เมื่อวันที่ 4 พ.ย. นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา ที่ปรึกษา รมว.กระทรวง อว. รศ.ดร.พาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์ รองปลัดกระทรวง อว. และผู้บริหารกระทรวง อว. ให้การต้อนรับ นายนิชิมูระ ยาซูโตชิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมญี่ปุ่น (Ministry of Economic, Trade and Industry – METI) และคณะ ณ ห้องรับรองพระจอมเกล้า ชั้น 4 อาคารพระจอมเกล้า สำนักงานปลัดกระทรวง อว. (โยธี)
นางสาวศุภมาส กล่าวว่า ไทยและญี่ปุ่นเป็นทั้งมิตรและหุ้นส่วนความร่วมมือที่สำคัญต่อกัน ในปี 2566 นี้ เป็นปีที่ทั้งสองประเทศได้ประสานความร่วมมือภายใต้กรอบอาเซียน-ญี่ปุ่น ครบรอบ 50 ปี ซึ่งประเทศไทยได้รับมอบหมายให้เป็น Country Coordinator ระหว่างปี 2564-2567 โดยได้มีการจัดกิจกรรมขึ้นหลากหลายโครงการ เช่น การประชุมเชิงปฏิบัติการ ผลักดันความร่วมมือระหว่างประเทศด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม การประชุม JASTIP Session เพื่อกำหนดวิสัยทัศน์ความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่น สู่ปี 2050 การประชุม ASEAN Space Workshop ภายใต้หัวข้อ Space Weather และ การจัดงาน ASEAN Innovation Week ในหัวข้อที่เกี่ยวกับ Carbon Neutrality และ ASEAN Green Economy เป็นต้น ที่สำคัญ เมื่อช่วงเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา ตนยังได้มีโอกาสพบปะกับหน่วยงานภาคเอกชนและหน่วยงานพันธมิตรด้านอวกาศของประเทศญี่ปุ่นในงาน Thailand Space Week 2023 โดยได้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ นวัตกรรมด้านอวกาศ รวมทั้งด้านอื่น ๆ ร่วมกันอีกด้วย
รมว.กระทรวง อว.กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ หน่วยงานของประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น ได้แก่ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ องค์การพัฒนาพลังงานและเทคโนโลยีอุตสาหกรรมใหม่ (NEDO) ยังได้มีการลงนามความร่วมมือภายใต้กรอบ BCG Model ของประเทศไทยและ Green Growth Strategy ของประเทศญี่ปุ่น เป็นการสร้างเครือข่ายร่วมกันระหว่างหน่วยงานรัฐ นักวิจัย และภาคเอกชนของทั้งสองประเทศ เพื่อมุ่งหวังไปสู่การพัฒนานวัตกรรม ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รวมถึงด้านการศึกษาร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพทั้งในปัจจุบันและอนาคต
“ขณะที่ ในด้านการพัฒนากำลังคน กระทรวง อว. ยังได้จัดตั้งสถาบันไทยโคเซ็นในประเทศไทย ที่อยู่ภายใต้การดูแลของ สถาบันโคเซ็น ประเทศญี่ปุ่น เพื่อผลิตวิศวกรนักปฎิบัติโคเซ็น ที่มีทักษะและความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ทั้งนี้ นักศึกษารุ่นแรกกำลังจะจบการศึกษาในปี 2567 นี้ ซึ่งตนเชื่อว่าบัณฑิตจากสถาบันโคเซ็นจะเป็นที่ต้องการและได้ทำงานในภาคอุตสาหกรรมชั้นนำของประเทศ และพวกเขาเหล่านี้จะเป็นความหวังในการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมเป้าหมายในประเทศไทยต่อไป”
ด้าน นายนิชิมูระ กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทยานยนต์ของญี่ปุ่นจำนวนมากเข้ามาลงทุนดำเนินธุรกิจในไทยนับเป็นห่วงโซ่อุปทานที่สำคัญและนำไปสู่การพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ร่วมกัน โดยนโยบายของญี่ปุ่นมุ่งเน้นการร่วมสร้างสรรค์ (Co-creation) ผ่านโครงการความร่วมมือ เชิงนวัตกรรมในลักษณะที่เป็น flagship program อาทิ การใช้ดิจิทัลเพื่อความก้าวหน้าด้านการเกษตร AI การแพทย์ยุคใหม่ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวง อว. ทั้งนี้ ขอขอบคุณ รมว.กระทรวง อว. ที่เชื่อมั่นในนวัตกรรมและองค์ความรู้ของประเทศญี่ปุ่น รวมถึงให้การต้อนรับเป็นอย่างดีเสมอมา ประเทศญี่ปุ่นยินดีสร้างนวัตกรรม เพื่อนำไปสู่การร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่และสร้างสังคมที่เข้มแข็งของทั้งสองประเทศ
ทำข่าว : นางสาวพรชิตา รุกขชาติ
ถ่ายภาพ : นายปวีณ ควรแย้ม
กลุ่มสื่อสารองค์กร กองกลาง
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3972 โทรสาร 0 2333 3834
e-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : @MHESIThailand
Twiiter : @MHESIThailand
Call Center โทร.1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.