“สุวิทย์ เมษินทรีย์” รมว.การอุดมศึกษาฯ ลงพื้นที่มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม จ.นครปฐม ร่วมแก้ปัญหาความยากจนของประชาชนในท้องถิ่น นำร่องชุมชนบ้านหนองแขม หมู่ 6 ต.บ่อสุพรรณ อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี ประชาชนมีรายได้แค่ 3.8 หมื่นบาทต่อปี เพราะไม่มีที่ดินทำกิน อาชีพไม่แน่นอน ส่งนักศึกษาลงไปช่วยชาวบ้านมีรายได้เพิ่มกว่าร้อยละ 52.90 แถมรายจ่ายครัวเรือนลดลง เตรียมขยายไปช่วยอีก 2 ชุมชน คือ บ้านต้นมะกอกและ พุอ้ายดาว ต.บ่อสุพรรณ อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี
เมื่อวันที่ 12 มี.ค.ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม จ.นครปฐม ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) ลงพื้นที่ประชุม “บทบาทของมหาวิทยาลัยกับการพัฒนาเชิงพื้นที่ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม” และนโยบายที่เกี่ยวข้อง อาทิ แผนงานยุวชนสร้างชาติ โมเดลพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ BCG Model การสร้างและพัฒนานิสิตนักศึกษาให้เป็นผู้ประกอบการ เป็นต้น ใช้เวลาประมาณ 2.30 ชั่วโมง
จากนั้น ดร.สุวิทย์ ให้สัมภาษณ์หลังประชุมว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม ได้ดำเนินงานโครงการบูรณาการพันธกิจสัมพันธ์เพื่อแก้ปัญหาความยากจนของประชาชนในท้องถิ่น ในปีงบประมาณ 2562 ตามยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น โดยนำร่องในพื้นที่บ้านหนองแขม หมู่ 6 ต.บ่อสุพรรณ อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี จำนวน 55 ครัวเรือน เป็นหมู่บ้านเป้าหมายหลัก เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่ครัวเรือนมีรายได้น้อย สาเหตุหลักคือ ไม่มีอาชีพที่แน่นอน ไม่มีที่ดินทำกิน อาศัยรับจ้างรายวันตามฤดูกาล สมาชิกครัวเรือนส่วนใหญ่เป็นสตรีผู้สูงอายุ ในรอบปีมีรายได้จากการรับจ้างตามฤดูกาล เพียง 4 เดือน และว่างเว้นไม่มีรายได้ 8 เดือน มีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์ จปฐ.ประมาณ 38,500 บาท ต่อคนต่อปี นอกจากนี้แล้วพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นดินเค็ม จึงเป็นข้อจำกัดในการใช้พื้นที่เพื่อการปลูกพืช มหาวิทยาลัยฯ จึงเลือกหมู่บ้านนี้ดำเนินการ จากข้อมูลการทำบัญชีครัวเรือน พบว่ารายจ่ายของครัวเรือนต่อเดือนที่มากที่สุดเป็นอันดับ 1 คือ รายจ่ายค่าอาหาร เท่ากับร้อยละ 36
รมว.อว.กล่าวต่อว่า จากข้อมูลดังกล่าว มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม จึงได้ออกไปช่วยชุมชนด้วยกิจกรรมลดรายจ่าย เสริมรายได้ สร้างเสริมสุขภาพ และสร้างเสริมสิ่งแวดล้อมความปลอดภัยในครัวเรือน โดยทำงานร่วมกับภาคีหน่วยงานในพื้นที่ และบูรณาการกับการจัดการเรียนการสอนในรายวิชาต่างๆ ของทุกคณะวิชา ตามยุทธศาสตร์การผลิตบัณฑิตนักปฏิบัติ มุ่งเน้นให้นักศึกษานำโจทย์ปัญหาของพื้นที่ มาออกแบบกิจกรรมการแก้ปัญหา โดยใช้องค์ความรู้และกระบวนการมีอาจารย์ที่ปรึกษาคอยให้คำแนะนำ ซึ่งกิจกรรมที่ดำเนินการ ได้แก่ 1.