“ศุภมาส” ชูผลงาน อว.พี่เลี้ยงของ วชช.ระนอง ช่วยแก้ปัญหา “อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้” ให้ชุมชนมุสลิมในพื้นที่ด้วย Read Aloud พร้อมสร้างสื่อนวัตกรรมส่งเสริมการอ่าน เขียน เรียนรู้อย่างมีความหมาย ชี้ครู 57 คนได้พัฒนาเทคนิคการสอน นักเรียน 475 คน จาก 10 โรงเรียน มีผลประเมินเขียนอ่านผ่านเกณฑ์
เมื่อวันที่ 21 ม.ค. น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมด้วย พญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. ศ.ดร. ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัด อว. และคณะผู้บริหาร อว. ลงพื้นที่ จ.ระนอง ณ ศูนย์อบรมจริยธรรมมุฟตาฮุนญัณนะห์ มัสยิดมิฟตาฮุนญันนะห์ และเครือข่ายปัทมคีรีอำเภอสุขสำราญ เพื่อติดตามการดำเนินโครงการ “แก้ปัญหาการอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้” ด้วย Read Aloud และสร้างสื่อนวัตกรรมส่งเสริมการอ่าน เขียน เรียนรู้ อย่างมีความหมาย ซึ่งเป็นโครงการที่วิทยาลัยชุมชนระนอง (เครือข่ายพัฒนาอุดมศึกษาภาคใต้ตอนบน) ได้รับรางวัลผลงานดีเด่นระดับประเทศ สถาบันอุดมศึกษาโครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและการพัฒนาท้องถิ่น มี อว.เป็นพี่เลี้ยง ประจำปี 2567 ภายใต้งาน “Future Thailand” โดยมี ว่าที่ร้อยตรีกฤษฎา ฉิมพลีวัฒน์ ผู้อำนวยการ วชช.ระนอง นายคงกฤษ ฉัตรมาลีรัตน์ สส.จ.ระนอง คณาจารย์ และนักศึกษามุสลิมให้การต้อนรับ พร้อมสาธิตกระบวนการเรียนการสอนและคัดกรองเด็ก นิทรรศการนำเสนอผลงานอาหารพื้นเมือง “ก๊กซิมบี้” งานหัตถศิลป์ดิ้นโบราณ และโชว์ลิเกฮูลูโดยนักเรียนโรงเรียนบ้านภูเขาทอง
น.ส.ศุภมาส กล่าวว่า การรู้หนังสือเป็นคุณสมบัติพื้นฐานที่จำเป็นต่อการเรียนรู้และการสื่อสารในสังคมปัจจุบัน โครงการ “แก้ปัญหาการอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้” ด้วย Read Aloud และสร้างสื่อนวัตกรรมส่งเสริมการอ่าน เขียน เรียนรู้ อย่างมีความหมาย จึงเป็นโครงการที่ อว. โดยวิทยาลัยชุมชนระนอง (วชช.ระนอง) จัดทำขึ้นเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาและพัฒนาท้องถิ่นโดยมีสถาบันอุดมศึกษาเป็นพี่เลี้ยง เพื่อลดปัญหาการอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ของเด็กไทย ควบคู่กับการพัฒนาครูในพื้นที่ให้มีพัฒนากระบวนการจัดการเรียนการสอน และส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมและทักษะชีวิตผ่านกลไกการพัฒนาครูลงสู่ผู้เรียน เพราะการอ่านออกเขียนได้ ถือเป็นหัวใจสำคัญต่อการพัฒนาตนเองและการเรียนรู้ในระดับที่สูงขึ้น สอดคล้องกับภารกิจของ อว.ที่มุ่งเน้นในการสร้างคนเพื่อเป็นฐานการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ซึ่งมีแนวทางสนับสนุนและเสริมสร้างศักยภาพกำลังคนให้มีสมรรถนะสูง ตรงตามความต้องการของประเทศ รวมถึงส่งเสริมการให้บริการทางการศึกษาในรูปแบบการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning ) ให้แก่ประชาชนอย่างทั่วถึง
ด้าน ว่าที่ร้อยตรีกฤษฎา กล่าวว่า โครงการมุ่งเน้นการพัฒนาทักษะการเรียนรู้แก้ปัญหาการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ของผู้เรียนรายบุคคล โดยค้นหาคัดกรองนักเรียนในระดับชั้นประถมศึกษาชั้นปีที่ 1 และชั้นปีที่ 2 และแก้ปัญหาด้วยชุดฝึกเสริมทักษะภาษาไทยของสภากาชาด 5 ระดับ, สื่อมือ, เทคนิคการอ่านนิทานภาพออกเสียงแบบไม่สอน ไม่แทรก ไม่อธิบาย ปล่อยให้สมองเด็กทำงานไปกับหนังสือตรงหน้า Read Aloud ปัจจุบันมีจำนวนครู 57 คน และนักเรียน 475 คน จากโรงเรียน 10 แห่งที่ได้รับการพัฒนา เช่น ครู ได้รับการพัฒนาเทคนิคการสอน วิธีการและการผลิตสื่อนวัตกรรม มีผลการประเมินความพึงพอใจร้อยละ 96.4 และนักเรียนสามารถอ่านเขียนผ่านหลักเกณฑ์การประเมินการอ่าน คิดวิเคราะห์ และเขียนได้เป็นไปตามเกณฑ์ที่บ่งชี้อยู่ในระดับดี คิดเป็นค่าเฉลี่ยร้อยละ 2.32-2.55
จากนั้น น.ส.ศุภมาส และคณะ ได้เดินทางไปร้านกาแฟสดบ้านไร่ในชุมชนบ้านไร่ใน อ.สุขสำราญ จ.ระนอง รับฟังบรรยายการอนุรักษฟื้นฟูพลับพลึงธารราชินีแห่งสายน้ำ โดย วชช.ระนอง เพื่อส่งเสริมเป็นแหล่งท่องเที่ยวและสร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่ หนึ่งในโครงการพัฒนาศักยภาพการท่องเที่ยวโดยชุมชน จ.ระนอง
ข่าว : นางสาวศิริลักษณ์ สิกขะบูรณะ
ถ่ายภาพ : นายสกล นุ่นงาม
ถ่ายวีดิโอ : นายกรภัทร์ จิตต์จำนงค์
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
E-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : @MHESIThailandth
Instagram : mhesi_thailand
Tiktok : mhesi_thailand
Twitter : @MHESIThailand
Call Center โทร.1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.