“ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์” รมว.อว. เยี่ยมชม “ศูนย์วิจัยและพัฒนาด้านควอนตัม” มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) เตรียมทุ่ม 100 ล้านบาท ดีเดย์ ปี 2563 ระดมนักวิจัยฟิสิกส์วิศวกรรม วิศวกร นักเทคโนโลยีควอนตัม จำนวนมากถึง 17-20 อัตรา สร้างประโยชน์จากงานวิจัยควอนตัมของประเทศไทยนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและชุมชน รวมถึงการสร้างผลตอบแทนเชิงพาณิชย์
วันนี้ (30 สิงหาคม 2562) ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.) พร้อมด้วย รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ปอว.) และ ศ.สัมพันธ์ ฤทธิเดช เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นำคณะผู้บริหารและหน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ ลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ รับฟังการนำเสนอแผนยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และบทบาทในการพัฒนาภูมิภาค โดยร่วมหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็น แนวทางการนำองค์ความรู้สหสาขาของมหาวิทยาลัย อันประกอบด้วย สาขาวิชาทางด้านวิทยาศาสตร์ สังคมและมนุษยศาสตร์ มาเป็นพลังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ จาก ศ.คลินิก นพ.นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ณ ห้องตะวัน กังวานพงศ์ สำนักงานมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมเยี่ยมชมศูนย์วิจัยและพัฒนาด้านควอนตัม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ต้นแบบและนวัตกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง (deep technology) ที่สามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและชุมชน เป็นรากฐานแกนกลางของการพัฒนาเทคโนโลยีในทุกสาขาอย่างก้าวกระโดดในยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรม รวมไปถึงการสร้างมูลค่าเชิงพาณิชย์ในอนาคต
ดร.สุวิทย์ กล่าวว่า ปัจจุบันนี้มหาวิทยาลัยจะต้องแกนนำหลักในการพัฒนาและส่งเสริมองค์ความรู้ที่คุณภาพและได้มาตรฐานของโลก ทั้งในด้านของการพัฒนาคน การสร้างบัณฑิตคุณภาพ พร้อมสู่ศตวรรษที่ 21 เรียนรู้ที่จะพัฒนาศักยภาพของตัวเองตลอดเวลา ร่วมกันผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว อาทิ Smart Farming, Active Citizen, Zero-Waste และ AI for All ส่งเสริม พัฒนานวัตกรรมชุมชน, นวัตกรรมเชิงธุรกิจ และนวัตกรรมสังคม รวมถึงการปลดล็อก แนวคิดการดำเนินงานในรูปแบบเดิม ต้องปรับเปลี่ยนให้ทันโลกและตอบโจทย์ประเทศ
สำหรับเทคโนโลยีควอนตัม เป็นเทคโนโลยีแห่งศตวรรษที่ 21 ที่โลกกำลังให้ความสนใจ ประเทศไทยต้องเตรียมความพร้อมในการรับมือ เพราะในอนาคตเทคโนโลยีนี้จะเข้ามาในชีวิตของเราอย่างเต็มตัว ต้องมี สถาบันเทคโนโลยีควอนตัมระดับชาติ เพื่อสร้างระบบนิเวศควอนตัมที่สมบูรณ์ ภายใต้เครือข่ายของนักวิจัย นักเทคโนโลยี และการลงทุนจากภาคอุตสาหกรรมผ่านการประสานงานของอุทยานวิทยาศาสตร์ต่างๆ โดยมีเป้าหมายหลัก 2 ประการ คือ สร้างความเข้มแข็งในการพัฒนาเทคโนโลยีควอนตัมของประเทศ ทั้งในแง่ความรู้ฐานราก ในแง่การตื่นตัวและโอกาสของทุนสมองรุ่นใหม่ และ ในแง่ศักยภาพของการพึ่งพาตนเองในด้านวิจัยและพัฒนา อันจะนำไปสู่เป้าประสงค์หลัก คือ การสร้างนวัตกรรมเทคโนโลยีควอนตัม เพื่อนำประเทศไทยก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลางด้วยระบบเศรษฐกิจฐานนวัตกรรมระดับสูง
