทย ขณะที่เป้าหมายการเปลี่ยนผ่านไปสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero ได้เป็นประเด็นที่ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญและร่วมกันขับเคลื่อน อย่างไรก็ตาม กระทรวง อว. ตระหนักดีว่าประเทศไทยยังต้องการนโยบายและมาตรการที่เหมาะสมที่จะช่วยสนับสนุนการปรับเปลี่ยนไปสู่เศรษฐกิจและสังคมคาร์บอนต่ำ เพื่อผลักดันไทยไปสู่ Net Zero และทำให้เศรษฐกิจไทยเข้มแข็งและเติบโตได้อย่างยั่งยืน
“ในฐานะ รมว.กระทรวง อว. ตนได้กำหนดนโยบายที่มุ่งเน้นในด้านการวิจัยและนวัตกรรม คือ “วิจัย-นวัตกรรมดี ตอบโจทย์ ตรงความต้องการ” โดยเน้นประเด็นสำคัญของประเทศซึ่งสอดรับกับประเด็นสำคัญของโลก ได้แก่ Go Green พอเพียง ความยั่งยืน ความเป็นกลางทางคาร์บอน พลังงานสะอาด ความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) นโยบายที่กล่าวมาทั้งหมดนี้จะต้องพึ่งพาข้อมูล องค์ความรู้ วิทยาการ ตลอดจนภาคีเครือข่ายจำนวนมาก ซึ่งกระทรวง อว. ได้เน้นหลักการสำคัญคือ "เอกชนนำ รัฐสนับสนุน" โดยให้เอกชนซึ่งเป็นผู้ที่จะใช้ประโยชน์ทำหน้าที่กำหนดทิศทางว่าควรจะทำเรื่องอะไร อย่างไร แล้วสถาบันวิจัยและมหาวิทยาลัยต่าง ๆ จะเข้าไปดำเนินการสนับสนุนอย่างเต็มกำลังโดยใช้ความต้องการเป็นตัวนำ สอดคล้องกับข้อเสนอของ TDRI ในเรื่อง “การปรับทักษะคนไทย...ทำงานใหม่ยุคคาร์บอนต่ำ” ที่ภาครัฐจะต้องหารือใกล้ชิดกับภาคเอกชนและภาคการศึกษา เพื่อเตรียมพร้อมในการจัดหลักสูตรที่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานในอนาคต ทั้ง "การจ้างงานใหม่สีเขียว” ไปจนถึง “งานเดิมเติมทักษะสีเขียว” ซึ่งมีความต้องการมากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อตอบสนองต่อภาคธุรกิจ และภาคการผลิตในยุคคาร์บอนต่ำ ขณะเดียวกันก็จะยังคงพัฒนาแรงงานด้าน STEM อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ตนจะนำประเด็นต่าง ๆ ที่ได้รับฟังจากงานสัมมนาครั้งนี้ มาดำเนินการสนับสนุน พัฒนา และแก้ไขอย่างเต็มที่ เพื่อให้ประชาชนมั่นใจได้ว่าเราจะเดินไปสู่เป้าหมายเพื่อความเป็นอยู่ที่ดียิ่งขึ้นต่อไป” นางสาวศุภมาส กล่าว
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.