กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) แนะข้อควรรู้ก่อนเลือกใช้สารต้านจุลินทรีย์ ที่มีความปลอดภัยกับสุขอนามัยของประชาชน ระบุสารต้านเชื้อจุลินทรีย์ที่ดี ต้องมีคุณสมบัติทำลายเชื้อได้รวดเร็ว/หลายชนิด สามารถฆ่าเชื้อวัณโรค เชื้อไวรัสชนิดมีเปลือกหุ้มเซลล์ และชนิดไม่มีเปลือกหุ้มเซลล์ มีความคงตัวแม้อยู่ในสภาวะที่เป็นกรดหรือด่าง มีประสิทธิภาพไม่ลดลงเมื่อสัมผัสสารอินทรีย์ อีกทั้งยังไม่กัดกร่อนพื้นผิว
ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า จากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ในปัจจุบันนั้น ส่งผลให้ปริมาณการใช้สารต้านจุลินทรีย์ เพื่อนำไปยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อมีอัตราเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับประชาชนด้วยองค์ความรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่ง วว. โดย ศูนย์ความหลากหลายทางชีวภาพ มีความเชี่ยวชาญในด้านการวิเคราะห์คุณภาพทางจุลชีววิทยาของผลิตภัณฑ์ต่างๆตามที่กำหนดไว้ตามมาตรฐาน และการทดสอบประสิทธิภาพการต้านเชื้อจุลินทรีย์ของผลิตภัณฑ์ มีข้อแนะนำควรรู้ในการเลือกใช้สารต้านจุลินทรีย์ที่มีความปลอดภัยกับสุขอนามัยของผู้ใช้ ดังนี้
ความรู้เกี่ยวกับสารต้านจุลินทรีย์ (Antimicrobial agent) ซึ่งเป็นสารที่สามารถฆ่าหรือยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อได้ จำแนกตามวัตถุประสงค์การใช้ได้ 3 ประเภท ได้แก่ 1.สารฆ่าเชื้อ (Disinfectant) สามารถกำจัดเชื้อจุลินทรีย์ได้หลากหลาย และไม่จำเพาะเจาะจง ใช้กำจัดเชื้อจุลินทรีย์บนพื้นผิวสิ่งของต่างๆ ที่ไม่มีชีวิต เพื่อยับยั้งการแพร่การกระจายของเชื้อ 2.สารระงับเชื้อ (Antiseptic) ใช้กำจัดเชื้อจุลินทรีย์บนผิวหรือเนื้อเยื่อของสิ่งมีชีวิต เช่น ใช้ฆ่าเชื้อในระหว่างการผ่าตัด ดังนั้น disinfectant บางชนิดที่ไม่มีพิษต่อคนก็สามารถใช้เป็น antiseptic ได้ด้วย และ 3.ยาปฏิชีวนะ (Antibiotic) ใช้กำจัดเชื้อจุลินทรีย์ภายในร่างกาย มีความเฉพาะเจาะจง เดิมจะหมายถึงแต่การกำจัดหรือควบคุมเชื้อแบคทีเรียเท่านั้น แต่ปัจจุบันจะหมายถึงการกำจัดหรือควบคุมเชื้อจุลินทรีย์ใดๆ
ข้อควรพิจารณาในการเลือกใช้สารต้านเชื้อจุลินทรีย์ ประกอบด้วย 1.วัตถุประสงค์ในการใช้ พิจารณาว่าจะใช้สารต้านเชื้อจุลินทรีย์กับสิ่งที่ต้องการทำลายเชื้อประเภทใด และสิ่งเหล่านั้นมีเชื้ออะไรที่เกี่ยวข้อง 2.คุณสมบัติทางกายภาพ ทางเคมี ทางชีววิทยาของสารต้านเชื้อจุลินทรีย์นั้น ได้แก่ ความคงตัวของน้ำยา อายุของสารที่ใช้ เป็นต้น 3.ความปลอดภัยของผู้ใช้ โดยคำนึงถึง การดูดซึมเข้ากระแสเลือด การระคายเคืองต่อผิวหนัง อาการแพ้ที่อาจเกิดขึ้น 4.ความน่าเชื่อถือของสารต้านเชื้อจุลินทรีย์ เช่น เอกสารกำกับยาที่แนบมาจากบริษัท เอกสารทางการแพทย์ องค์กรสากลที่เกี่ยวข้องรับรอง ไม่โฆษณาเกินความเป็นจริง และราคาเหมาะสม
“…คุณสมบัติของสารต้านเชื้อจุลินทรีย์ที่ดี ต้องมีคุณสมบัติในการทำลายเชื้อได้รวดเร็วและหลายชนิด สามารถฆ่าเชื้อวัณโรค เชื้อไวรัสชนิดมีเปลือกหุ้มเซลล์ (AIDS) และชนิดไม่มีเปลือกหุ้มเซลล์ (ไวรัสตับอักเสบ) มีความคงตัวแม้อยู่ในสภาวะที่เป็นกรดหรือด่าง มีประสิทธิภาพไม่ลดลงเมื่อสัมผัสสารอินทรีย์ และไม่กัดกร่อนพื้นผิว (โลหะ พลาสติก และยาง) …” ผู้ว่าการ วว. กล่าว
