(19 มิถุนายน 2563) ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จัดพิธีลงนามความร่วมมือแบบพหุพาคี ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ผ่านระบบออนไลน์ CISCO Webex ครั้งแรกในประเทศไทย ประกาศเจตนารมณ์ในความร่วมมือเพื่อยกระดับภาคอุตสาหกรรมไทยสู่อุตสาหกรรม 4.0 โดยการผลักดันแพลตฟอร์ม IDA หรือ Industrial IoT and Data Analytics Platfom ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มไอโอที (IoT) และระบบวิเคราะห์ข้อมูล สำหรับโรงงานอุตสาหกรรม ที่เชื่อมโยงข้อมูลจากเครื่องจักรการผลิต และนำข้อมูลมาวิเคราะห์ เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและอนุรักษ์พลังงานให้ดีที่สุด ตอบสนองความจำเป็นเร่งด่วนต่อการปรับตัวของ SME ในภาคการผลิต สอดรับการเปลี่ยนแปลงรอบด้านภายหลังจากโควิด-19
ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.) ประธานในพิธี กล่าวว่า โลกหลังโควิด จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมจะมีความจำเป็นในการปรับตัวของทุกภาคส่วนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะในภาคการผลิตที่มีการแข่งขันสูง และในปัจจุบันมีความผันผวนสูงเช่นเดียวกัน รัฐบาลจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องช่วยสนับสนุน SME ให้สามารถปรับใช้เทคโนโลยีได้อย่างเหมาะสม และรองรับความท้าทายใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ด้าน ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อช่วยยกระดับภาคอุตสาหกรรมเป็นพันธกิจหนึ่งที่สำคัญของสวทช. โดยในปี 2564 ได้เสนอให้รัฐบาลลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่เพื่อสนับสนุนการขยายผลงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ (Tanslational Research) โดยการจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (Sustainable Manufacturing Center: SMC) ขึ้นภายในเมืองนวัตกรรม ARIPOLIS ซึ่งเป็นหนึ่งในเมืองนวัตกรรมเป้าหมายภายใต้ EECi ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางนวัตกรรมด้านระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และระบบอัจฉริยะในอุตสาหกรรมเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจ BCG (Bio - Circular - Green Economy) และสามารถตอบโจทย์ความต้องการของอุตสาหกรรมในพื้นที่ EEC เป็นการช่วยลดช่องว่างของการพัฒนาอุตสาหกรรมและสามารถช่วยยกระดับการผลิตสู่ Industry 4.0 ได้ในอนาคต ซึ่งแพลตฟอร์ม IDA ที่มีการเปิดตัวในวันนี้ก็นับเป็นหนึ่งในงานสำคัญที่จะเกิดขึ้นในศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน ภายใต้ EECi ARIPOLIS แห่งนี้
ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) กล่าวว่า แพลตฟอร์ม IDA สามารถประยุกต์ใช้ได้หลายงาน เช่น (1) การตรวจวัดปริมาณการใช้พลังงานในโรงงาน (Energy Monitoring) เพื่อเก็บข้อมูล วิเคราะห์ และปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานในโรงงาน (2) การปรับปรุงประสิทธิภาพของกระบวนการผลิต หรือ Overall Equipment Effectiveness (OEE) เพื่อเพิ่มผลผลิต (Productivity) แก่โรงงานอุตสาหกรรม (3) การบำรุงรักษาเชิงพยากรณ์ (Predictive Maintenance) เพื่อช่วยลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต มีเป้าหมายในการขยายผลสู่ 500 โรงงานในระยะ 3 ปี ซึ่งในปี 2563 นี้จะมีการติดตั้งระบบในโรงงานอุตสาหกรรมนำร่อง จำนวน 10 - 20 โรงงาน โดยเป็นการร่วมทดสอบระบบและอุปกรณ์ที่ใช้ในแพลตฟอร์ม IDA เพื่อให้แน่ใจว่าสามารถเชื่อมต่อกันได้กับผู้ผลิตเทคโนโลยีชั้นนำจากทั่วโลก
ความร่วมมือในครั้งนี้ นอกจากจะได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐแล้ว ยังมีบริษัทเอกชนทั้งที่เป็นผู้ผลิตเทคโนโลยีรายใหญ่ในวงการอุตสาหกรรม 4.0 ของโลก และบริษัทเอกชนไทย รวมทั้งสิ้นจำนวน 9 บริษัท มาร่วมทำงานด้วยกัน เพื่อส่งมอบเทคโนโลยีที่เข้าถึงได้แก่ผู้ประกอบการ SME ไทย ดังนี้ บริษัท ซีเมนส์ อินดัสเทรียล จำกัด, บริษัท ซิสโก้ ซีสเต็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท มิตซูบิชิ อีเล็คทริค แฟคทอรี่ ออโตเมชั่น (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท ออมรอน อีเลคทรอนิคส์ จำกัด, บริษัท พาโลอัลโต้ เน็ตเวิร์ค ประเทศไทย และ อินโดจีน บริษัท เน็กซ์พาย จำกัด, บริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด และ สถาบันเทคโนโลยีการผลิตสุมิพล โดยแต่ละรายจะมีการสนับสนุนการทดลองใช้เทคโนโลยี/ อุปกรณ์ผลิตภัณฑ์ เพื่อทำการทดสอบการใช้งานจริงในโรงงานนำร่อง มีการแบ่งปันองค์ความรู้เพื่อการวิจัยและพัฒนา รวมทั้งการพัฒนากำลังคนและบุคลากรด้านอุตสาหกรรม 4.0 เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างเป็นระบบ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม สามารถสมัครเข้าร่วมโครงการ IDA แพลตฟอร์มได้ โดยจะได้รับการประเมินความพร้อมในการก้าวสู่อุตสาหกรรม 4.0 ด้วยดัชนีชี้วัดความพร้อมอุตสาหกรรมสมัยใหม่ (Smart Industry Readiness Index) และการติดตั้งระบบมอนิเตอร์อัจฉริยะสำหรับโรงงานอุตสาหกรรม โดยผู้ที่สนใจสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.nectec.or.th/innovation/ida
*เมื่อ Click ชื่อของ vendor จะไปที่ลิงก์ของแต่ละบริษัท ในการให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับโครงการ IDA platform
*รายชื่อหน่วยงานที่เข้าร่วม MOU ทั้งหมด ดังนี้
1. สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
2. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)
3. สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า)
4. กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.)
5. สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.)
6. บริษัท ซีเมนส์ อินดัสเทรียล จำกัด
7. บริษัท ซิสโก้ ซีสเต็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด
8. บริษัท มิตซูบิชิ อีเล็คทริค แฟคทอรี่ ออโตเมชั่น (ประเทศไทย) จำกัด
9. บริษัท ออมรอน อีเลคทรอนิคส์
10. บริษัท พาโลอัลโต้ เน็ตเวิร์ค ประเทศไทย และ อินโดจีน
11. บริษัท เน็กซ์พาย จำกัด
12. บริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด
13. สถาบันเทคโนโลยีการผลิตสุมิพล
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.