22 พฤษภาคม 2562 : สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จเป็นองค์ประธานเปิดงานประชุมวิชาการด้านความหลากหลายทางชีวภาพ (International Conference on Biodiversity 2019: IBD2019) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 22 – 24 พฤษภาคม 2562 ณ ชั้น 22-23 เซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ จัดโดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) และ สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) หรือ สพภ. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรด้านความหลากหลายทางชีวภาพ อาทิ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง องค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ กรมป่าไม้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และศูนย์ความเป็นเลิศด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ทั้งนี้ เพื่อร่วมกันยกระดับงานวิจัยและอนุรักษ์ รวมทั้งการใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพจากความหลากหลายทางชีวภาพ อันจะมีประโยชน์อย่างสูงในการส่งมอบทรัพยากรที่มีคุณค่าให้กับประเทศ สร้างความมั่นคั่ง และยั่งยืนต่อไป
รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กราบบังคมทูลว่า การจัดงานประชุม IBD2019 ในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการด้านความหลากหลายทางชีวภาพ อาทิ ด้านอนุกรมวิธาน เทคโนโลยีและนวัตกรรมการใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพ การอนุรักษ์และฟื้นฟูถิ่นอาศัยทั้งในและนอกถิ่นกำเนิด เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และส่งเสริมเศรษฐกิจชีวภาพอย่างยั่งยืน ตลอดจนการเผยแพร่ผลงานด้านความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทย จากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน มหาวิทยาลัย และชุมชนท้องถิ่นทั่วประเทศ เพื่อร่วมกันวางแนวทางการพัฒนาทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อเกิดประโยชน์สูงสุดแก่คนไทย
ภายในงานมีกิจกรรมหลัก ประกอบด้วย การสัมมนาวิชาการ ซึ่งเป็นการนำเสนอความก้าวหน้าของการวิจัยและพัฒนา โดยวิทยากรรับเชิญที่มีชื่อเสียงในระดับโลก ทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งสิ้น 116 คน ในหัวข้อหลัก 4 หัวข้อ ได้แก่ สายพันธุ์ในระบบนิเวศ (Species in Natural Ecosystem) การใช้ประโยชน์ (Utilization) ผลกระทบและภัยคุกคาม (Impact and Threat) และ การจัดการด้านความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity Management) นอกจากนี้ ได้เชิญนักพฤกษศาสตร์ 16 ท่าน จากสวนพฤกษศาสตร์ชั้นนำของโลก มาบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับพืชและการรวบรวมพืชในสวนพฤกษศาสตร์ ในฐานะเป็นแหล่งรวมความรู้และรักษาเกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพ
พร้อมการจัดนิทรรศการ “ความหลากหลายทางชีวภาพในประเทศไทยจากภูผาสู่มหานที (Discovers the Treasures and Unique Biodiversity in Thailand (From the Mountain to the Sea)” และกิจกรรมสาธิตเพื่อส่งเสริมอาชีพ และการแสดงผลิตภัณฑ์ของชุมชน
ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กราบบังคมทูลว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดย สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) ร่วมกับหน่วยงาน ภาคเอกชน และชุมชนท้องถิ่น รวม 31 องค์กร 25 ชุมชน ซึ่งล้วนแต่เป็นหน่วยงานที่ปฏิบัติงานสนองพระราชดำริของใต้ฝ่าละอองพระบาทด้านการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชและความหลากหลายทางชีวภาพ ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมนิทรรศการ ภายใต้แนวคิด “เมืองแห่งความอุดมสมบูรณ์ ด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ” หรือ “Bio-Wealth Country” ประกอบด้วยนิทรรศการ 9 ส่วน อาทิ นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ นิทรรศการวิทยาศาสตร์และลานเรียนรู้สำหรับเยาวชน นิทรรศการด้านการใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพของชุมชนท้องถิ่น นิทรรศการความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อการเก็บรักษาในระยะยาว นิทรรศการด้านการท่องเที่ยวเชิงนิเวศและอนุรักษ์ รวมทั้งกิจกรรมสาธิตเพื่อส่งเสริมอาชีพ และการแสดงผลิตภัณฑ์ของชุมชน ทั้งนี้ เพื่อแสดงให้เห็นเป็นประจักษ์ถึงความอุดมสมบรูณ์ของความหลากหลายทางชีวภาพบนผืนแผ่นดินไทย ซึ่งปัจจุบันได้มีการนำมาใช้สร้างประโยชน์ พัฒนาประเทศ และสร้างเสริมความอยู่ดีกินดีของประชาชนอย่างเหมาะสม โดยคำนึงถึงการดูแลรักษา และการคงอยู่ของความหลากหลายทางชีวภาพนั้นๆ ด้วย
