26 มิถุนายน 2562 : ดร.อรสา ภาววิมล รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ “การดำเนินกิจกรรมบนระบบเครือข่ายสารสนเทศเพื่อพัฒนาการศึกษา ครั้งที่ 39” (WUNCA 39th) ณ อาคารไทยบุรี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมี นายขจรเกียรติ รักพานิชมณี รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ดร.ณรงค์เดช รัตนานนท์เสถียร อธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี คณะผู้บริหาร คณาจารย์ วิทยากร ผู้เข้าร่วมงานจำนวนกว่า 700 คน เข้าร่วมการประชุมฯ
ดร.อรสา ภาววิมล รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา กล่าวว่า การประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “การดำเนินกิจกรรมบนระบบเครือข่ายสารสนเทศเพื่อพัฒนาการศึกษา หรือ WUNCA ครั้งที่ 39” ภายใต้กระทรวงใหม่ คือ กระทรวง การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งเป็นการหลอมรวมสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และหน่วยงานหลักทางด้านการวิจัยเข้าด้วยกัน ซึ่งการอุดมศึกษาก็จะเป็นฐานหลักของกระทรวงในการผลิตและพัฒนากาลังคนของประเทศร่วมกับการวิจัย เพื่อสร้างองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อการพึ่งพาตนเองและสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
ภาครัฐได้ลงทุนพัฒนาเครือข่ายสารสนเทศเพื่อพัฒนาการศึกษา (Uninet) เพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีสารสนเทศในระบบการศึกษาของประเทศ โดยให้มีบทบาทสาคัญในการกระจายโอกาสทางการศึกษาและการยกระดับคุณภาพการศึกษาในทุกระดับ ตลอดจนเป็นเวทีในการสร้างเครือข่ายความร่วมมือในด้านการวิจัยระหว่างสถาบันอุดมศึกษาด้วยกัน และกับหน่วยงานวิจัยทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ ความคุ้มค่าในการลงทุนจึงขึ้นอยู่ที่การใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสมและเต็มที่เพื่อการสร้างคนไทยที่มีศักยภาพและสร้างงานวิจัยที่มีมาตรฐานอันนาไปสู่การใช้ประโยชน์อย่างแท้จริง
ผลการดำเนินงานของ UniNet ที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นการให้บริการเครือข่ายอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงแก่สถานศึกษา เพื่อส่งเสริมการจัดการเรียนการสอนของประเทศกว่า 10,700 แห่ง การให้บริการฐานข้อมูลเพื่องานวิจัยสากล 11 ฐาน ตลอดจนระบบเครือข่ายเพื่อการวิจัยข้ามประเทศ รวมทั้งกิจกรรม WUNCA ที่เป็นเวทีเผยแพร่ความรู้ และแลกเปลี่ยนเรื่องราวเกี่ยวกับดิจิทัลสมัยใหม่ของผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ คณาจารย์และนักวิจัย จึงย่อมก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการยกระดับคุณภาพการศึกษาและการวิจัยของประเทศและที่สาคัญคือ เกิดความร่วมมือระหว่างกัน ในการสร้างสรรค์และพัฒนาเครือข่ายสารสนเทศเพื่อพัฒนาการศึกษาให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น
รองศาสตราจารย์ ดร.สมศักดิ์ มิตะถา ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อพัฒนาการศึกษา กล่าวว่าเป็นที่ทราบกันดีว่าเครือข่ายสารสนเทศเพื่อพัฒนาการศึกษา (UniNet) เป็นเครือข่ายที่เชื่อมโยงเครือข่ายความเร็วสูงระหว่างมหาวิทยาลัย/สถาบัน เพื่อกระจายโอกาสทางการศึกษาไปสู่ภูมิภาค และดำเนินกิจกรรมทั้งทางด้านการเรียนการสอนและการวิจัยบนเครือข่ายร่วมกัน รวมถึงการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างสมาชิกที่เชื่อมโยงอยู่บนระบบเครือข่าย ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 UniNet ได้ดำเนินการดังนี้
• ด้านการให้บริการเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง
