วันที่ 23 มิถุนายน 2563 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ประชุมหารือแนวทางการบริหารงาน โครงการตามนโยบายการจ้างงานและฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานราก 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย โดย นางสุวรรณี คำมั่น เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ร่วมกับ คณะผู้บริหาร และมหาวิทยาลัยในสังกัดกระทรวง อว. ณ ห้องประชุมชั้น 5 อาคารอุดมศึกษา 1 ถนนศรีอยุธยา (สกอ.)
นางสุวรรณี คำมั่น เลขานุการ รมว.อว. กล่าวว่า โครงการตามนโยบายการจ้างงานและฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานราก 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย โดยระบบฐานข้อมูลที่เชื่อมโยงตั้งแต่ระดับมหาวิทยาลัย ระดับภูมิภาค ไปจนถึงระดับชาติ มีการจ้างงานไม่ต่ำกว่า 3 แสนราย จ้างบัณฑิตอย่างน้อย 50% จ้างนักศึกษาอย่างน้อย 25% และจ้างคนทั่วไปประมาณ 25% โดยการใช้ตำบลเป็นพื้นฐานการลงไปทำงานในพื้นที่ เพื่อพัฒนาและยกระดับเศรษฐกิจฐานรากให้กับชุมชนในสังคม ในรอบแรกเริ่มที่ 3,000 ตำบล โดยการแบ่งตำบลออกเป็น 3 กลุ่ม 1)ตำบลที่มุ่งสู่ความยั่งยืน 2)ตำบลที่สร้างความพอเพียง 3)ตำบลที่สามารถยืนได้ด้วยตนเอง โครงการจะดำเนินงานในระยะเวลา 1 ปี มีทั้งการจ้างงาน การสร้างเศรษฐกิจระดับตำบล และการสร้างองค์ความรู้ไปพร้อมกัน อย่างน้อย 4 ทักษะวิชา ดังนี้
1)เรื่องของ Financial Literacy ทาง อว. ได้เจรจากับทางตลาดหลักทรัพย์แล้ว ซึ่งมีหลักสูตรให้สามารถที่จะเรียนออนไลน์ได้ทันที สำหรับทุกมหาวิทยาลัยที่อยู่ในโครงการดังกล่าว
2)เรื่องของ Digital Literacy โดยทางกลุ่มคณะอาจารย์ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) จะเข้ามาช่วยในการจัดการดูแลหลักสูตรให้กับทุกมหาวิทยาลัยที่อยู่ในโครงการ
3)เรื่องของ Language Literacy เรื่องการเรียนรู้ทางด้านภาษา ขึ้นอยู่กับหลักสูตรของทางมหาวิทยาลัยนั้นๆ
4)เรื่องของ Social Literacy แต่ละมหาวิทยาลัยจะใช้ทักษะและวิธีการในการสร้างปฏิสัมพันธ์กับชุมชน กับสังคม การเข้าถึง การหาข้อมูล หรือระบบการคิดเชิงเหตุและผลต่างๆ
“โครงสร้างของโครงการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย ไม่ใช่เพียงแค่ความร่วมมือกันของมหาวิทยาลัยกับพื้นที่ในชุมชนท้องถิ่น แต่เป็นการร่วมมือกันของทุกภาคส่วน แบบจตุภาคีทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อน เพื่อยกระดับเศรษฐกิจ สังคมรายตำบล ให้มีความครอบคลุมในทุกมิติ ซึ่งสภาหอการค้าและสภาอุตสาหกรรมพร้อมที่จะลงพื้นที่เข้ามาร่วมในการแก้ไขปัญหาต่างๆ นี้ด้วย
มหาวิทยาลัยทั้งหลายเหล่านี้จะช่วยกันในการพลิกโฉมเศรษฐกิจ สังคมระดับชุมชน อย่างเป็นองค์รวมสม่ำเสมอและต่อเนื่อง ระยะเวลาในการดำเนินงาน 1 ปี ชุมชนหรือมหาวิทยาลัยจะมีศักยภาพที่สามารถดำเนินงานต่อได้ และมีฐานข้อมูลระดับตำบลที่บ่งชี้ถึงปัญหาและเข้าแก้ไขได้อย่างตรงประเด็น” นางสุวรรณีฯ กล่าว
ข่าวโดย : นายจิรายุ รุจิพงษ์วาที
ภาพโดย : นายภูมินทร์ ปั้นเล็ก
วิดีโอโดย : นายสุเมธ บุญเอื้อ
ส่วนสื่อสารองค์กร
กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3728 - 3732 โทรสาร 0 2333 3834
Facebook : @MHESIThailand
Call Center โทร.1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.