อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ : Northern Science Park เดินเครื่องโรงงานต้นแบบนวัตกรรมอาหารครบวงจร (Innovation Food Fabrication Pilot Plant) โชว์ศักยภาพผลิตอาหารและเครื่องดื่มนวัตกรรม ช่วยเหลือแพทย์ พยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ เพื่อสู้ภัยไวรัสโควิด – 19
เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2563 ผศ.ดร.ธัญญานุภาพ อานันทนะ ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มอบผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มผลผลิตจากโรงงานต้นแบบนวัตกรรมอาหารครบวงจร (Innovation Food Fabrication Pilot Plant) ได้แก่ เครื่องดื่มเกลือแร่รสลิ้นจี่ (Electrolyte Beverage) และผลิตภัณฑ์มะเขือเทศราชินีอบแห้งแก่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ เพื่อแสดงความขอบคุณและร่วมเป็นกำลังใจให้กับบุคลากรทางการแพทย์ผู้อุทิศตนในการปฏิบัติภารกิจดูแลผู้ป่วยและรับมือกับสถานการณ์โรคโควิด – 19 ที่กำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน โดยมี รศ.นพ.ชัยวัฒน์ บำรุงกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ เป็นผู้รับมอบ ณ อาคารบุญสม มาร์ติน โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่
ผศ.ดร.ธัญญานุภาพ อานันทนะ กล่าวในฐานะแม่ข่ายดำเนินงานอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือว่า โรงงานต้นแบบนวัตกรรมอาหารครบวงจร (Innovation Food Fabrication Pilot Plant) ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ (จ.เชียงใหม่) ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ผ่านสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมกิจการอุทยานวิทยาศาสตร์ (สอว.) และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 27 มีนาคม ที่ผ่านมา เดินหน้าเร่งเครื่องสายการผลิตอาหารและเครื่องดื่มนวัตกรรมเพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยนำมะเขือเทศพันธุ์ราชินี ซึ่งมีคุณประโยชน์ที่อุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุอย่าง วิตามิน A C E โพแทสเซียม โฟเลต มาผ่านกระบวนการทำแห้ง (Dehydration Food Process) ซึ่งนอกเหนือจากคุณค่าทางโภชนาการที่คงไว้ครบถ้วนแล้ว อีกคุณสมบัติเด่นในมะเขือเทศ คือ สารไลโคปิน เพราะเมื่อมะเขือเทศผ่านความร้อน จะทำให้การยึดจับของไลโคปีนกับเนื้อเยื่อของมะเขือเทศอ่อนตัวลง ทำให้ร่างกายสามารถนำสารไลโคปีนไปใช้ได้ดีขึ้น ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยลดอัตราเสี่ยงของโรคต่างๆ สร้างสมดุลในร่างกาย ลดระดับน้ำตาลในเลือด ลดภาวะเครียด และช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย นอกจากนี้มะเขือเทศราชินีอบแห้งง่ายต่อการรับประทานพกพาสะดวก เก็บไว้ได้นานกว่า 4 สัปดาห์ อีกทั้งยังได้ช่วยสนับสนุนผลผลิตทางการเกษตร สร้างรายได้แก่เกษตรกรในจังหวัดเชียงใหม่อีกด้วย
สำหรับเครื่องดื่มเกลือแร่รสลิ้นจี่ (Electrolyte Beverage) เป็นเครื่องดื่มนวัตกรรมที่ให้พลังงานสูง โดยเป็นผลงานการวิจัยจาก รศ.ดร.ยุทธนา พิมลศิริผล ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมอาหารและบรรจุภัณฑ์ และอาจารย์อิศรพงษ์ พงษ์ศิริกุล รองผู้อำนวยการศูนย์ฯ และอาจารย์ประจำคณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เครื่องดื่มเกลือแร่รสลิ้นจี่มีคุณสมบัติสามารถชดเชยน้ำหรือเหงื่อที่ร่างกายสูญเสียไประหว่างการทำงานหนักหรือออกกำลังกาย โดยเป็นเครื่องดื่มที่มีแร่ธาตุและสารพลังงานต่างๆ ที่ร่างกายต้องการ อีกทั้งมีรสชาติ กลิ่น และสีของน้ำลิ้นจี่ เป็นส่วนผสม ทำให้ดื่มง่ายและเมื่อดื่มแล้วช่วยให้รู้สึกสดชื่น กระปรี้กระเปร่า คลายความอ่อนเพลีย ซึ่งผลิตภัณฑ์นวัตกรรมทั้งสองประเภทนี้จะสามารถช่วยเพิ่มพลังงาน พร้อมเสริมวิตามินและเกลือแร่ให้กับผู้ที่ทำงานหนักและมีเวลาพักผ่อนน้อยอย่างบุคลากรทางการแพทย์และผู้ปฏิบัติงานในสถานพยาบาลเพื่อต่อสู้กับสถานการณ์ในปัจจุบัน
ผศ.ดร.ธัญญานุภาพ อานันทนะ กล่าวทิ้งท้ายว่า อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ (จ.เชียงใหม่) ได้วางแผนเพิ่มการผลิตอาหารจากโรงงานต้นแบบนวัตกรรมอาหารครบวงจร อาทิ ข้าวสวยและแกงฮังเลพร้อมรับประทาน เพื่อให้สามารถนำผลิตภัณฑ์นวัตกรรมสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์อย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าภายในระยะเวลาอันใกล้นี้ โรงงานต้นแบบนวัตกรรมอาหารครบวงจร (Innovation Food Fabrication Pilot Plant) จะสามารถส่งมอบผลิตภัณฑ์นวัตกรรมได้ถึง 4,500 แพ็ค ยิ่งไปกว่านั้น อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ (จ.เชียงใหม่) พร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการผลิตสินค้านวัตกรรมอันเกิดจากการต่อยอดผลงานวิจัยสู่การสร้างผลิตภัณฑ์ต้นแบบสำหรับผู้ประกอบการ SMEs สตาร์ทอัพและผู้ที่สนใจได้สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์นวัตกรรมที่มีคุณภาพและมีความหลากหลายสู่ระดับอุตสาหกรรมและส่งต่อเพื่อให้เกิดประโยชน์ทางสังคมมากขึ้นซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพและมาตรฐานผลิตภัณฑ์นวัตกรรมไทย พร้อมกับพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการในระยะยาวต่อไป
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ ฝ่ายสร้างสรรค์และการสื่อสาร อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หรืออีเมล watchareeporn@step.cmu.ac.th
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.