นักศึกษาสาขาอุตสาหกรรมศิลป์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ส่งเสริมการเพาะเห็ดนางฟ้าในซุ้มขนาดเล็ก ที่ใช้พื้นที่น้อย ออกแบบซุ้มที่ทำได้ง่าย สามารถเคลื่อนย้ายโดยการถอดประกอบได้ 2.นักศึกษาสาขาเทคโนโลยีการผลิตพืช คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การแก้ปัญหาดินเค็มในพื้นที่ขนาดเล็ก เพื่อใช้ปลูกพืชผักปลอดภัยเป็นแหล่งอาหารในครัวเรือน หากมีเหลือจึงจำหน่าย และส่งเสริมการเพาะถั่วงอก การเพาะผักต้นอ่อนสำหรับผู้สูงอายุ 3. นักศึกษาสาขาพยาบาลศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ การส่งเสริมการดูแลสุขภาพให้กับผู้สูงอายุ การพัฒนานวัตกรรมการดูแลผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ป่วยติดเตียง จนทำให้พัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นจากเดิม 4. นักศึกษาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การปรับปรุงระบบไฟฟ้าในบ้านเรือน เพื่อสร้างความปลอดภัย ลดค่าไฟฟ้าในแต่ละเดือน และ 5. นักศึกษาสาขาบัญชี คณะวิทยาการจัดการ นำเสนอเรื่องการจัดทำบัญชีครัวเรือน เพื่อสะท้อนปัญหาความยากจนของประชาชนในท้องถิ่นและให้เห็นรายรับจากกิจกรรมที่ลงไปดำเนินการ
ดร.สุวิทย์ กล่าวอีกว่า ผลการดำเนินงาน พบว่า ร้อยละ 71.11 ของครัวเรือนที่เข้าร่วมโครงการ มีรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 52.90 สำหรับผลลัพธ์จากกิจกรรมที่ส่งผลต่อการลดรายจ่าย พบว่า จำนวน 28 ครัวเรือน มีรายจ่ายลดลงเฉลี่ยร้อยละ 16.17 และมีรายจ่ายลดลงมากกว่าร้อยละ 50 จำนวน 4 ครัวเรือน สำหรับกิจกรรมที่ส่งเสริมให้ครัวเรือนดำเนินการ โดยเฉลี่ยมีรายได้สุทธิเฉลี่ยต่อเดือน 2,900 บาท และมีมูลค่าที่นำมาบริโภคเป็นอาหาร ลดค่าใช้จ่ายด้านอาหาร โดยเฉลี่ย 1,890 บาท ต่อเดือนต่อครัวเรือน สิ่งที่สำคัญเป็นการปลูกฝังนักศึกษา ในการเป็นพลังปัญญาให้กับชุมชนท้องถิ่น เสริมสร้างทักษะกระบวนการทำงานให้กับนักศึกษาในการนำเอาโจทย์ปัญหาในชุมชนท้องถิ่น มาเป็นโจทย์ในการเรียนรู้เพื่อนำสู่การแก้ปัญหาแก่ชุมชนท้องถิ่น
ต่อมา ดร.สุวิทย์ เยี่ยมชมการจัดแสดงผลงานของหน่วยบ่อเพาะวิสาหกิจของสถาบันอุดมศึกษาพร้อมประกาศเจตนารมณ์การสร้างคนผ่านโครงการ “ยุวชนสร้างชาติ” และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับนักศึกษา ก่อนเดินทางลงพื้นที่ชุมชนบ้านต้นมะกอกและชุมชนพุอ้ายดาว ต.บ่อสุพรรณ อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่คณาจารย์และนักศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม ดำเนินโครงการแก้ปัญหาความยากจน.
เผนแพร่โดย : นายปวีณ ควรแย้ม
ภาพ : นายสกล นุ่นงาม
วีดีโอ : นายกรภัทร์ จิตต์จำนงค์
ส่วนสื่อสารองค์กร กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทร. 02 333 3727 - 3732 โทรสาร 02 333 3834
E-Mail: pr@mhesi.go.th Facebook: MHESIThailand
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.