เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2563 สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) จัดเวทีหารือออนไลน์ Recovery Forum Special Talk ในหัวข้อ Thailand Trade Platform โดยได้รับเกียรติจาก บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด มาแลกเปลี่ยนถึงแนวคิดระบบ E-commerce platform ที่ใช้สำหรับการช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยในการก้าวสู่ตลาดออนไลน์อย่างเป็นระบบและเติบโตได้ในเวทีโลก
จากที่ สอวช. มีการจัดเวทีเพื่อหาแนวทางฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมไทยหลังวิกฤตการณ์โควิด-19 เป็นประจำทุกสัปดาห์ ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. เปิดเผยว่า การหารือหัวข้อ Thailand Trade Platform ครั้งนี้เกิดขึ้นจากความห่วงใยผู้ประกอบการในธุรกิจเอสเอ็มอี ที่ทั้งภาครัฐ เอกชน ควรมีบทบาทเข้าไปเสริมความแข็งแกร่งให้กับภาคส่วนดังกล่าว โดยได้เชิญบริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด ซึ่งมีประสบการณ์ในการพัฒนาแพลตฟอร์มการค้าในหลายประเทศมาแลกเปลี่ยนมุมมองเพื่อมาประยุกต์ใช้กับประเทศไทย โดย Thailand Trade Platform เป็นแพลตฟอร์มการค้าและบริการดิจิทัลที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการมีช่องทางการขายสินค้าและบริการทั้งในประเทศและต่างประเทศผ่านระบบออนไลน์ทั้งการซื้อขายแบบธุรกิจกับลูกค้า ธุรกิจกับธุรกิจ และธุรกิจกับภาครัฐ โดยในแพลตฟอร์มจะมีการเชื่อมโยงระบบทั้งช่องทางการซื้อขาย การทำธุรกรรมแบบอิเล็กทรอนิกส์ การจ่ายเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ ตลอดจนการบริการของภาครัฐแบบอิเล็กทรอนิกส์เชื่อมโยงอยู่ในแพลตฟอร์มเดียว และยังเป็นแพลตฟอร์มที่ออกแบบให้มีความปลอดภัยของข้อมูลทางการค้า โดยใช้ Private Blockchain เป็นเครื่องมือ นอกจากแพลตฟอร์มดังกล่าวจะช่วยในเรื่องการเพิ่มโอกาสในการซื้อขายแล้ว ยังเป็นการลดต้นทุนและขั้นตอนทางการค้าให้กับผู้ประกอบการ และยังสามารถเป็นช่องทางให้ผู้ประกอบการก้าวสู่เวทีโลกได้
ในการหารือได้มีการแลกเปลี่ยนอีกว่า แม้จะมีการสร้างแพลตฟอร์มสำเร็จ แต่หากขาดผู้ใช้งานก็จะเป็นเสมือนตึกร้าง การมีนโยบายส่งเสริมหรือแรงจูงใจจากภาครัฐจึงเป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะช่วยดึงดูดผู้ประกอบการเข้ามาใช้งาน โดยในประเทศจีนจะมีการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีกับบริษัทที่มีการส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศจึงทำให้แพลตฟอร์มการค้าออนไลน์ของจีนเติบโตอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ ที่ประชุมมองว่าประเทศไทยมีองค์ประกอบของแพลตฟอร์มในบางส่วนอยู่แล้ว เหลือเพียงการทำให้เชื่อมต่อกันและหาหน่วยงานที่จะเข้ามาบริหารเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
ที่ประชุมยังมองอีกว่า สำหรับประเทศไทยเองการนำผู้ประกอบการเข้าแพลตฟอร์มเป็นเรื่องสำคัญ ควรมีการสื่อสารให้ผู้ประกอบการรับรู้ถึงประโยชน์ที่จะได้รับในการเข้าร่วม สร้างความมั่นใจเรื่องความปลอดภัยของข้อมูลทางการค้า มีความสะดวกในการใช้งาน และการดึงดูดผู้ประกอบการเข้าร่วมแพลตฟอร์มไม่ควรมองแค่เชิงปริมาณ แต่ต้องคำนึงถึงความสามารถของผู้ประกอบการในการใช้แพลตฟอร์มให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดควบคู่ไปด้วย การสร้างศูนย์กลางการบริการ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในแพลตฟอร์ม รวมถึงการสนับสนุนให้เกิดพี่เลี้ยงผู้ประกอบการเอสเอ็มอีโดยนำเอาองค์ความรู้จากนักศึกษาในมหาวิทยาลัยทั้งในด้านการตลาด ศิลปศาสตร์ เทคโนโลยี รวมถึงด้านที่เกี่ยวข้องอื่นๆ มาช่วยในการวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภค ออกแบบประชาสัมพันธ์สินค้า รวมถึงการใช้เทคโนโลยีและเครื่องมือในแพลตฟอร์มได้อย่างเกิดประสิทธิภาพจึงเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะสามารถสร้างความสมบูรณ์ให้กับ Thailand Trade Platform
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.