เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2563 ณ ศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) อาคารเอสพีอี ทาวเวอร์ ชั้น 9 พญาไท กรุงเทพฯ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ ศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเซลส์ (TCELS) โดย ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ ดร.นเรศ ดำรงชัย ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (ทีเซลส์) จับมือร่วมลงนามความร่วมมือ “ด้านการเพิ่มศักยภาพการพัฒนานวัตกรรมและงานวิจัยทางการแพทย์ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ในประเทศไทย” เพื่อพัฒนาส่งเสริมและขับเคลื่อนให้เกิดงานวิจัยและนวัตกรรมทางการแพทย์ สามารถถ่ายทอดและใช้ประโยชน์ได้จริงในเชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม รวมถึงผลักดันภาคเอกชนในการทดสอบเครื่องมือแพทย์และผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลและได้รับการยอมรับจากทุกประเทศ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) พร้อมระบุช่วงแรกจะร่วมกันพัฒนายาที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ทดแทนยานำเข้าและขาดแคลนในประเทศ เพิ่มองค์ความรู้ ศักยภาพการผลิตยาเพื่อความมั่นคง และตอบสนองสถานการณ์ฉุกเฉินทางการแพทย์ เช่น COVID-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยว่า “สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) มีนวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านการแพทย์ภายใต้ศูนย์วิจัยหลัก 4 ศูนย์ คือ ไบโอเทค เนคเทค เอ็มเทค และ นาโนเทค รวมทั้งมีการตั้ง Health Focus Research Center ที่ดูแลในเรื่อง Digital Healthcare, Precision Medicine, Medical Device and Aging Society ตาม 10 TDG หรือ Flagship Technology ที่อยู่ในความสนใจของ สวทช. รวมถึงมีการให้บริการด้านเทคนิค/วิชาการ ที่มีมาตรฐาน ด้วยเครื่องมือที่ทันสมัย และมีเครือข่ายการทำงานทั้งในและต่างประเทศ อีกทั้งยังมีแผนยกระดับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการแพทย์ และสร้าง Research and Innovation Community ทางด้าน Health Focus ผ่านศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) และอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ซึ่งมีความร่วมมือกับหน่วยงานที่พร้อมลงทุนใน Health Cluster จากต่างประเทศ เช่น World Business Angel Forum (WBAF) และ NSTDA Holding บริษัทร่วมทุนทางการแพทย์ ทั้งหมดนี้ สวทช. มีความพร้อมที่จะมุ่งผลักดันให้ประเทศไทยมีความเข้มแข็งด้านเศรษฐกิจบนเวทีระดับโลก ตลอดจนสนับสนุนการทำวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ทั้งภาครัฐและเอกชนในอุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะทางการแพทย์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญและจำเป็นต่อความมั่นคงในประเทศ”
“สำหรับความร่วมมือระหว่าง สวทช. กับ ทีเซลส์ (TCELS) ในครั้งนี้ เพื่อบูรณาการในการเพิ่มศักยภาพการพัฒนานวัตกรรมและงานวิจัยการแพทย์ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ในประเทศไทย เช่น ยานวัตกรรม (Modified drug) ยาสามัญที่ใช้เทคโนโลยีสูง เช่น ยามะเร็ง ยาชีววัตถุ ยาสมุนไพร เครื่องมือ ซอฟต์แวร์ทางการแพทย์ การแพทย์แม่นยำ เครื่องสำอาง อาหารฟังก์ชั่น อาหารมีวัตถุประสงค์พิเศษ และอื่น ๆ เพื่อให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนำไปใช้ประโยชน์จริงในเชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม รวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการแพทย์ พร้อมทั้งผลักดันการทดสอบเครื่องมือแพทย์และผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลและได้รับการยอมรับจากนานาชาติ ซึ่งการพัฒนากระบวนการวิจัยและพัฒนานี้ จะเสริมความเข้มแข็งของการวิจัยขั้นสูงทางด้านการแพทย์ และผลักดันการพัฒนานวัตกรรม เทคโนโลยีทางการแพทย์ เพื่อนำไปสู่ธุรกิจเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในประเทศ เพื่อสุขภาพคนไทยโดยคนไทย รวมถึงเพิ่มโอกาสพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการไทย และ Startup ตามนโยบายโมเดล BCG ที่มุ่งขับเคลื่อนการวิจัยและพัฒนาเศรษฐกิจทางการด้านการแพทย์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศบนเวทีการค้าโลก”