1) ดำเนินการให้บริการแก่หน่วยงานการศึกษาและหน่วยงานวิจัยทั่วประเทศ จำนวน 10,789 แห่ง และสามารถรองรับการใช้งานอินเทอร์เน็ตสำหรับหน่วยงานต่างๆ ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม, สถาบันการศึกษาต่างๆ ภายใต้สังกัดกระทรวงศึกษาธิการและรองรับการเชื่อมต่อจากสถาบันหรือมหาวิทยาลัยเอกชน
2) การให้บริการอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศ โดยเชื่อมต่อไปยัง IIG และวงจร IPLC (International Private Leased Circuit) ไปยังประเทศสิงคโปร์ ขนาด Bandwidth 120+20 Gbps
3) การให้บริการอินเทอร์เน็ตภายในประเทศ โดยเชื่อมต่อไปยัง CAT-NIX และ BKNIX ด้วยขนาด Bandwidth 30+20 Gbps
4) ดำเนินการปรับปรุงอุปกรณ์ระบบเครือข่ายแกนหลักที่ขนาด Bandwidth อย่างน้อย 100 Gbps จำนวน 6 โหนด ได้แก่ โหนดพญาไท โหนดบางเขน โหนดพระนครศรีอยุธยา โหนดสุพรรณบุรี โหนดนครราชสีมา และโหนดศาลายา ให้ทันสมัยและสามารถรองรับการใช้งานของสถาบันการศึกษาและหน่วยงานวิจัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ
5) อยู่ระหว่างการดำเนินการปรับปรุงการให้บริการของ UniNet ให้เป็นไปตามมาตรฐาน ISO 9001:2015 และมาตราฐาน ISO 27001:2013
• ด้านการให้บริการเครือข่ายเพื่อการศึกษาและวิจัยระหว่างประเทศ
โดยเชื่อมต่อไปยังเครือข่ายงานวิจัยนานาชาติมี 2 เส้นทางคือ เชื่อมโยงไปยังเครือข่ายงานวิจัย APAN-JP ขนาด Bandwidth 1 Gbps และ เชื่อมโยงไปยังเครือข่ายงานวิจัย Asiaconnect ด้วยขนาด Bandwidth ที่เพิ่มขึ้นเป็น 2.6 Gbps เพิ่มรองรับหน่วยงานศึกษาวิจัยที่เพิ่มขึ้น
ซึ่งสำนักงานได้เข้าร่วมกิจกรรมประชุมสัมมนา APAN ครั้งที่ 47 ณ ประเทศเกาหลีใต้ เมื่อวันที่ 18-22 กุมภาพันธ์ 2562 ที่ผ่านมาและจะมีการจัดประชุมสัมมนา APAN ครั้งที่ 48 ณ ประเทศมาเลเซีย ในวันที่ 22-25 กรกฎาคม 2562 นี้ การให้บริการ eduroam โดยมีจำนวนสมาชิกที่เชื่อมต่อทั้งหมด 74 สถาบัน ทั้งนี้ สำนักงานมีความยินดีที่ให้สถาบันการศึกษาเอกชนเข้ามาต่อเชื่อม
• ด้านการให้บริการทรัพยากรการเรียนรู้บนระบบเครือข่าย
1) ดำเนินการบอกรับฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์เพื่อการสืบค้น จำนวน 11 ฐานข้อมูล
2) บริการระบบสืบค้นข้อมูลวิทยานิพนธ์ฉบับภาษาไทย มีสถาบันการศึกษาที่ใช้งาน TDC จำนวน 178 แห่ง และมีประชาชนทั่วไปเข้าใช้บริการมีจำนวน 1,352,669 ครั้ง
3) ระบบสหบรรณานุกรม ปัจจุบันมีสมาชิกมหาวิทยาลัย/สถาบัน จำนวน 84 แห่ง
และปริมาณข้อมูล จำนวน 2,190,000 ระเบียน
4) ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ มีระบบให้เลือกใช้งาน 3 ระบบ คือ ALIST, LM และ Walai AutoLIB ปัจจุบันมีสถาบันการศึกษาและหน่วยงานนำระบบไปใช้งานแล้ว จำนวน 116 แห่ง
5) ระบบบริหารจัดการวิทยานิพนธ์ มีจำนวน 10 สถาบันที่ใช้งาน
การจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ หรือเรียกว่างาน WUNCA เป็นกิจกรรมการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการต่อเนื่องของ UniNet อีกงานหนึ่ง ที่มุ่งเน้นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างสมาชิก UniNet มีวัตถุประสงค์หลัก คือ เพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรที่เป็นสมาชิกในเครือข่ายให้ได้มีโอกาสทำความรู้จักกับเพื่อนสมาชิก เพื่อร่วมกันแลกเปลี่ยนข้อมูล ความรู้ ประสบการณ์ ในการดูแลและบริหารจัดการระบบเครือข่ายของสถาบันการศึกษาร่วมกัน อีกทั้งยังเป็นการสร้างโอกาสอันดีที่บุคลากรผู้ปฏิบัติหน้าที่จะได้มีโอกาสเรียนรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีเครือข่ายที่เกิดขึ้นใหม่ เป็นการรวมกลุ่มสมาชิกที่มีความสนใจในเรื่องเดียวกันเพื่อร่วมกันทำการศึกษา วิจัย และประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการสนับสนุนการศึกษาให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้นต่อไป
ข้อมูลข่าวโดย : กลุ่มงานประชาสัมพันธ์
สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาฯ (ภารกิจด้านอุดมศึกษา)
ถนนศรีอยุธยา โทร 02 0395606-9