กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ส่งมอบพันธุ์ไม้เบญจมาศสายพันธุ์ใหม่ผ่านระบบ Video Conference ให้แก่โครงการร้อยใจรักษ์ ซึ่งดำเนินการโดยมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ร่วมส่งเสริมใช้เทคโนโลยีเกษตรด้านไม้ดอกไม้ประดับและเกษตรปลอดภัย ขยายต้นพันธุ์และพัฒนาพันธุ์เบญจมาศ สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้ราษฎรในพื้นที่สูงภาคเหนือ คาดต่อยอดเป็นแหล่งท่องเที่ยวในอนาคต สนับสนุนเศรษฐกิจชุมชนอย่างยั่งยืน
ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. ชี้แจงว่า การส่งมอบพันธุ์ไม้เบญจมาศในครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการเกษตรปลอดภัย 1 แสนไร่ ของ วว. ในส่วนของคลัสเตอร์ไม้ดอกไม้ประดับ โดย วว. จะทำการส่งเสริมในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สำหรับพื้นที่ภาคเหนือ ได้ลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยได้รับความร่วมมือจากโครงการร้อยใจรักษ์ ซึ่งเป็นโครงการที่ดำเนินการโดยมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชรมหาวัชรราชธิดา ทรงมีพระประสงค์แก้ไขปัญหายาเสพติดและสิ่งผิดกฎหมายอื่นๆ ตามแนวชายแดน และนำประสบการณ์จากโครงการพัฒนาดอยตุงฯ มาประยุกต์ใช้ในบริบทสังคมเมือง
“สำหรับการมอบนี้เป็นการมอบต้นกล้าชุดแรกจำนวน 1,500 ต้น ให้แก่ นายณรงค์ อภิชัย ผู้อำนวยการโครงการ ร้อยใจรักษ์ โดยทำส่งมอบผ่านระบบ Video Conference อันเนื่องมาจากสถานการณ์การระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในขณะนี้ จึงจำเป็นต้องใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) เพื่อให้การดำเนินงานของโครงการยังดำเนินต่อเนื่องไปได้ ซึ่งหลังจากนี้ วว. จะได้นำส่งมอบกล้าพันธุ์เบญจมาศแบบเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ การถ่ายทอดเทคโนโลยีการปลูกและขยายพันธุ์เบญจมาศให้แก่ผู้เกี่ยวข้อง วว. หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเทคโนโลยีด้านการเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านไม้ดอกไม้ประดับ จะช่วยสนับสนุนให้เกิดอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่ราษฎรในพื้นที่สูงภาคเหนือ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในอนาคต และ วว. ยินดีที่จะสนับสนุนผลงานวิจัยด้านไม้ดอกไม้ประดับอื่นๆ ร่วมกับการดำเนินของโครงการร้อยใจรักษ์ต่อไป..” ผู้ว่าการ วว.กล่าวเพิ่มเติม
นายณรงค์ อภิชัย ผู้อำนวยการโครงการร้อยใจรักษ์ กล่าวว่า โครงการฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาแก้ไขปัญหาการค้ายาเสพติดอย่างรุนแรงในพื้นที่ ซึ่งมีพื้นที่รับผิดชอบประมาณ 37,119 ไร่ ครอบคลุม 4 หมู่บ้านหลักและอีก 20 หมู่บ้านย่อยใน ต.ท่าตอน อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ มีจำนวนประชากร 6,264 คน (อยู่ในพื้นที่ 4,552 คน) จำนวน 1,108 ครัวเรือน ประกอบอาชีพการเกษตรจำนวน 832 ครัวเรือน ปัญหาของการทำการเกษตรในพื้นที่ คือแหล่งน้ำไม่เพียงพอในฤดูแล้ง ดินเสื่อมโทรม ผลผลิตตกต่ำและด้อยคุณภาพ ทั้งนี้โครงการฯ มีความสนใจที่จะนำเบญจมาศสายพันธ์ใหม่ของ วว. มาทำการปลูกทดสอบเพื่อให้เกษตรกรในพื้นที่ได้ศึกษาและพิจารณาเป็นพืชทางเลือกเพื่อสร้างรายได้และอาชีพที่ยั่งยืนให้เป็นไปตามพระราชประสงค์ในการแก้ปัญหาค้ายาเสพติดอย่างรุนแรงในพื้นที่
“ วว. ได้มอบเบญจมาศสายพันธุ์ดี ต้นกล้าที่แข็งแรง ทางโครงการฯ มีหน้าที่ในการดูแลรักษาต่อไป การทำงานร่วมกันเป็นอย่างดีระหว่าง วว. และ โครงการร้อยใจรักษ์ ในวันนี้ เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี สำหรับในอนาคตทางโครงการฯ มุ่งพัฒนาแหล่งปลูกเบญจมาศนี้ ให้ขึ้นเป็นแหล่งท่องเที่ยวประจำจังหวัด ซึ่งคาดว่าจะช่วยสร้างเศรษฐกิจให้แก่ชุมชนต่อไป...” ผู้อำนวยการโครงการร้อยใจรักษ์ กล่าวในตอนท้าย
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.