ดร.ณรงค์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “ในระยะอันใกล้นี้ สวทช. และ ทีเซลส์ จะร่วมมือผลักดันการพัฒนาเทคโนโลยีการพัฒนายาเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยาไทยในรูปแบบใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงที่เรียกว่า Technology Based Medicine มีเป้าหมายสนับสนุนผู้ประกอบให้พัฒนายาที่มีมูลค่าสูง ซึ่งมักเป็นยาที่ต้องนำเข้าและขาดแคลนในประเทศ รวมทั้งยังเป็นการเพิ่มองค์ความรู้ ศักยภาพการผลิตยาเพื่อความมั่นคง และตอบสนองสถานการณ์ฉุกเฉินทางการแพทย์ได้มีประสิทธิภาพ เช่น การปรับปรุงยาเพื่อรักษาโรคอุบัติใหม่ ในกรณีโควิด-19 นอกจากนี้ยังมีแผนพัฒนาหลักสูตรสำหรับผู้สนใจพัฒนาเครื่องมือแพทย์และเทคโนโลยีดิจิทัลทางการแพทย์ และสนับสนุนผู้ประกอบการทดสอบทางด้านอิเล็กทรอนิกส์ร่วมกันด้วย เพื่อต่อยอดธุรกิจและอุตสาหกรรมการแพทย์ให้เกิดการขยายตัว พร้อมลดการพึ่งพาจากต่างประเทศ เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจตามแนวทางเศรษฐกิจชีวภาพต่อไป”
ดร.นเรศ ดำรงชัย ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ เปิดเผยว่า “ทีเซลส์ ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์มาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการเพิ่มศักยภาพการพัฒนานวัตกรรมและงานวิจัยทางการแพทย์ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ในประเทศไทย อันประกอบด้วย การพัฒนายาสามัญที่ใช้เทคโนโลยีสูงหรือยานวัตกรรม (Modified drug) โดยมีความร่วมมือกับ KPBMA (The Korea Pharmaceutical and Bio-Pharma Manufacturers Association-สมาคมผู้ผลิตเภสัชภัณฑ์และชีววัตถุเกาหลี) ประเทศเกาหลี เพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้ประเทศไทยสามารถผลิตยาสามัญ (generic drug) ที่ต้องใช้กระบวนการผลิตและเทคโนโลยีขั้นสูงได้เอง ซึ่งจะทำให้ราคายาที่ขายในประเทศไทยถูกลง ลดการนำเข้ายาจากต่างประเทศ และประชาชนเข้าถึงการรักษาด้วยยาที่มีประสิทธิภาพได้มากยิ่งขึ้น รวมถึงจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ National Quality Infrastructure (NQI) และ โครงการส่งเสริมการ Upskill-Reskill ด้านการทดสอบและการตรวจรับรองมาตรฐาน เพื่อสนับสนุนการสร้าง Ecosystem ขึ้นในประเทศ สำหรับการรับรองตามมาตรฐานในห่วงโซ่คุณค่าการพัฒนาและผลิตเครื่องมือแพทย์อย่างยั่งยืน อีกทั้งยังเป็นเพิ่มศักยภาพให้แก่หน่วยต่างๆ ในห่วงโซ่มูลค่าเครื่องมือแพทย์ เช่น ผู้เชี่ยวชาญที่ปรึกษาในภาคเอกชน ผู้ให้บริการทดสอบและตรวจสอบ รวมทั้ง SMEs ผู้ประกอบการด้านเครื่องมือแพทย์ เป็นต้น และร่วมมือในการสนับสนุนทุนวิจัย เพื่อพัฒนาวัตถุดิบเครื่องสำอางแก่ผู้ประกอบการ ให้ประเทศไทยมีวัตถุดิบที่มีคุณภาพตามมาตรฐาน และพัฒนาความรู้ผู้ประกอบการในการสร้างแนวคิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ (Design Thinking) และ Coaching การออกแบบงานวิจัย/ให้ความรู้กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องและเงื่อนไขการส่งออก ที่เกี่ยวข้องกับอาหารฟังก์ชั่นและเส้นทางสู่เชิงพาณิชย์ เพื่อต่อยอดไปสู่การวิจัยเชิงคลินิกต่อไป ในเบื้องต้นตั้งเป้าเอาไว้ที่ 60 บริษัท”
“การร่วมลงนามความร่วมมือด้วยกันครั้งนี้ จะตอบโจทย์สิ่งที่ประเทศไทยต้องการ คือ ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ด้วยการปฏิวัตินวัตกรรมอุตสาหกรรมทางการแพทย์และสุขภาพ (Reinventing healthcare industry) อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อขับเคลื่อน Bioeconomy Circular economy, และ Green economy (BCG) โดย ยกระดับนวัตกรรมการบริการทางการแพทย์และสุขภาพ 8 ด้านคือ 1) Personalized Medicine, 2) Vaccines and New Medicines, 3) Medical Devices, 4) Telemedicine, 5) Clinical Research Infrastructure, 6) Herbal and Traditional Medicine, 7) Nutraceuticals และ 8) Medical Tourism ซึ่งอาศัย 4 กลไกที่สําคัญ คือ การวิจัยและพัฒนา, การสร้างนวัตกรรมและอุตสาหกรรมการผลิต (Research and Development, Innovation and Manufacturing: RDIM), กฎระเบียบ (Regulation) โครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) และการพัฒนาบุคลากร (Human Resource Development) โดยสถานการณ์โควิด-19 เป็นโอกาสที่แสดงให้เห็นถึงความสําคัญของการทํา Healthcare Reinvention ระหว่าง ทีเซลส์ (TCELS) กับ สวทช. ที่ผนึกพลังร่วมกัน” ดร.นเรศ กล่าวทิ้งท้าย
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.