ดร.สรียา เรืองพัฒนพงศ์ นักวิจัย ศูนย์ความหลากหลายทางชีวภาพ วว. กล่าวเพิ่มเติมว่า สารฆ่าเชื้อ (disinfectant) เป็นสารต้านเชื้อจุลินทรีย์ที่มีการนำมาใช้เป็นผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อสำหรับใช้ในบ้านเรือนหรือทางสาธารณสุขมากกว่าประเภทอื่น ซึ่งเป็นวัตถุอันตรายที่อยู่ในการกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ตัวอย่างเช่น น้ำเกลือที่ผ่านการฆ่าเชื้อ น้ำที่ผ่านการฆ่าเชื้อ สารต้านจุลชีพที่ช่วยลดแรงตึงผิว (เช่น โพลีเฮกซาเมทิลีน ไบกัวไนต์ แผ่นแอลกอฮอล์ และยาใส่แผล เป็นต้น) และสารระงับเชื้อ (เช่น กรดไฮโปคลอรัสและสารโซเดียมไฮโปคลอไรท์ น้ำยาบ้วนปาก เจลแอลกอฮอล์ ด่างทับทิม และทิงเจอร์ไอโอดีน เป็นต้น)
โดยสารฆ่าเชื้อมีความสามารถในการทำลายเชื้อได้ 3 ระดับ คือ 1. สารฆ่าเชื้อที่มีประสิทธิภาพสูง (High-level disinfectant) เป็นสารเคมีที่สามารถทำลายได้ทั้ง แบคทีเรีย (vegetative, mycobacteria, spore) เชื้อรา และไวรัส จึงเหมาะสำหรับใช้ทำให้ปลอดเชื้อในอุปกรณ์ที่ต้องการปลอดเชื้ออย่างยิ่ง สารฆ่าเชื้อในกลุ่มนี้ ได้แก่ กลูตาอัลดีไฮด์ที่ความเข้มข้นมากกว่า 2% ขึ้นไป (Glutaraldehydel) คลอรีนไดออกไซด์ (Chlorine dioxide) ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซต์ (7.3% Hydrogenperoxide) กรดเพออะซิติก (0.08% Peracetic acid) ฟอร์มาลดีไฮด์ (Formaldehyde) หรือน้ำยาฟอร์มาลิน
2. สารฆ่าเชื้อที่มีประสิทธิภาพปานกลาง (Intermediate-level disinfectant) เป็นสารเคมีที่สามารถทำลายเชื้อแบคทีเรีย ไมโครแบคทีเรีย รา และไวรัสบางชนิด แต่ไม่สามารถทำลายสปอร์ของจุลชีพและไวรัสชนิด non-lipid small size สารฆ่าเชื้อในกลุ่มนี้ ได้แก่ เอทานอล (Ethanol) หรือไอโซโพรพานอล (Isopropanal) ที่ความเข้มข้น 70% ขึ้นไป สารประกอบประเภทคลอรีน ได้แก่ ไฮเปอร์คลอรัสหรือคลอรีนไดออกไซด์ (Chlorine compounds : hypochlorous acid gaseous chlorine หรือ Chlorine dioxide) ฟินอลิก (Phenolic) ไอโอโดฟอร์ (Iodophor) และทิงเจอร์ (Tincture)
3. สารฆ่าเชื้อที่มีประสิทธิภาพต่ำ (Low-level disinfectants) เป็นสารเคมีที่สามารถทำลายเชื้อแบคทีเรียชนิด vegetative form และเชื้อราได้ แต่ไม่สามารถทำลายเชื้อไมโครแบคทีเรียและเชื้อไวรัส สารเคมีบางชนิดในกลุ่มนี้เมื่อเพิ่มความเข้มข้นขึ้นจะมีคุณสมบัติที่เหมาะสำหรับใช้ฆ่าเชื้ออุปกรณ์ที่ไม่จำเป็นต้องปลอดเชื้อมากนัก สารฆ่าเชื้อในกลุ่มนี้ ได้แก่ สารควอเทอร์นารีแอมโมเนียม (Quaternary ammonium compounds) คลอร์เฮกซิดีน (Chlorhexidine) คลอโรไซลีนอล (Chloroxylenol) เซตริไมด์ (Cetrimide) และเบนซาลโคเนียมคลอไรต์ (Benzalkonium chloride)
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมหรือขอรับคำแนะนำปรึกษา งานบริการวิเคราะห์ทดสอบประสิทธิภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ต้านเชื้อจุลินทรีย์ประเภทต่างๆ ตามวิธีมาตรฐาน เพื่อขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์กับ อย. ได้ที่ ดร.จารุวรรณ สิทธิพล นักวิจัยอาวุโส ศูนย์ความหลากหลายทางชีวภาพ วว. โทร. 0 2 577 9000 หรือ โทร 0 2577 9058 Call Center 0 2577 9300 E-mail : tistr@tistr.or.th
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.