เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2563 ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.) เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการพัฒนาบุคลากรตามแนวทาง อีอีซี โมเดล ครั้งที่ 1/2563 พร้อมด้วย นางสุวรรณี คำมั่น เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และคณะทำงานเข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมศาสตราจารย์วิจิตร ศรีสอ้าน ชั้น 5 อาคารอุดมศึกษา 1 ถนนศรีอยุธยา
โดยที่ประชุมได้พิจารณาแนวทางการพัฒนาบุคลากรกับผู้ประกอบการ ตามแนวทางอีอีซี โมเดล และการขยายความร่วมมือกับหน่วยงานในการพัฒนาบุคลากร โดยมีรายละเอียดที่สำคัญ ๆ ดังนี้
ให้ดำเนินการพัฒนาบุคลากรแบบ Demand Driven เป็นแนวทางหลัก ซึ่งแนวทางในการพัฒนาบุคลากรในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) นั้นมีอยู่ 2 รูปแบบคือ (1) EEC Model Type A (2) EEC Model Type B ซึ่งมอบหมายให้สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) ปรับการเรียนหลักสูตรการเรียนการสอนในหลักสูตรที่ได้รับปริญญาหรือประกาศนียบัตรวิชาชีพ (Degree) เป็นแบบ EEC Model Type A ให้มากที่สุด โดยให้ EEC-HDC ประสานงานโครงการการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงาน (Cooperative Work Integrated Education : CWIE) และหาแนวทางและเป้าหมายเสนอในการประชุมครั้งต่อไป
สำหรับความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กับ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ผลักดันให้สถาบันอาชีวศึกษาในภาคตะวันออก จำนวน 12 สถาบันอาชีวศึกษา ซึ่งมีกำลังการผลิตนักศึกษาระดับประกาศนียบัตรชั้นสูง (ปวส.) รวมปีละ 8,200 คน เป็นรูปแบบ EEC Model Type A ให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 30 ของผู้สำเร็จการศึกษา ปวส. ในปี 2566 (ดำเนินการแล้วประมาณ 1,500 คน ต้องการเพิ่ม 7,000 คน) ขยายจำนวนนักศึกษาที่เข้าอบรมหลักสูตรระยะสั้น (short course) รัฐเอกชนร่วมจ่าย 50 : 50 ให้ได้ 20,000 คน ในปีงบประมาณ 2564
ให้ขยายผล การจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการภาษากับเนื้อหา (Content and Language Integrated Learning - CLIL) กับการเรียนการสอนกลุ่มอาชีวศึกษา ซึ่งผู้สอนในสาขาวิชาชีพต่าง ๆ นำภาษาอังกฤษไปสอดแทรกในการจัดการเรียนรู้ เพื่อให้นักศึกษาสามารถใช้ภาษาอังกฤษเฉพาะทางได้ เน้นให้ผู้เรียนรู้จักและใช้คำศัพท์ภาษาอังกฤษที่พบในวิชาชีพ และสามารถใช้ได้อย่างคล่องแคล่ว
- ความร่วมมือระหว่าง สกพอ. กับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อพัฒนาฝีมือแรงงาน
ให้หน่วยฝึกอบรมของกรมพัฒนาฝีมือแรงงานใน อีอีซี เช่น สถาบันพัฒนาบุคลากรสาขาเทคโนโลยีการผลิตอัตโนมัติและหุ่นยนต์ (Manufacturing Automation and Robotics Academy : MARA) ทำงานร่วมกับภาคเอกชนให้มากขึ้น ทั้งการฝึกอบรม Re skill - Up skill - New skill ในหลักสูตรอบรมระยะสั้น (short course)
- กรมพัฒนาฝีมือแรงงานสร้างหลักสูตรอบรมระยะสั้น (short course) รัฐเอกชน ร่วมจ่าย 50:50 และเป็นแกนนำประสานภาคอุตสาหกรรมเชื่อมต่อการศึกษา และฝึกอบรมเพิ่มทักษะแรงงาน โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19
- ความร่วมมือระหว่าง สกพอ. กับ สป.อว.
