วันนี้ (22 กรกฎาคม 2563) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยี (สส.) สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) ร่วมกับสมาคมเครื่องจักรกลไทย จัดงานแถลงข่าว "ความสำเร็จการพัฒนาสร้างเครื่องจักรต้นแบบ ภายใต้โครงการวิศวกรรมเพื่อการสร้างสรรค์คุณค่า" โดยมี ดร.นพ.ปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ รองปลัด กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานเปิดงาน ณ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ชั้น 1 กรุงเทพฯ
Robotics ถือว่าเป็นกลุ่มผู้ประกอบการเอกชนไทยที่รวมตัวกันเพื่อวิจัยเทคโนโลยีด้านเครื่องจักรกล เพิ่มขีดความสามารถให้กับอุตสาหกรรมการผลิตของประเทศ ลดการนำเข้าเครื่องจักร รวมถึงภารกิจด้านการพัฒนาวิชาชีพและช่างฝีมือแรงานให้กับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม
ดร.นพ.ปฐม รองปลัดกระทรวง อว. กล่าวว่า อว. ได้ให้ทุนวิจัยภายใต้โครงการ "วิศวกรรมเพื่อการสร้างสรรค์คุณค่า" เพื่อทำวิจัยในรูปแบบ Reverse Engineering ซึ่งเป็นการวิจัยเครื่องจักรกลสมัยใหม่จากต่างประเทศ นำมาถอดแบบศึกษาโครงสร้าง ชิ้นส่วนและฟังก์ชันการทำงานต่าง ๆ อย่างเป็นขั้นตอน จากนั้นนำองค์ความรู้ที่ได้มาผสมผสานกับสหวิทยาการที่มีอยู่ ใช้ทรัพยากรในประเทศในการ ออกแบบและสร้างเครื่องจักรกลต้นแบบให้ดีกว่าของเดิม และตรงตามความต้องการของผู้ใช้ เหมาะกับวิถีการผลิตแบบไทย เช่น เมนูการใช้งานเป็นภาษาไทย มีกำลังการผลิตเหมาะสม ราคาถูก และสิ่งสำคัญที่สุดคือสามารถซ่อมแซม บำรุงรักษาได้ด้วยช่างไทย ซึ่งกระบวนการทำ Reverse Engineering เป็นการย่นระยะเวลาในการพัฒนาเทคโนโลยีได้ดี หลายประเทศเริ่มต้นพัฒนาเทคโนโลยีด้วยการทำ Reverse Engineering จนสามารถก้าวกระโดดกลายเป็นประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำได้อย่างรวดเร็ว เช่น ญี่ปุ่น, ไต้หวัน, เกาหลีใต้, และจีน เป็นต้น
ความสำเร็จในการพัฒนาเครื่องจักรกลต้นแบบที่นำมาแถลงข่าวในครั้งนี้มีทั้งสิ้น 7 ผลงาน ประกอบด้วย เทคโนโลยีกลุ่ม robot และ automation 6 ผลงาน และอีก 1 ผลงาน เป็นเทคโนโลยีด้านสิ่งแวดล้อม ได้แก่
(1) โครงการพัฒนาสร้างหุ่นยนต์แบบคาน
พื้นที่ทำงานของหุ่นยนต์แบบคานเลื่อนเหมาะกับอุตสาหกรรมประกอบเหล็ก อู่ต่อเรือ โรงงาน ผลิตอาคารเหล็ก จำเป็นต้องมีกระบวนการตัดเหล็ก เชื่อมเหล็ก แก้ปัญหาแรงงานขาดแคลนเครื่องจักรจากต่างประเทศที่มีราคาสูง ลดต้นทุนการผลิตเพิ่มความเร็วชิ้นงานมาตรฐาน
(2) โครงการพัฒนาสร้างชุดแขนกลหุ่นยนต์แบบเดลต้า
มีการพัฒนาชุดแขนกลให้เชื่อมต่อกับข้อต่อ "Universal joint" ฐานมีมอเตอร์ 3 ตัว เป็นตัวขับเคลื่อนเพื่อควบคุมการเคลื่อนที่ของปลายหัวจับ นิยมใช้กันในกระบวนการผลิตในส่วนที่เรียกว่าหยิบและวางที่ต้องการความเร็วสูง เช่น 200 ชิ้นต่อนาที ออกแบบทั้งระบบทางกล ไฟฟ้า และโปรแกรมควบคุม วิเคราะห์และทดสอบประสิทธิภาพการทำงาน ให้เหมาะสมกับการใช้งานของแต่ละที่ ลดต้นทุนเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตให้กับผู้ประกอบการ และลดการนำเข้าจากต่างประเทศ
