ภาพถ่ายดวงจันทร์เปรียบเทียบขนาดกับวัดพระธาตุดอยสุเทพ
ในวันที่ 8 เมษายน 2563 นี้เป็นช่วงที่ดวงจันทร์เต็มดวงเข้าใกล้โลกมากที่สุดในรอบปี ที่ระยะห่างเพียง 356,897 กม. โดยดวงจันทร์จะมีขนาดใหญ่กว่าปกติเล็กน้อยประมาณ 7.8 % ดังนั้นหากเราได้ถ่ายภาพดวงจันทร์ในคืนกล่าว เราก็จะได้ภาพดวงจันทร์ที่มีขนาดปรากฏใหญ่กว่าปกติ และหากนำเอาภาพดวงจันทร์ในวันที่ 8 เมษายน ไปเปรียบเทียบกับ ภาพดวงจันทร์ในวันที่ 31 ตุลาคม ในปีเดียวกันนี้ เราก็จะได้ภาพดวงจันทร์ที่เห็นขนาดที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน (ต้องถ่ายด้วยอุปกรณ์เดียวกัน)
เกร็ดความรู้เรื่อง “ดวงจันทร์เต็มดวงเข้าใกล้โลกมากที่สุดในรอบปี”
ดวงจันทร์เต็มดวงเข้าใกล้โลกมากที่สุดในรอบปี หรือที่คนทั่วไปมักเรียกกันว่า Super Moon นั้นเป็นเพียงการเรียกชื่อเหตุการณ์ ที่ดวงจันทร์เต็มดวงเข้าใกล้โลกมากที่สุดในรอบปีเท่านั้น ไม่ใช่ปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่นักดาราศาสตร์ติดตามแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม คำว่า Super Moon นั้นก็ไม่ได้รับการยอมรับหรือใช้กัน ในเหล่านักดาราศาสตร์หรือนักวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นเพียงการตั้งชื่อช่วงเหตุการณ์ที่ดวงจันทร์มาอยู่ในตำแหน่งที่ใกล้โลกมากที่สุดในช่วงที่ดวงจันทร์เต็มดวงเท่านั้น แต่คำที่นักดาราศาสตร์ใช้กัน คือคำว่า "Perigee" ซึ่งเป็นจุดที่ดวงจันทร์อยู่ใกล้โลกที่สุดในวงโคจร
ดวงจันทร์โคจรรอบโลกเป็นวงรี ดังนั้น วงโคจรที่เป็นวงรีของดวงจันทร์นี้ จึงทำให้ระยะห่างระหว่างโลกกับดวงจันทร์นั้นไม่คงที่ ทำให้บางครั้งดวงจันทร์ก็จะอยู่ใกล้โลก และบางครั้งก็จะอยู่ไกลโลก นักดาราศาสตร์ เรียกตำแหน่งที่ใกล้โลกที่สุดของดวงจันทร์ว่า "Perigee" และตำแหน่งที่ไกลที่สุดว่า "Apogee" ซึ่งการเข้าใกล้โลกมากที่สุด และไกลโลกมากที่สุดเกิดขึ้นอยู่ทุกๆ 27.3 วัน ตามคาบการโคจรของดวงจันทร์ไปรอบๆ โลก
หมายเหตุ : การเข้าใกล้โลกของดวงจันทร์ ระยะห่างระหว่างโลกกับดวงจันทร์แตกต่างกันไปแต่ละเดือนอยู่ระหว่าง 356,400 และ 406,700 กิโลเมตร เนื่องจากวงโคจรรูปวงรีของดวงจันทร์
หลากหลายการนิยามของการเรียกชื่อ “Super Moon”
ตัวอย่างแรก กำหนดโดยนักโหราศาสตร์ ชื่อ ริชาร์ด นอลล์ โดยให้นิยามว่า “Super Moon” เกิดขึ้นเมื่อดวงจันทร์ไม่ว่าจะเป็นจันทร์ดับหรือจันทร์เพ็ญซึ่งเกิดขึ้นเมื่อดวงจันทร์อยู่ที่หรือเข้าใกล้ (ในขอบเขต 90% ของ) ระยะใกล้โลกที่สุดในวงโคจร (จุดโคจรใกล้สุดจากโลก) หากกล่าวโดยย่อ โลก ดวงจันทร์ และดวงอาทิตย์ทั้งหมดเรียงตัวอยู่ในแนวเดียวกัน โดยดวงจันทร์อยู่ในระยะใกล้โลกที่สุด
ตัวอย่างเช่น
ดวงจันทร์อยู่ไกลที่สุดในรอบปี (2563) ที่ระยะห่าง: 406,381 กม.
