เมื่อวันที่ 15 พ.ย. นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อม พ.ญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา ที่ปรึกษา รมว.กระทรวง อว. และคณะ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคใต้ โดยมี รศ.นพ.สุนทร วงษ์ศิริ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พร้อมด้วย ผศ.คำรณ พิทักษ์ ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคใต้ และคณะผู้บริหารและบุคลากรในหน่วยงานให้การต้อนรับ โดยบรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก มีผู้ประกอบการที่ได้รับการสนับสนุนจากอุทยานวิทยาศาสตร์ฯ นำผลงานมาจัดแสดง โดยนางสาวศุภมาส ให้ความสนใจเดินชมและพูดคุยกับผู้ประกอบการอย่างเป็นกันเองพร้อมกับสนับสนุนผลิตภัณฑ์ สร้างความประทับใจให้กับผู้ประกอบการที่มาต้อนรับ
ผศ.คำรณ กล่าวว่า อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคใต้ มีภารกิจหลักที่สำคัญ คือ การสนับสนุน ส่งเสริม และพัฒนาผู้ประกอบการหรือภาคเอกชน โดยใช้องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ผสานความเชื่อมโยงระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา และภาคชุมชนท้องถิ่น เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับธุรกิจและอุตสาหกรรม ตลอดจนผลักดันผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ ที่ผ่านมา อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคใต้ ภายใต้การดำเนินงานของอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยเครือข่าย ได้ให้ความสำคัญและพัฒนาผู้ประกอบการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยางพารา ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของภาคใต้และของประเทศไทย โดยการสร้างและพัฒนาผู้ประกอบการนวัตกรรมยางพารารุ่นใหม่ โดยเน้นเรื่องของความยั่งยืนและเน้นทำตลาดโลก พร้อมทำวิจัยร่วมกับเอกชนขนาดใหญ่ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับยางพารา นอกจากนี้ ก็ให้ความสำคัญและพัฒนาผู้ประกอบการฮาลาลมาโดยตลอด ผ่านระบบและกลไกหลักของอุทยานวิทยาศาสตร์ ได้แก่ การบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี เช่น โครงการสร้างผู้ประกอบการมุสลิมรุ่นใหม่ โดยดึงอัตลักษณ์จากผลิตภัณฑ์ บริการ และอุตสาหกรรมเด่นในพื้นถิ่นมาพัฒนาให้มีความพร้อมผ่านการวิจัยด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม โครงการ Islamic Art ศิลปะอิสลาม สุนทรียะ เสน่ห์ และแรงบันดาลใจ เพื่อพัฒนาและให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการ นักออกแบบ และผู้ที่สนใจเกี่ยวกับ “ศิลปะอิสลาม” ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดการนำองค์ความรู้มาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาธุรกิจหรือผลิตภัณฑ์เชิงสร้างสรรค์
.
“อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคใต้ ตั้งเป้าที่จะเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการฮาลาลของประเทศ โดยในปี 2567 จะมุ่งเน้นการขับเคลื่อน “อุตสาหกรรมฮาลาลสู่ตลาดโลก” เพื่อพัฒนาผู้ประกอบการฮาลาลด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงส่งเสริมและสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตและส่งออกสินค้าและบริการฮาลาลที่สำคัญในภูมิภาคอาเซียนและระดับโลก” ผศ.คำรณ กล่าว
.
ด้าน นางสาวศุภมาส กล่าวว่า อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคใต้ มีจุดเด่นเรื่องของการเชื่อมโยงอัตลักษณ์พื้นที่ โดยเฉพาะอย่างอย่างการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ยางพารา และมีการส่งเสริมนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมฮาลาล รวมถึงมีการส่งเสริมให้เกิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และทางรัฐบาลก็มีนโยบายที่จะส่งเสริมให้เกิดระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ ซึ่งมุ่งเน้นการพัฒนาไปสู่การเป็นประตูเศรษฐกิจแห่งภูมิภาคที่มีศักยภาพในการเชื่อมโยงโครงข่ายการคมนาคมขนส่ง และการค้าของประเทศ ซึ่งอุทยานวิทยาศาสตร์ จะมีบทบาทสำคัญในการสร้างนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่บนฐานนวัตกรรม และกลไกสำคัญในการพัฒนา หลังจากนี้ตนจะผลักดันอย่างเต็มที่ ให้อุทยานวิทยาศาสตร์มีบทบาทนำในการจัดทำแผนพัฒนาระเบียงระเบียงเศรษฐกิจในภาคใต้และภาคอื่น เพื่อกระจายความเติบโตทางเศรษฐกิจ ลดความเลื่อมล้ำ สร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจไทยในทุกพื้นที่และตนจะเดินทางไปตรวจเยี่ยมอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคทั่วประเทศ โดยในเดือน ธ.ค.นี้จะไปอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคเหนือ จ.เชียงใหม่
เผยแพร่ข่าว : นางสาวพรชิตา รุกขชาติ
ถ่ายภาพ : นายสกล นุ่นงาม, นายกรภัทร์ จิตต์จำนงค์
กลุ่มสื่อสารองค์กร กองกลาง
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3972 โทรสาร 0 2333 3834
e-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : @MHESIThailand
Twiiter : @MHESIThailand
Call Center โทร.1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.