(3) โครงการพัฒนาสร้างชุดแขนกลหุ่นยนต์แบบปรับเปลี่ยนร่างได้
ถูกออกแบบให้สามารถกำหนดแกนและมิติในการเคลื่อนที่ได้ ตั้งแต่ 1 ไปจนถึง 6 แกน สามารถเลือกขนาดต่อเติมหรือลกการเคลื่อนที่ได้ตามความเหมาะสม ที่สำคัญเป็นราคาเข้าถึงได้ ช่วยลดต้นทุน เพิ่มขีดความสามารถในการผลิตให้กับผู้ประกอบการและลดการนำเข้าจากต่างประเทศ
(4) โครงการพัฒนาสร้างคลังเก็บยาสำหรับโรงพยาบาล
ใช้หลักการบริหารพื้นที่จัดเก็บ สะดวกในการเข้าถึงสิ่งของที่จัดเก็บไว้ เป็นลักษณะการหมุนลำเลียง สิ่งของที่ระบุมาที่จุดรับ - ส่งสินค้า ซึ่งช่วยความผิดพลาดที่อาจจะขึ้น และยืดอายุการเก็บรักษาเวชภัณฑ์บางชนิดได้นานกว่าการเก็บแบบเดิม
(5) โครงการพัฒนาสร้างรถขนส่งในโรงงานและคลังสินค้า
รถลำเลียงสิ่งของอัตโนมัติแบบสายพานลำเลียงจะมีเซนเซอร์ตรวจสอบการเลื่อนของสายพาน เมื่อถึงจุดหมายที่ต้องส่งสิ่งของสายพานจะเลื่อนเพื่อให้สิ่งของนั้นเคลื่อนตัวออกไปยังจุดรับสิ่งของ ส่วนรถเคลื่อนที่สำหรับอ่านบาร์โค้ดอัตโนมัติ ตัวรถอิงจากแบบรถลำเลียงแต่เพิ่มโครงสร้างสำหรับ scan barcode ติดกล้อง scan barcode เพื่อใช้บันทึกข้อมูลสินค้าภายในคลัง และส่งข้อมูลที่ได้ไปเก็บยังฐานข้อมูล ซึ่งรถทั้ง 2 รูปแบบทำให้การเคลื่อนย้ายสินค้าไวขึ้น มีความแม่นยำในการส่งสินค้า บันทึกยอดสินค้า ลดความผิดพลาดจากพนักงาน
(6) โครงการพัฒนาสร้างเครื่องปรับสภาพวัสดุรองพื้นในโรงเรือนเลี้ยงไก่เนื้อ
ช่วยลดต้นทุนในด้านวัสดุรองพื้นโรงเรือน ลดค่าจ้างแรงงานในการดูแลหรือเปลี่ยนวัสดุ ลดความชื้นและก๊าซที่เกิดจากการหมักหมมของมูลสัตว์ของไก่เนื้อภายในโรงเรือน ซึ่งส่งผลให้คุณภาพซากที่จะได้จากการเลี้ยงมีคุณภาพสูง และไก่เนื้อที่เลี้ยงมีสุขภาพดี
(7) โครงการพัฒนาสร้างออกแบบเครื่องทำความสะอาดห้องเผาไหม้ภายในรถยนต์ด้วยเครื่องผลิตก๊าซไฮโดรเจนจากน้ำ และระบบการบริการ "ไฮโดรคลีนนิ่ง"
“Hydroclean” เครื่องทำความสะอาดห้องเผาไหม้ในรถยนต์ เป็นเครื่องผลิตก๊าซเชื้อเพลิงที่สะอาดไม่มีคาร์บอนไดออกไซด์ ปลอดภัย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นกระบวนการที่ผ่านกระแสไฟฟ้า ใช้เวลา 40 - 45นาที ผ่านชุดควบคุมคำสั่ง ก๊าชไฮโดรเจนที่ถูกปล่อยเข้าไปในห้องเผาไหม้รถยนต์จะจับรวมกับเขม่าคาร์บอนที่ค้างในห้องเครื่องขณะที่มีการเผาไหม้อุณหภูมิสูงและจะถูกขับออกมาพร้อมกับควันจากท่อไอเสีย
ซึ่งโครงการพัฒนาสร้างออกแบบเครื่องทำความสะอาดห้องเผาไหม้ภายในรถยนต์ด้วยเครื่องผลิตก๊าซไฮโดรเจนจากน้ำ และระบบการบริการ "ไฮโดรคลีนนิ่ง" ทำให้ห้องเผาไหม้เครื่องยนต์สะอาดขึ้น ประหยัดน้ำมัน เพิ่มอายุการใช้งานและสมรรถนะให้กับเครื่องยนต์ และลดปัญหาคราบเขม่าควันดำได้ดีขึ้น
สำหรับผู้ที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยี (สส.) สป.อว. โทรศัพท์ : 0 2333 3924 /0 2333 3949 /0 2333 3956 โทรสาร : 0 2333 3932 E-mail : machine@mhesi.go.th
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.