ดวงจันทร์อยู่ใกล้ที่สุดในรอบปี (2563) ที่ระยะห่าง: 356,897 กม.
(1) 406,381 - 356,897 = 49,484
(2) ร้อยละ 90 ของผลต่างระยะทาง (49,484) = 44,536
(3) 406,381 - 44,536 = 361,845
ดังนั้น จะได้ระยะห่างที่สามารถเรียกว่า ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลก คือ : น้อยกว่า 361,845 กิโลเมตร *** แต่นั่น หมายถึงทั้งช่วงที่เป็น “จันทร์ดับหรือจันทร์เพ็ญ” เรียกได้หมด
ตัวอย่างที่สอง “Super Moon” เกิดขึ้นเมื่อดวงจันทร์เต็มดวง ที่เกิดขึ้นเมื่อระยะห่างระหว่างโลกกับดวงจันทร์น้อยกว่า 360,000 กิโลเมตร จากใจกลางโลก และจะเรียกช่วงที่ดวงจันทร์เต็มดวง มีระยะห่างระหว่างโลกกับดวงจันทร์มากกว่า 405,000 กิโลเมตร จากใจกลางโลก ว่า “Micro Full moon”
โดยที่ขนาดเชิงมุมของ Super Full Moon มีขนาดใหญ่กว่าดวงจันทร์ช่วง Micro Full moon 12.5% –14.1% และขนาดใหญ่ช่วงดวงจันทร์เต็มดวงปกติเฉลี่ย 5.9% –6.9%
*** แต่นั่น หมายถึงทั้งช่วงที่เป็น “ดวงจันทร์เต็มดวง ที่มีระยะน้อยกว่า 360,000 กิโลเมตร ทั้งหมด” ซึ่งในหนึ่งปี ก็อาจจะเกิดขึ้นได้หลายเดือนก็สามารถเรียกได้หมด
ตัวอย่างที่สาม เป็นนิยามที่เรียกชื่อว่า “Super Full Moon” ที่นักดาราศาสตร์ใช้กันมากที่สุด เมื่อดวงจันทร์เต็มดวง มีระยะระยะห่างระหว่างโลกกับดวงจันทร์น้อยกว่า 360,000 กิโลเมตร จากใจกลางโลก และต้องเป็นช่วงที่ใกล้โลกมาที่สุดในรอบปีเท่านั้น ซึ่งปีนี้ตรงกับคืนวันที่ 8 เมษายน 2563 นั่นเองครับ
สำหรับการถ่ายภาพ “Super Moon” นั้นมีหลากหลายรูปแบบ ดังนี้
1. การถ่ายภาพดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลก เปรียบเทียบกับ ช่วงเต็มดวงไกลโลก ด้วยอุปกรณ์เดียวกัน
ภาพเปรียบเทียบขนาดดวงจันทร์ไกลโลกมากที่สุดในรอบปีกับภาพดวงจันทร์ใกล้โลกมากที่สุดในรอบปี 2562
การถ่ายภาพเปรียบเทียบขนาดดวงจันทร์เต็มดวงนั้น ด้วยอุปกรณ์เดียวกัน ถือเป็นรูปแบบที่นักดาราศาสตร์นิยมถ่ายภาพกันมากที่สุด แต่ต้องรอเวลาหลายเดือนเพื่อให้ได้ภาพช่วง ดวงจันทร์เต็มดวงไกลโลกมากที่สุด (Micro Full Moon) โดยในปีนี้ Micro Full Moon จะเกิดขึ้นตรงกับวันที่ 31 ตุลาคม 2563
2. การถ่ายภาพจันทร์เปรียบเทียบขนาดกับวัตถุบริเวณขอบฟ้า
ภาพถ่าย Moon Illusion โดยการถ่ายดวงจันทร์เปรียบเทียบกับวัดพระธาตุดอยสุเทพ
(ภาพโดย : ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ / Camera : Canon 7D / Lens : Astrotech 5 Inch / Focal length : 1,200 mm. / Aperture : f/8 / ISO : 800 / Exposure : 1/800s)
