วันนี้ (10 กรกฎาคม 2563) ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.) พร้อมด้วย ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวง อว., ดร.ณรงค์ ศิริเลิศกุลผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และคณะทำงาน รมว.อว. ร่วมประชุมหารือเรื่อง BCG in Action : The New Sustainable Growth Engine โมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน รวมถึงหารือในเรื่องของ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย กับคณะผู้บริหาร คณาจารย์ และผู้แทนจากสถาบันอุดมศึกษา ณ ห้องประชุม 18 D ชั้น 18 อาคารสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา 1 (ถนนศรีอยุธยา)
ดร.ณรงค์ ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวนำเสนอเรื่อง BCG Economy : โมเดลการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในโลกหลังโควิดว่า แนวทางการพัฒนาหลัก ก็คือ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน สร้างความเข้มแข็งจากภายในโดยเริ่มตั้งแต่ระดับพื้นที่ ระดับประเทศไปสู่ระดับโลก โดยที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังจะต้องเดินหน้าไปด้วยกันในทุกภาคส่วน เรื่องหลัก ๆ ที่มุ่งหวังจะให้เกิดความมั่นคงคือ (1) ความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องของคุณภาพ การจัดการ ของเสีย จนนำไปสู่เรื่องของความมั่นคงทางสาธารณสุข (2) ความมั่นคงทางสาธารณสุข ซึ่งประเทศไทยยังคงระบบสาธารณะสุขที่ดี มีแพทย์ พยาบาลที่มีความเข้มแข็ง (3) ความมั่นคงทางพลังงาน ประเทศนำเข้าพลังงานประมาณ 60% แต่มีความมุ่งหวังที่จะทำให้ไทยมีความมั่นคงทางด้านนี้เพิ่มมากขึ้น (4) หลักประกันการมีงานทำ ต้องมีการกระจายรายได้ลงไปในทุกภาคส่วน และ (5) ความยั่งยืนของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
สำหรับ BCG อว. มุ่งหวังอยู่ใน 4 เรื่องใหญ่ได้แก่ (1) อาหารและการเกษตร (2) สุขภาพและการแพทย์ (3) พลังงาน วัสดุชีวภาพ (4) การท่องเที่ยวเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ที่สำคัญที่สุดก็คือในเชิงนโยบาย การบริหารจัดการ ส่วนวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมยังไม่ถูกมาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพได้มากเท่าที่ควร นอกจากนั้นจำเป็นต้องมีความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเพื่อการขับเคลื่อนงานอย่างมีประสิทธิสูงสุด ประเทศไทยจะต้องเปลี่ยนความท้าทายเป็นโอกาส เนื่องจากประเทศไทยมีจุดแข็งในเรื่องของความหลากหลายทางชีวภาพและความหลากหลายทางวัฒนธรรม สิ่งที่เป็นความท้าทายคือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ, วิกฤติเศรษฐกิจ, โรคระบาด, ภัยก่อการร้าย รวมทั้งมลพิษและสิ่งแวดล้อม นอกจากนั้นยังมีหลักการ : 7 ปรับ เอกชนนำ ภาครัฐส่งเสริม, การลงทุนภาครัฐ, การจัดสรรงบประมาณเพื่อการลงทุนแบบผูกพันต่อเนื่อง, การสนับสนุนทุนวิจัยครบวงจร (วิจัย พัฒนา และผลิต : RDIM), การสร้างอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ใหม่, การเติบโตด้วยการสร้างความแข็งแกร่งภายในและเชื่อมโยงโลก และเดินหน้าไปด้วยกัน ผนึกกำลัง 4 ภาคส่วน
ด้าน ศ.ดร.ศุภชัย รองปลัดกระทรวง อว. กล่าวถึงเรื่อง 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัยว่า Regional BCG ปัจจุบันตอนนี้ทาง อว.มีโครงการที่เสนอขอใช้งบเงินกู้ 4 แสนล้าน โครงการที่ใหญ่ที่สุดก็คือ โครงการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย คือการให้แต่ละมหาวิทยาลัยลงไปดูแลการทำงานแบบบูรณการในแต่ละตำบล ซึ่งเป็นการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบล โดยใจความหลักก็จะเกี่ยวกับเรื่องของ BCG ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจชีวภาพ, ครีเอทีฟ, หรือแม้กระทั่งเรื่องของสุขภาพที่จะพัฒนาเป็นรายตำบล ในโครงการจะมีการจ้างงานทั้งนิสิต นักศึกษา บัณฑิต และประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เพื่อทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัย นอกจากนี้ยังมีอีกหลาย ๆ โครงการที่ อว. ตั้งใจจะดำเนินงานให้เกิดเป็นรูปธรรม
ดร.สุวิทย์ รมว.อว. ให้ความเห็นว่า ต้องร่วมกันผลักดัน Inclusive Growth Engine เศรษฐกิจฐานราก, SME, วิสาหกิจ ต้องร่วมกันทักทอ Infrastructure ไปสู่เวทีโลก ณ วันนี้ถือว่าเป็นการมาร่วมกันซักซ้อมความเข้าใจสำหรับเรื่องนี้ในเบื้องต้น เพราะมหาวิทยาลัยก็ต้องหาแนวทางในการประชุมหารือ เพื่อทำงานร่วมกับเอกชนควบคู่ไปด้วย สิ่งที่เป็นไปได้คือร่วมกันสร้างโอกาสให้กับ SME ด้วยการหาแนวทางเข้าไปช่วยเหลือและเติมเต็มให้เต็มที่ มหาวิทยาลัยที่เป็น Area Base อาทิ ราชภัฏ, ราชมงคล ต้องเข้ามาช่วยกันหาแนวทางว่าจะสามารถสนับสนุนใน 4 เรื่องสำคัญ (1) อาหารและการเกษตร (2) สุขภาพและการแพทย์ (3) พลังงาน วัสดุชีวภาพ (4) การท่องเที่ยวเศรษฐกิจสร้างสรรค์ อย่างไรได้บ้างโดยการผนึกกำลังทำงานร่วมกับชุมชน ซึ่งนั่นจะเกิดเป็นพลังมหาศาลในการพัฒนาขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างมีประสิทธิภาพ
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.