ดร.ศุภชัย อาวิพันธุ์ นักวิจัยด้านดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ c ร่วมกับทีมนักดาราศาสตร์นานาชาติ ใช้กล้องโทรทรรศน์ควบคุมระยะไกลอัตโนมัติ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.7 เมตร ณ หอดูดาวเกาเหมยกู่ มณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน กล้องโทรทรรศน์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.5 เมตร ณ หอดูดาวแห่งชาติ ดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่ และกล้องโทรทรรศน์อีกกว่า 50 ตัวทั่วโลก บันทึกภาพปรากฏการณ์สว่างขึ้นอย่างประหลาดของดาวฤกษ์ดวงหนึ่งกว่า 25,000 ภาพ ศึกษาจนค้นพบ “ระบบดาวคู่ที่มองไม่เห็น”
ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2559 กล้องโทรทรรศน์อวกาศ Gaia ขององค์การอวกาศยุโรป (European Space Agency: ESA) ค้นพบการสว่างขึ้นของดาวฤกษ์ 2MASS19400112+3007533 ในกลุ่มดาวหงส์ และตั้งชื่อย่อปรากฏการณ์ดังกล่าวว่า Gaia16aye การสว่างขึ้นดังกล่าวองค์การอวกาศยุโรป ได้แจ้งเตือนให้นักดาราศาสตร์ทั่วโลกเฝ้าสังเกตการณ์ ร่วมถึงนักวิจัยของ สดร. ด้วย
ภายหลังการแจ้งเตือน กล้องโทรทรรศน์มากกว่า 50 ตัวทั่วโลก รวมทั้งกล้องโทรทรรศน์ควบคุมระยะไกลอัตโนมัติ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.7 เมตร ณ หอดูดาวเกาเหมยกู่ มณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน และกล้องโทรทรรศน์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.5 เมตร ณ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่ ได้เฝ้าสังเกตปรากฏการณ์ Gaia16aye ยาวนานกว่า 500 วัน และพบว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดจากปรากฏการณ์ไมโครเลนส์ (Microlensing)
ปรากฏการณ์ไมโครเลนส์ เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดจากการเลี้ยวเบนของแสงรอบวัตถุมวลมากตามทฤษฎีของไอสไตน์ เมื่อมีวัตถุมาอยู่ระหว่างโลกกับดาวฤกษ์พื้นหลัง สนามโน้มถ่วงของวัตถุดังกล่าวจะทำให้แสงเลี้ยวเบนคล้ายเลนส์นูน ทำให้ผู้สังเกตบนโลกเห็นดาวฤกษ์พื้นหลังสว่างขึ้น การศึกษาปรากฏการณ์ไมโครเลนส์สามารถช่วยให้นักดาราศาสตร์ค้นพบวัตถุที่มีความสว่างน้อย เช่น ดาวเคราะห์ ดาวฤกษ์ที่อยู่ไกล หรือแม้กระทั่งหลุมดำได้
จากข้อมูลภาพถ่ายปรากฏการณ์ Gaia16aye กว่า 25,000 ภาพ ในจำนวนมีภาพถ่ายมากกว่า 1,000 จากกล้องโทรทรรศน์ของ สดร. พบว่าดาวฤกษ์มีการสว่างขึ้นจำนวน 5 ครั้ง เมื่อนำข้อมูลดังกล่าวมาสร้างแบบจำลองพบว่าวัตถุที่เป็นเลนส์ ประกอบด้วยดาวฤกษ์สองดวงที่มีมวล 0.57 และ 0.36 เท่าของดวงอาทิตย์ ดาวทั้งสองห่างกันประมาณ 2 เท่าของระยะห่างระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์ และมีคาบโคจรรอบกันยาวนาน 2 ปี แต่อย่างไรก็ตามด้วยระยะห่างจากโลกของดาวคู่ดังกล่าวที่มากกว่า 2,000 ปีแสง ทำให้แสงที่มาจากดาวฤกษ์ทั้งสองสว่างน้อยกว่าความสามารถของกล้องโทรทรรศน์ที่จะสังเกตเห็นดาวคู่ดังกล่าวได้
ระบบดาวคู่ดังกล่าวไม่ใช่วัตถุแรกที่นักวิจัย สดร. ร่วมกับนักดาราศาสตร์นานาชาติค้นพบด้วยเทคนิคไมโครเลนส์ ก่อนหน้านี้ ได้ค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบชื่อว่า Kojima-1Lb ด้วยเทคนิคไมโครเลนส์มาแล้วเช่นกัน การศึกษาดังกล่าวยังแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของกล้องโทรทรรศน์ของ สดร. ที่สามารถทำงานวิจัยร่วมในระดับนานาชาติได้
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.