พร้อมกันนี้วันที่ 22 พฤษภาคม ของทุกปี องค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้เป็นวันสากลแห่งความหลากหลายทางชีวภาพ ในปีนี้ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพกับอาหารและสุขภาพของมนุษย์ ภายใต้หัวข้อ “ความหลากหลายทางชีวภาพ สร้างอาหาร เสริมสุขภาพ (Our Biodiversity, Our Food, Our Health)” เพื่อยกระดับความรู้ และความตระหนักในเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศ ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของอาหารและโภชนาการที่หลากหลาย จึงได้มีการจัดแสดงนิทรรศการในโอกาสเดียวกันนี้ด้วย
ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กราบบังคมทูลเบิกวิทยากร ได้แก่ ดร.ราเชล วามิงตัน ผู้จัดการทีมวิทยาศาสตร์ โครงการ Eden Project สหราชอาณาจักร ผู้เชี่ยวชาญในการตรวจจับและควบคุมโรคพืชโดยทำงานเกี่ยวกับเชื้อโรคที่มีผลกระทบต่อพืชมากกว่า 400 สายพันธุ์ที่มาบรรยายเรื่อง “สวนพฤกษศาสตร์ผาแดง: ต้นแบบของสวนพฤกษศาสตร์เขตร้อนที่เกิดจากการฟื้นฟู”และ นายอาลี โยฮันน์ ไฮเออร์ บริษัท อาร์ดับเบิ้ลยูอี เทคโนโลยี อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศเยอรมัน ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมเหมืองแร่ขนาดใหญ่ในการทำเหมืองแร่แบบเหมืองหาบ บรรยายเรื่อง “มุมมองทางวิชาการของการฟื้นฟูเหมืองแร่ในแอ่งลิกไนต์จากแม่น้ำไรน์ และวิธีการที่เป็นไปได้ของความหลากหลายทางชีวภาพ เศรษฐกิจฐานชีวภาพ และการใช้ประโยชน์ร่วมกันของประชาชน”
จากนั้น ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ขอพระราชทานพระบรม ราชานุญาต เบิก 2 ผู้แทนเยาวชนดีเด่นด้านการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อกล่าวคำปฏิญญาเยาวชนด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ โดยมีใจความสรุปว่า ในฐานะเยาวชนไทยมีความตั้งใจที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยดูแลสิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพ รวมทั้งปลูกจิตสำนึกให้ทุกคนเกิดความรัก หวงแหน และจะช่วยกันรักษาระบบนิเวศและธรรมชาติ
จากนั้นสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงตัดแถบแพรเปิดนิทรรศการ เรื่อง “ความหลากหลายทางชีวภาพในประเทศไทยจากภูผาสู่มหานที (Discovers the Treasures and Unique Biodiversity in Thailand (From the Mountain to the Sea)” และทอดพระเนตรนิทรรศการจากหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ Smart Patrol เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อความมั่นคงของทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า ซึ่งเป็นระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพ ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถดูแลทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้สัตว์ป่าและพืชมีค่าใกล้สูญพันธุ์รอดพ้นจากการคุกคาม การขยายพันธุ์ปะการังอ่อนจากฟาร์มต้นแบบ เพื่อใช้ประโยชน์ในการฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเลและการสร้างแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลเชิงนิเวศ การฟื้นฟูป่าชายเลนโดยใช้นวัตกรรมไม้โกงกางเทียม ด้วยนวัตกรรม "ซีออส" (C-Aoss/CapsultArtoOcean Sediment System) เป็นนวัตกรรมทางเลือกใหม่ในการช่วยเร่งการตกตะกอนของหาดเลน ทำจากวัสดุเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ออกแบบให้มีรากคล้ายโกงกาง ไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ติดตั้งง่ายและชุมชนสามารถดำเนินการเองได้ การอนุรักษ์เต่ามะเฟือง พบได้ในประเทศไทยและเป็นเต่าทะเลที่ใหญ่ที่สุดในโลก และไม่พบการขึ้นมาวางไข่บนชายหาดของไทยนานถึง 5 ปี จนล่าสุดเมื่อปี 2561 ได้พบไข่ของแม่เต่ามะเฟืองที่หาดคึกคัก และหาดท่าไทร จังหวัดพังงา ทำให้มีลูกเต่ามะเฟืองที่สามารถคลานลงสู่ทะเลได้ทั้งสิ้น 127 ตัว อันส่งผลความสำเร็จเป็นอย่างสูงในการอนุรักษ์ฟื้นฟูเต่าทะเลที่เป็นสัตว์ทะเลหายาก เป็นต้น การนำเสนอเห็ดเศรษฐกิจของประเทศไทย เพาะเลี้ยงง่าย สร้างรายได้ในครัวเรือน แสดงผลิตภัณฑ์จากเห็ด เช่น น้ำเห็ด เยลลี่เห็ด เฉาก๊วยเห็ด เห็ดเป็นยา เป็นอาหาร และสถานการณ์การผลิตเห็ดของประเทศไทย เป็นต้น
ผู้สนใจสามารถเข้าร่วมงานเพื่อชมนิทรรศการที่จะเปิดให้เข้าชมได้ตั้งแต่วันนี้ - 24 พฤษภาคม 2562 เวลา 09.00 - 17.00 น. ณ ชั้น 22 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ผู้สนใจสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ www.ibd2019.org หรือสอบถามโทร. 0 2564 8000
เผยแพร่ข่าวโดย : นางสาวรุ่งทิพย์ คำพิทุม
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.