นางแน่งน้อย เวทยพงษ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมคณะ ลงพื้นที่ตรวจราชการติดตามการดำเนินงานโครงการสำคัญตามแผนงานบูรณาการพัฒนาพื้นที่ภาค ในส่วนของโครงการพัฒนาเกษตรกร ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (InnoAgri) ซึ่งดำเนินงานโดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) เพื่อส่งเสริมเกษตรปลอดภัยภาคเหนือในพื้นที่จังหวัดกำแพงเพชร ได้แก่ 1.กลุ่มแปลงใหญ่กล้วยไข่ตำบลสระแก้ว ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์น้ำกล้วยไข่ การพัฒนาบรรจุภัณฑ์กล้วยไข่ผลสด การพัฒนาผลิตภัณฑ์จากของเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ดจากลำต้นกล้วยไข่ การขยายพันธุ์กล้วยไข่ (การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ การชำเหง้า) การใช้เทคโนโลยีการเกษตรเพื่อพัฒนาคุณภาพและเพิ่มปริมาณผลผลิตกล้วยไข่ (แปลงสาธิต) 2.วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผลิตภัณฑ์แปรรูปข้าวสร้อยสุวรรณ 3.กลุ่มแปลงใหญ่กล้วยไข่ตำบลท่าพุทรา ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าวเกรียบงาดำจากแป้งกล้วยไข่ คุ๊กกี้ธัญพืชจากแป้งกล้วยไข่ การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ข้าวเกรียบงาดำฯ/ชาเกสรดอกกล้วยไข่/ชาหัวปลีกล้วยไข่ การพัฒนาผลิตภัณฑ์จากของเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น อาหารสัตว์จากใบกล้วยไข่ และการใช้เทคโนโลยีการเกษตรเพื่อพัฒนาคุณภาพและเพิ่มปริมาณผลผลิตกล้วยไข่ (แปลงสาธิต) ระหว่างวันที่ 1-2 กรกฎาคม 2562 ณ จังหวัดกำแพงเพชร
ดร.รจนา ตั้งกุลบริบูรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ วว. กล่าวถึงผลความก้าวหน้าการดำเนินโครงการ InnoAgri ดังกล่าวว่า มีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับเกษตรกรผู้ปลูกกล้วยไข่เป็นเกษตรกรไฮเทค (InnoAgri farmer) ที่สามารถนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ที่เหมาะกับยุคสมัยใช้สำหรับการลดต้นทุนและเพิ่มรายได้ เพื่อยกระดับเกษตรกรผู้ปลูกกล้วยไข่เป็นผู้ประกอบการธุรกิจเกษตร (InnoAgri Entrepreneur) ด้วย วทน.ใช้สำหรับสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ผลิตผล และเพื่อสนับสนุนการสร้างเกษตรนวัตกรรมยั่งยืน (InnoAgri Sustainability) ด้วยการสร้างชุมชนเกษตรนวัตกรรม (InnoAgri Village) ที่มีความสามารถในการนำ วทน. มาใช้เพิ่มผลิตภาพการผลิตกล้วยไข่ตลอดหัวโซ่คุณค่าที่มุ่งเน้น โดยผลลัพธ์ของโครงการในปีงบประมาณ 2562 นั้น เกษตรกรสามารถลดต้นทุนในการผลิตพืช/ สัตว์ร้อยละ 30 มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นหรือสร้างมูลค่าของสินค้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 40 ชุมชนเกษตรกรรมมีรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 10
สำหรับผลความก้าวหน้าการดำเนินโครงการ มีดังนี้ เกษตรกรเข้าร่วมกิจกรรมพัฒนาเกษตรกรไฮเทค 350 ราย เกษตรกรเข้าร่วมกิจกรรมพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจเกษตร 120 ราย ผลิตภัณฑ์ได้รับการพัฒนา/ยกระดับด้วย วทน. จำนวน 16 ผลิตภัณฑ์ ชุมชนต้นแบบการพัฒนาตลอดห่วงโซ่คุณค่า 3 แห่ง และมีการดำเนินการจัดทำสื่อองค์ความรู้ด้านนวัตกรรมเกษตรเพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์.
อย่างไรก็ตามในช่วงภัยแล้งช่วงเดือนธันวาคม 2561 - เดือนเมษายน 2562 และวาตภัยช่วงเดือนพฤษภาคม 2562 ได้สร้างความเสียหายแก่แปลงทดลองสาธิตกล้วยไข่ในพื้นที่ดำเนินโครงการ ได้มีการแก้ไขปัญหาโดยกลไกการบูรณาการ ได้แก่ การกำหนดปฏิทินการปลูกกล้วยให้เหมาะสมกับฤดูกาล และเผยแพร่ผลงานวิจัยการใช้สารควบคุมการเจริญเติบโตเพื่อลดความสูงของกล้วยและการตัดแต่งใบกล้วยในวงกว้าง
ดร.รจนา ตั้งกุลบริบูรณ์ กล่าวสรุปว่า จากการดำเนินงานโครงการ วว. มีข้อเสนอแนะดังนี้ ในระดับพื้นที่ควรมีจัดแนวทางการพัฒนาการผลิตกล้วยไข่ด้วย วทน.เป็นยุทธศาสตร์เร่งด่วนของจังหวัด และในระดับนโยบายควรมีการจัดสรรงบประมาณเพื่อพัฒนาด้านการเกษตร ควรมีระยะเวลาอย่างน้อย 3 ปี เนื่องจากมีภัยธรรมชาติที่ไม่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.