วันที่1 สิงหาคม 2562 ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานเปิดงาน “การประชุมชี้แจงระบบ แผน และแนวทางการจัดสรรงบประมาณให้หน่วยงานในระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม” ที่จัดขึ้นเพื่อให้การออกแบบแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ของประเทศ ถูกนำไปปฏิบัติตามเป้าหมายของกระทรวง อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ณ ห้องแกรนด์ ไดมอนด์ บอลรูม อิมแพค เมืองทองธานี
ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ ได้กล่าวถึงแนวทางใหม่ของการพัฒนาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ว่าการจัดสรรงบวิจัยภายใต้กระทรวงใหม่ ต้องโปร่งใส ตอบโจทย์ เกิดประโยชน์สูงสุด โดย อว. มีสัญญาประชาคม 7 ประการ ในการขับเคลื่อนกระทรวง คือ 1) เน้น “การส่งเสริม สนับสนุน” และ “การกำกับดูแล” 2) ลดทอนบทบาท “การบังคับและสั่งการ” 3) ยกเลิก แก้ไข กฎระเบียบที่ล้าสมัยไม่ตอบโจทย์หรือเป็นอุปสรรคในการขับเคลื่อนภารกิจของสถาบันอุดมศึกษา 4) เน้นการทำงานเชิงภารกิจ เน้นการทำงานเชิงผลสัมฤทธิ์ที่จับต้องได้ 5) เน้นการทำงานเชิงระบบและบูรณาการ 6) เน้นการทำงานที่คล่องตัว กะทัดรัดแต่มีสมรรถนะ และ 7) ทำงานแข่งกับเวลา โดยวาระขับเคลื่อนกระทรวง อว. มุ่งเน้น 4 ประเด็นสำคัญ ได้แก่
1.ปฏิรูปการอุดมศึกษาทั้งระบบ สร้างหลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้ที่เน้นการพัฒนาสมรรถนะและประสบการณ์ ยกระดับคุณภาพการเรียนการสอนให้ได้มาตรฐานสากลและตรงกับความต้องการของตลาด ปรับเปลี่ยนมหาวิทยาลัยเป็น มหาวิทยาลัยผู้ประกอบการ “Entrepreneurial University” เน้นการส่งเสริมสนับสนุนและการกำกับดูแล ลดการบังคับ สั่งการยกเลิก แก้ไขกฎระเบียบที่ล้าสมัย ทบทวนกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระกับอุดมศึกษาแห่งชาติ ปรับปรุงวิธีการขอตำแหน่งทางวิชาการ เป็นต้น
2.สร้างและพัฒนาคน เตรียมพร้อมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21 สร้างโอกาสที่เท่าเทียมในการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อขจัดความเหลื่อมล้ำ พัฒนาบัณฑิตที่จบออกมามีงานทำในสาขาอาชีพใหม่ๆ เป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ สามารถทำงานในตลาดโลก ปรับเปลี่ยนเติมทักษะ เสริมอาชีพให้กับคนทำงานและประชาชนทั่วไปเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง รวมถึง “การศึกษาสำหรับคนสูงวัย”
3.สร้างและพัฒนาองค์ความรู้ : ปรับทิศทางการวิจัยเน้นงานวิจัยที่มีผลกระทบสูง โดยจะมีการยกเครื่องระบบนิเวศของงานวิจัย สร้างคลังปัญญาและเครือข่ายการวิจัยระหว่างประเทศ บูรณาการงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ เน้นการแปลงงานวิจัยให้ออกมาเป็นขีดความสามารถของนวัตกรรมในเชิงธุรกิจ นวัตกรรมสังคม และนวัตกรรมชุมชน
4.สร้างและพัฒนานนวัตกรรม พัฒนาระบบนิเวศที่เอื้อต่อการรังสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ อาทิ การจัดตั้งกองทุนยุว Startups ในสถาบันอุดมศึกษา การพัฒนาตลาดนวัตกรรมในภาครัฐ การบ่มเพาะผู้ประกอบการนวัตกรรม เป็นต้น
