วันที่ 29 พ.ย. นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานเปิดงานเสวนาในหัวข้อ "Soft Power สร้างสรรค์ อัศจรรย์ช่างศิลป์อยุธยา” จัดโดย สถาบันช่างศิลป์ท้องถิ่น ในสังกัดวิทยสถานสังคมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (Thailand Academy of Social Science Humanities and Arts) หรือธัชชา โดยมี รศ.ดร.พาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์ รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ดร.สิริกร มณีรินทร์ ผู้อำนวยการสถาบันช่างศิลป์ท้องถิ่น (ธัชชา) นักวิจัย และบุคลการกระทรวง อว. เข้าร่วม ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารพระจอมเกล้า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (โยธี)
นางสาวศุภมาส กล่าวว่า การเสวนาในครั้งนี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างยิ่ง และยังได้รับเกียรติจาก ดร.อรุโณชา ภาณุพันธุ์ ผู้จัดละครชื่อดังจากละครบุพเพสันนิวาสและพรหมลิขิต รศ.ดร.ปรีดี พิศภูมิวิถี ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์อยุธยา มหาวิทยาลัยมหิดล และ ผศ.เพชรรุ่ง เทียนปิ๋วโรจน์ อาจารย์ประจำสาขาประวัติศาสตร์ มรภ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งล้วนเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์อยุธยามาร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนความรู้และให้ข้อคิดที่น่าสนใจ การเสวนาในครั้งนี้เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า นักวิชาการของกระทรวง อว. มีคลังข้อมูลความรู้มากมาย ที่เกิดจากการค้นคว้าวิจัย และสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในมิติต่าง ๆ ได้ โดยเฉพาะการต่อยอดในเชิงเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของรัฐบาล
รศ.ดร.พาสิทธิ์ กล่าวว่า ในแผนงาน ปี พ.ศ.2566 สถาบันช่างศิลป์ท้องถิ่นมีโครงการ "พัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์จากประวัติศาสตร์อยุธยา" ซึ่งมีสาระสำคัญของงานวิจัยตรงกับกระแสความนิยมของ “ละครพรหมลิขิต" ในขณะนี้ ที่ทำให้ผู้ชมละครต้องย้อนดูประวัติศาสตร์ เพราะนอกจากเนื้อเรื่องจะอิงเหตุการณ์ในสมัยอยุธยาตอนปลายแล้ว ตัวละครก็มีตัวตนอยู่จริง ทำให้ผู้ชมเกิดความสนุกสนานและได้ความรู้ไปพร้อมกัน อีกทั้งละครพรหมลิขิตยังปลุกกระแส Soft Power ได้เป็นอย่างดี เพราะทำให้คนดูอยากเดินทางตามรอยในละคร ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ถ่ายทำในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา การแต่งกายด้วยชุดไทยโบราณ รวมถึงอาหารไทยที่อยู่ในละคร และภายใต้กระแสความนิยมนี้ กระทรวง อว. จึงสนับสนุนให้สถาบันช่างศิลป์ท้องถิ่นจัดเสวนาวิซาการในประเด็นดังกล่าว เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ และขยายผลเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติไทยที่ได้จากการถอดองค์ความรู้ของสถาบัน มาสร้างความตระหนักถึงคุณค่าของมรดกทางวัฒนธรรมที่บรรพบุรุษสั่งสมไว้ อันจะสร้างความภาคภูมิใจและกระตุ้นความรู้สึกนิยมในชาติ เกิดเป็น Soft Power ด้วยการสร้างความเข้มแข็งในเชิงวัฒนธรรม จนนำไปสู่การสร้างรายได้เชิงเศรษฐกิจ และผมขอเน้นย้ำว่า Soft Power ไทย มีดีไม่แพ้ชาติใด แต่การสร้างความเข้าใจก็เป็นเรื่องสำคัญ
ด้านคุณหน่อง อรุโณชา ผู้จัดละครชื่อดัง ได้พูดถึงเรื่องที่ต้องการให้กระทรวง อว. ช่วยสนับสนุนในส่วนหนึ่งของการเสวนาในวันนี้ โดยมี 2 ประเด็นคือ การพัฒนากำลังคนด้านการผลิตสื่อมีเดียใหม่ ซึ่งที่ผ่านมาสถาบันอุดมศึกษาต่าง ๆ ก็ทำได้ดีอยู่แล้ว แต่อย่าให้ส่งเสริมให้ดียิ่งขึ้นไป ด้วยการ up skill / reskill ให้บัณฑิตที่จบมาแล้วในด้านนี้หรือที่สนใจในด้านนี้ได้เพิ่มเติมความรู้ยกระดับทักษะใหม่ ๆ และอีกเรื่องคือ สนับสนุนข้อมูลทางด้านประวัติศาสตร์ที่ผ่านการศึกษาวิจัยอย่างที่วิทยากรอีก 2 ท่านได้ถ่ายทอดในวันนี้ ซึ่งเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง ลึกซึ้งขึ้น เพื่อให้คนทำหนัง ละคร ทำออกมาได้อย่างสมบูรณ์และดีที่สุด
ดร.สิริกร ผอ.สถาบันช่างศิลป์ ได้กล่าวถึงงานในวันนี้ว่า นอกจากจะได้รับเกียรติจากวิทยากร 3 ท่าน มาให้ความรู้ สาระน่าสนใจเข้ากับกระแสอยุธยา “พรหมลิขิต” แล้ว ยังมีนิทรรศการเล็ก ๆ นำเสนอความอัศจรรย์ของฝีมือช่างศิลป์ถิ่นอยุธยา ไม่ว่าจะเป็นงานเครื่องปั้นดินเผารูปทรงต่าง ๆ แห่งคลองสระบัว ซึ่งเป็นแหล่งภูมิปัญญาดั้งเดิมของงานปั้นดินเผาตั้งแต่ยุคที่กรุงศรีอยุธยายังเป็นราชธานี งานเครื่องมุกอยุธยา ของคุณลุงสุพจน์ จันทร์ประสาท ช่างทำเครื่องมุกอยุธยาแบบโบราณ ที่มีความแข็งแรงทนทาน สามารถอยู่ได้เป็นร้อยปี และนักวิจัยได้ นำผ้า ”ภูษา ผ้าลายอย่าง” คือผ้าพิมพ์ที่ใช้ในราชสำนักสยามที่มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ที่เขียนแบบด้วยช่างเขียนของไทย และเป็นผ้าที่ใช้ในละครทั้งเรื่องบุพเพสันนิวาสและพรหมลิขิต มาร่วมนำเสนอในงานอีกด้วย
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.