สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เสริมแกร่งชุมชน เพิ่มมูลค่าพืชอัตลักษณ์ในพื้นที่อุทยานธรณีเพชรบูรณ์ : Phetchabun Geo Park วิจัยพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ตอบโจทย์ผู้บริโภค ผ่านการดำเนินงานโดยโครงการ Thai Cosmetopoeia มุ่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย คืนกำไรสู่สังคมอย่างยั่งยืน
นายสายันต์ ตันพานิช รองผู้ว่าการกลุ่มวิจัยและพัฒนาด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ วว. กล่าวว่า วว. นำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ไปเพิ่มมูลค่าพืชอัตลักษณ์ (มะขามหวาน) ในพื้นที่ของอุทยานธรณีเพชรบูรณ์ (Phetchabun Geo Park) เสริมความแข็งแกร่งให้กับชุมชน มุ่งวิจัยพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เวชสำอาง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ตอบโจทย์ผู้บริโภค เพื่อร่วมส่งเสริมสนับสนุนและผลักดันให้ได้รับการรับรองจากองค์การยูเนสโกให้เป็นอุทยานธรณีโลกในอนาคตอันใกล้ เนื่องจากจังหวัดเพชรบูรณ์ มีความหลากหลายทางธรณีวิทยามากว่า 350 ล้านปี โดย วว.ดำเนินงานผ่านโครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสังคมไทยด้วยการสร้างสรรค์คุณค่าเครื่องสำอางตามเอกลักษณ์ท้องถิ่น หรือโครงการ Thai Cosmetopoeia ซึ่งเป็นโครงการตามยุทธศาสตร์การดำเนินงานของ วว. ในการวิจัยและพัฒนาด้านเครื่องสำอาง ปี 2020 เพื่อผลักดันให้ผลิตภัณฑ์อัตลักษณ์ถูกนำเสนอในระดับชาติและนานาชาติ สู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยด้านอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง เชื่อมโยงสู่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและก่อให้เกิดการอนุรักษ์ทรัพยากรรวมถึงภูมิปัญญาท้องถิ่น อันจะนำไปสู่การคืนกำไรสู่สังคมอย่างยั่งยืน
“...แนวทางการดำเนินงานของโครงการ Thai Cosmetopoeia ดังกล่าว มีความสอดคล้องและมุ่งหวังที่จะช่วยส่งเสริมสนับสนุนให้อุทยานธรณีเพชรบูรณ์ได้รับการรับรองเป็นอุทยานธรณีโลก ในด้านการเพิ่มมูลค่าและอนุรักษ์แหล่งธรณีวิทยา มีการถ่ายทอดความรู้แก่ชุมชนและประชาชนทั่วไป และส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาด้านการท่องเที่ยว ภายใต้การบริหารจัดการและการอนุรักษ์อย่างบูรณาการจากทุกภาคส่วน และการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่นให้บรรลุผลสำเร็จ ทั้งนี้ วว. จะมีการลงนามความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรในพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์และเปิดตัวผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากสารสกัดเมล็ดมะขาม ซึ่งเป็นพืชอัตลักษณ์ที่มีความโดดเด่นและมีมูลค่าทางเศรษฐกิจในเร็วๆนี้ เพื่อให้การบูรณาการดำเนินงานสำเร็จเป็นรูปธรรม ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศ...” นายสายันต์ กล่าว
อนึ่ง วว. โดย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร วว. ประสบผลสำเร็จในการนำ วทน. สร้างมูลค่าเพิ่มของเหลือทิ้งจาก “มะขาม” พัฒนาเป็นสารสกัดจากเปลือก เมล็ดมะขาม และแป้งมะขาม สำหรับเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ดังนี้ 1. ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงาม ในรูปของนาโนอิมัลชั่น (nanoemulsion) ที่มีขนาดเล็กในระดับอนุภาคนาโน สามารถซึมผ่านผิวหนังชั้นบน เพื่อไปออกฤทธิ์ยังเซลล์เป้าหมายในชั้นใต้ผิวหนังได้ โดย วว. วิจัยพัฒนาเป็น ผลิตภัณฑ์นาโนเซรั่ม (Tamarina Nano Serum) เพื่อความกระจ่างใส บำรุงผิวหน้า และผลิตภัณฑ์นาโนเจลครีม (Tamarina Nano Gel Cream) สำหรับการดูแลผิวหน้าภายหลังการทำเลเซอร์ ทั้งนี้ วว. ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตทั้ง 2 ผลิตภัณฑ์ ให้แก่ บริษัทรีเสิร์ช เอ็กซ์ จำกัด และมีการจำหน่ายในท้องตลาดเรียบร้อยแล้ว
อีกทั้ง วว. ยังนำสารสกัดจากเปลือกเมล็ดมะขามที่มีสารออกฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มเกลือแร่ผสมสารสกัดเมล็ดมะขาม สามารถดื่มก่อนหรือหลังการออกกำลังกาย เพื่อชดเชยการเสียนํ้าและเกลือแร่ รวมทั้งป้องกันการเกิดภาวะ oxidative stress ที่เกิดจากอนุมูลอิสระซึ่งมากเกินไปจากการออกกำลังกายอย่างหนักและยาวนาน ผลิตภัณฑ์นี้ผ่านการประเมินความพึงพอใจของผู้บริโภคในกลุ่มผู้ที่ออกกำลังกายเป็นประจำอยู่ในระดับมากกว่าร้อยละ 70 ที่ชื่นชอบผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มชนิดนี้ นอกจากนี้ วว. ยังวิจัยสารสำคัญจากเมล็ดมะขาม พัฒนาเป็นแป้งเมล็ดมะขาม เพื่อเป็นแผ่นฟิล์มโดรเจล ใช้ปิดแผลและลดการอักเสบของแผลในช่องปากพัฒนาเป็นแผ่นปิดแผลนาโน (Nanofiber-mats) ชนิด non-woven โดยใช้เทคโนโลยีอิเล็คโตรส ปินนิ่ง (Electrospinning) ที่บรรจุสารสำคัญออกฤทธิ์จากพืชสมุนไพรเพื่อปิดแผลที่ผิวหนัง ลดการอักเสบและลดการติดเชื้อของแผลที่ผิวหนัง นับเป็นการเพิ่มมูลค่าของพืชอัตลักษณ์ที่โดดเด่นของจังหวัดเพชรบูรณ์อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ วว. ได้จดลิขสิทธิ์งานวิจัยและพัฒนาเรียบร้อยแล้ว และพร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตให้แก่ผู้ประกอบการเพื่อการจำหน่ายในตลาดทั้งภายในและต่างประเทศ สอบถามรายละเอียด ได้ที่ ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร วว. โทร. 0 2577 9000 Call center 0 2577 9300 อีเมล tistr@tistr.or.th
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.