“หัวใจสำคัญของงานวิจัยอยู่ที่มหาวิทยาลัย และสถาบันวิจัย ซึ่งเดิมแยกส่วนกัน แต่ตอนนี้ได้อยู่ภายใต้กระทรวงเดียวกัน และตัวจัดสรรงบประมาณผ่านหน่วยงานให้ทุนวิจัยคือ สกสว. และ วช. ดังนั้น การขับเคลื่อนงานวิจัยเพื่อตอบโจทย์ของประเทศจะสามารถทำได้อย่างสมบูรณ์ ซึ่งถือเป็นมิติใหม่และเป็นก้าวแรกของการเปลี่ยนแปลงที่ให้ประชาคมที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยมารวมกัน เกือบ 1,500 คน ประกอบด้วย นักวิจัยจากกระทรวงต่าง ๆ ภาคเอกชนและมหาวิทยาลัย จึงนับเป็นการซักซ้อมความเข้าใจที่จะขับเคลื่อนร่วมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 3 ภารกิจของกระทรวง อว. ได้แก่ การสร้างและพัฒนาคน การสร้างองค์ความรู้ผ่านการวิจัยและพัฒนา และการสร้างนวัตกรรม ทั้งนี้ 1 ใน 3 ของภารกิจดังกล่าว ก็ได้รับการขับเคลื่อนภายในงานครั้งนี้” รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. กล่าว
ด้านศาสตราจรย์นายแพทย์ สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เปิดเผยว่า นับตั้งแต่วันที่ 2 พฤษภาคม 2562 ที่ผ่านมา สกว. ในฐานะหน่วยงานสนับสนุนทุนวิจัย เปลี่ยนบทบาทหน้าที่ใหม่มาเป็น สกสว. มีหน้าที่สำคัญคือ การจัดทำแผน และจัดสรรงบประมาณให้กับหน่วยงานในระบบ ววน. ภายใต้หน่วยงาน มีกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ที่จะจัดสรรในลักษณะ Block Grant และ Multiyear ให้กับแผนงานริเริ่มสำคัญขนาดใหญ่ ซึ่งทำงานร่วมกับสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) โดยในส่วนของร่างแผนด้าน ววน. 2563 - 2565 จะเป็นกรอบและแนวที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 ที่ปรับให้มีเป้าหมายรายสาขาที่คมชัด ภายใต้ 4 มิติ ดังนี้
(1) มิติกิจกรรมเชิงยุทธศาสตร์ จะครอบคลุมกิจกรรมการวิจัย การพัฒนานวัตกรรม การพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้าน การพัฒนาบุคคลากร การพัฒนานิเวศ ววน. ตลอดจนการผลักดันผลงานสู่การใช้ประโยชน์
(2) มิติประเด็น จะประกอบด้วยเรื่อง ประมาณ 10 - 12 เรื่อง และเรื่องย่อย ประมาณ 25 สาขา กำหนดเป้าหมายและแนวทาง เพื่อให้แผนด้าน ววน. ฉบับนี้สามารถนำไปถอดเป็นแผนปฏิบัติการ ววน. ของหน่วยงาน ในระดับแผนงาน โครงการ เพื่อสนับสนุนการสร้างคนและสถาบันความรู้ สร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน และยกระดับคุณภาพชีวิต ตามเป้าหมายของกระทรวง อว. และเจตนารมณ์ของกฎหมายต่อไป
(3) มิติหน่วยงาน เพื่อกำหนดผู้ใช้ประโยชน์ และหน่วยงานสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการพัฒนา ววน. ในสาขาหรือเรื่องย่อยนั้น ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ โดยครอบคลุมหน่วยให้ทุนและหน่วยบริหารจัดการแผนงาน หน่วยปฏิบัติการ หน่วยมาตรฐาน หน่วยขยายผล เป็นต้น
(4) มิติเวลา แผนด้าน ววน. เป็นแผนระยะปานกลาง เพื่อให้สามารถเป็นกรอบในการลงทุนพัฒนา อย่างต่อเนื่อง รวมถึงเป็นกรอบในการที่หน่วยงานจะขอรับจัดสรรงบประมาณแบบ multiyear เน้นการบรรลุเป้าหมายโดยมีตัวชี้วัดเป็นระยะ ทั้งนี้ก็เพื่อให้หน่วยงานในระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้มีข้อมูลในการเตรียมการจัดทำแผนปฏิบัติการด้าน ววน. ของหน่วยงานให้สอดคล้องกับแผนด้าน ววน. 2563 - 2565 ที่มีการยกร่างขึ้น ก่อนขอความเห็นชอบจากสภานโยบายฯ
ข่าว : นางสาวพจนพร แสงสว่าง
ภาพ : นายภูมินทร์ ปั้นเล็ก
วีดีโอ : นายสุเมธ บุญเอื้อ
ส่วนสื่อสารองค์กร กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทร. 02 333 3727 - 3732 โทรสาร 02 333 3834
E-Mail: pr@mhesi.go.th Facebook: sciencethailand
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.