การถ่ายภาพเปรียบเทียบขนาดวัตถุบริเวณขอบฟ้ากับดวงจันทร์เต็มดวง นั้นถือเป็นอีกรูปแบบของการถ่ายภาพเพื่อแสดงให้เห็นขนาดปรากฏของดวงจันทร์ในช่วงใกล้โลกมากที่สุด ซึ่งภาพประเภทนี้เรามักเรียกกันว่า ภาพถ่าย Moon Illusion ซึ่งการถ่ายภาพ ผู้ถ่ายต้องหาตำแหน่งที่ดวงจันทร์จะขึ้นจากขอบฟ้า ณ มุมทิศอะไร และวัตถุที่ต้องการถ่ายภาพเพื่อเปรียบเทียบขนาดกับดวงจันทร์ ก็ควรต้องมีระยะห่างจากผู้ถ่ายไกลหลายกิโลเมตร
เทคนิคที่ใช้ประมาณขนาดวัตถุบริเวณขอบฟ้ากับดวงจันทร์ สามารถใช้วิธีการวัดขนาดเชิงมุม ด้วยการเหยียดแขนให้สุด ให้นิ้วก้อยเทียบกับขนาดวัตถุที่อยู่ไกลออกไป ว่ามีขนาดใหญ่ไม่เกิน 1 นิ้วก้อย ก็เป็นอันใช้ได้ เนื่องจากขนาดเชิงมุม 1 นิ้วก้อย มีค่าเท่ากับ 1 องศา ส่วนดวงจันทร์เต็มดวงนั้นมีขนาดเชิงมุมเพียง 0.5 องศาเท่านั้น (รายละเอียดสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ตามลิงก์ : https://mgronline.com/science/detail/9590000110921)
3. การถ่ายภาพดวงจันทร์ใกล้โลกกับบุคคล
ภาพถ่ายดวงจันทร์กับกริยาท่าทางต่างๆ ของบุคคลก็เป็นอีกรูปแบบการถ่ายภาพดวงจันทร์ใกล้โลก ซึ่งเราก็จะได้ภาพแนวๆ ไว้อวดเพื่อนๆ กันได้ และเทคนิคนี้ส่วนตัวคิดว่า เป็นรูปแบบการถ่ายภาพที่สนุกมากทีเดียว เพราะตัวแบบ(เพื่อนเรา) ก็คนถ่าย ไม่จำเป็นต้องอยู่กันไกลมากนัก ประมาณ 100 เมตร ก็พอได้แล้ว ที่เหลือก็คือเราต้องคอยตะโกนบอกเพื่อนให้ทำท่าทางต่างๆ เท่านั้น
4. การถ่ายภาพดวงจันทร์เปรียบเทียบกับวัตถุบนท้องฟ้า (เครื่องบิน)
ภาพถ่ายดวงจันทร์เต็มดวง ในช่วงจังหวะที่เครื่องบินกำลังบินผ่านดวงจันทร์พอดี
(Camera : Canon 5D Mark ll / Lens : Takahashi TOA 150 + Extender 1.5X / Focal length : 1650 mm. / Aperture : f/11 / ISO : 1600 / Exposure : 1/320 sec)
สำหรับรูปแบบสุดท้ายที่จะแนะนำการถ่ายภาพดวงจันทร์ Super Full Moon ดวง ในช่วงจังหว่ะที่เครื่องบินกำลังบินผ่านดวงจันทร์พอดี ซึ่งนอกจากจะเป็นเรื่องของความโชคดีแล้ว หากเราลองเช็คตารางบินดูจากแอพพลิเคชั่น Flightradar24 ก็จะทราบเวลาการขึ้น-ลง และเส้นทางการบินได้
แต่อย่างไรก็ตามการถ่ายให้ได้จังหว่ะ ตำแหน่ง ที่เครื่องบินบินผ่านหน้าดวงจันทร์นั้นก็ไม่ใช้เรื่องง่ายเท่าไหร่นัก ถึงแม้ว่าเราจะพอทราบเส้นทางการบินแต่ดวงจันทร์ในแต่ละเดือนก็จะมีการแกว่งไปมาตามแนวเส้นสุริยะวิถีประมาณ 5 องศา จึงต้องอาศัยโชคช่วยในการถ่ายภาพรูปแบบนี้ด้วย
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.