1.) เพื่อส่งเสริมการพัฒนาหลักสูตรของสถาบันอุดมศึกษาตามแนวทาง Demand Driven โดยบูรณาการจัดการศึกษาในรูปแบบ EEC Model และ ความร่วมมือในการส่งเสริมการจัดสหกิจศึกษาและการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงาน (CWIE) ให้สามารถพัฒนากำลังคนได้ตรงความต้องการของผู้ใช้บัณฑิตมากที่สุดทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ
2.) กำหนดแนวทางเพื่อสนับสนุนสถานศึกษาที่จัดการศึกษาตามแนวทางดังกล่าว และให้สิทธิประโยชน์แก่เอกชนที่ร่วมผลิตบัณฑิตเพื่อเป็นการจูงใจเป็นพิเศษ
3.) ขอให้ สป.อว. เร่งขยายจำนวนหลักสูตร CWIE ตามแนวทาง EEC Model Type A เพื่อรองรับความต้องการบุคลากรของ อีอีซี ให้ได้ 100,000 คน ภายในระยะเวลา 5 ปี
สำหรับเรื่องผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 กับการเปลี่ยนแปลงความต้องการบุคลากร จากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ในหลายประเทศทั่วโลกนับตั้งแต่ช่วงเดือนธันวาคม 2562 เป็นต้นมา ส่งผลกระทบรุนแรงไปทั่วโลก เกิดความผันผวนในตลาดการเงินปัญหาด้านเศรษฐกิจ การค้า การท่องเที่ยว และการขนส่ง จากความจำเป็นที่หลายประเทศจะต้องปิดเมืองสำหรับประเทศไทยส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อภาคธุรกิจและครัวเรือน ประกอบกับมีมาตรการ Lock Down ซึ่งจำเป็นต่อการควบคุมการแพร่ระบาดของโรค ส่งผลให้เกิดการหยุดชะงักฉับพลันของกิจกรรมทางเศรษฐกิจผู้ประกอบการหลายรายลดการจ้างงาน การชะลอการตัดสินใจลงทุนใหม่ ส่งผลกระทบต่อการจ้างงาน
ทั้งนี้ จากการประเมินถึงผลกระทบของ COVID-19 ต่ออีอีซี ในเบื้องต้นพบว่า GPP จะลดลงมาก โดยใน 6 เดือนแรก คาดว่ารายได้จากภาคการท่องเที่ยวซึ่งเป็นรายได้ที่สำคัญของอีอีซี จะลดลงประมาณร้อยละ 90 เป็นเงินกว่า 1.5 แสนล้านบาท ขณะที่การจ้างงานจะลดลงกว่า 50,000 คน แบ่งเป็นการลดลงจากการถูกเลิกจ้าง 30,000 คน และอีก 20,000 คน เกิดจากการที่ผู้ที่จบการศึกษาใหม่ไม่สามารถหางานทำได้ อย่างไรก็ดีภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวคาดว่าจะเป็นอุตสาหกรรมแรกที่ฟื้นตัว ภายหลังที่วิกฤตการณ์ผ่านพ้นไปส่วนอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบรองลงมา ได้แก่อุตสาหกรรมการบิน อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะและอุตสาหกรรมอื่น ๆ ตามลำดับ โดยได้รับผลกระทบระหว่างร้อยละ 40 - 60 โดยอุตสาหกรรมดิจิทัลเป็นอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด
ดร.สุวิทย์ ได้เสนอให้พื้นที่อีอีซี ดึงดูดการลงทุนธุรกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) โดยประเทศไทยมีต้นทุนทางทรัพยากรและศักยภาพในธุรกิจประเภทบีซีจีอยู่แล้วทั้งด้านเกษตรอาหาร และการแพทย์และสุขภาพ และเห็นว่าหลังวิกฤต COVID-19 ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันสร้างอาชีพ สร้างงานใหม่ เพื่อรองรับแรงงานที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 และอาชีพใหม่ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต ตลอดจนแรงงานที่มีอยู่ในระบบ และนักศึกษาจบใหม่ต้องมุ่งเน้นการพัฒนาทักษะ Re skill - Up skill ผ่านหลักสูตรการอบรมระยะต่าง ๆ เพื่อรองรับความต้องการในอนาคต และเมื่อสถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติ ประเทศไทยจะมีความพร้อมด้านกำลังคนที่มีทักษะรองรับการลงทุน
นอกจากนี้ คณะอนุกรรมการพัฒนาบุคลากรตามแนวทางอีอีซีโมเดล มีแผนในการสำรวจความต้องการบุคลากรหลังประเทศไทยเผชิญกับวิกฤต COVID-19 เพื่อทำเป็นฐานข้อมูลกลางเพื่อให้ทราบถึงความต้องการกำลังคนได้รับผลกระทบและมีความเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งข้อมูลดังกล่าวจะนำมาสู่การวางแผนพัฒนากำลังคนให้ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศหลัง COVID-19 โดย สอวช. พร้อมแลกเปลี่ยนแนวทางและแบบสำรวจฐานข้อมูลความต้องการกำลังคนที่สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เคยดำเนินการสำรวจ 12 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งเจาะลึกถึงตำแหน่งงานและทักษะเพื่อนำมาพัฒนาต่อยอดเป็นแบบสำรวจกลางที่จะพัฒนาขึ้นมาร่วมกันระหว่างกระทรวงแรงงาน กระทรวงการอุดมศึกษาฯ กรมอาชีวศึกษา อีอีซี รวมทั้งบีโอไอ โดยจะใช้สำรวจผลกระทบและความต้องการแรงงานแบบบูรณาการร่วมกันต่อไป นอกจากนี้ รมว.อว. ยังได้เสนอให้มีการจ้างงานนักศึกษาจบใหม่หรือคนว่างงาน ลงพื้นที่นำองค์ความรู้ช่วยชุมชน รวมถึงลงพื้นที่สำรวจข้อมูลผลกระทบและความต้องการแรงงานควบคู่ไปกับการใช้แบบฟอร์มสำรวจข้อมูล เพื่อสร้างงาน และให้นักศึกษามีรายได้อีกทางหนึ่งด้วย
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.