ดร.สุวิทย์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบัน ประเทศไทย มีจำนวนนักเรียนทุนโครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.) ซึ่งรวมถึงนักเรียนทุนโอลิมปิกฟิสิกส์ที่ได้รับการฝึกทักษะด้านเทคโนโลยีควอนตัมในต่างประเทศได้กลับมาปฏิบัติงานในประเทศไทยแล้วกว่า 16 คน นอกจากนี้ยังมีนักวิจัยหลังปริญญาเอกและนักวิจัยที่กำลังศึกษาอยู่ต่างประเทศอีกจำนวนกว่า 21 คน ทั้งนี้ หากนับรวมนักศึกษาระดับปริญญาโท-เอกภายในประเทศด้วย ตัวเลขนักวิจัยควอนตัมในประเทศไทยจะเกินกว่า 50 คน จำนวนนี้ถือว่าเพียงพอที่จะเป็นบ่อเกิดของกระบวนการรังสรรค์นวัตกรรมฐานเทคโนโลยีควอนตัมในประเทศไทย โครงการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีควอนตัม ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถือว่ามีความสมบูรณ์และความพร้อม เป็นที่รวบรวมบุคลากรที่เก่งด้านฟิสิกส์เป็นจำนวนมาก มีขีดความสามารถเชิงการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ควอนตัมที่โดดเด่น อีกทั้งยังได้ทำการพัฒนาเทคโนโลยีการทดลองและอุปกรณ์วิจัยมากมายเป็นของตนเอง มีความสามารถในการถ่ายโอนเทคโนโลยีดังกล่าวสู่ห้องวิจัยเกิดใหม่ทั่วประเทศ
ด้าน ผศ.ดร.วรานนท์ อนุกูล หัวหน้าห้องปฎิบัติการวิจัยทัศนศาสตร์เชิงอะตอมควอนตัมและอาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์และวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า โครงการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีควอนตัม เพื่อสร้างต้นแบบและนวัตกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง (deep technology) ซึ่งสามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและชุมชน รวมไปจนถึงการสร้างผลตอบแทนเชิงพาณิชย์ ตลอดจนธุรกิจบ่มเพาะอันอาจจะเกิดขึ้นจากต้นแบบนวัตกรรมนั้น ๆ ซึ่งจะส่งผลให้ประเทศไทยเป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมควอนตัมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นการเตรียมพร้อมการสถาปนาสถาบันเทคโนโลยีควอนตัมระดับชาติในอนาคตอันใกล้ ซึ่งจะเป็นรากฐานแกนกลางของการพัฒนาเทคโนโลยีในทุกสาขาอย่างก้าวกระโดดในยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 อย่างมั่นคงยั่งยืนต่อไป โดยเริ่มต้นจากปี พ.ศ. 2563 เป็นต้นไป ด้วยงบการลงทุนเบื้องต้นของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่จำนวน 100 ล้านบาท ผนวกกับแผนงานด้านกำลังนักวิจัยฟิสิกส์วิศวกรรม วิศวกร และนักเทคโนโลยีควอนตัม จำนวนมากถึง 17-20 อัตรา จะทำหน้าที่เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างประโยชน์จากงานวิจัยควอนตัมของประเทศไทยที่สามารถดำเนินการได้ทันที และที่สำคัญเทคโนโลยีควอนตัม ได้ส่งเสริมและสร้างแพลตฟอร์มการทำงานให้กับอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคของภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ ภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงการทำงานร่วมกันระหว่างภาคมหาวิทยาลัยกับภาคอุตสาหกรรม มาระยะหนึ่งแล้วในการสนับสนุนให้เทคโนโลยีควอนตัมสามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์เชิงพาณิชย์ได้ ไม่ว่าจะเป็นการประยุกต์ใช้ในภาคอุตสาหกรรมเพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้มากขึ้น การส่งเสริมให้เกิดสตาร์ทอัพที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่ใช้นวัตกรรมในการสร้างงาน เป็นต้น
ต่อมาในช่วยบ่าย ดร.สุวิทย์ และคณะ พบคณะผู้บริหารเครือข่ายมหาวิทยาลัยภาคเหนือ นำโดย ศ.คลินิก นพ.นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และผู้บริหารมหาวิทยาลัยต่าง ๆ กว่า 50 ท่าน รวม 14 สถาบัน (ม.เชียงใหม่, มทร.ล้านนา, ม.นเรศวร, ม.แม่โจ้, ม.แม่ฟ้าหลวง, ม.พะเยา, มรภ.เชียงราย, มรภ.เชียงใหม่, มรภ.พิบูลสงคราม, มรภ.อุตรดิตถ์, มรภ.กำแพงเพชร, มรภ.นครสวรรค์, มรภ.ลำปาง, มรภ.เพชรบูรณ์) ณ NSP Conference Hall อาคารอำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ (จังหวัดเชียงใหม่) เพื่อมอบนโยบายและกรอบยุทธศาสตร์ อววน. โดยมุ่งเน้นการพัฒนา 4 ด้าน ได้แก่ การพัฒนากำลังคนและสถาบันความรู้ การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ท้าทายของสังคม การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน และการวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่และลดความเหลื่อมล้ำ เพื่อเป็นแนวทางจัดการศึกษาตลอดจนให้บริการและส่งเสริมงานวิจัยต่าง ๆ ให้สอดรับกับการพัฒนายกระดับจังหวัด ภูมิภาค และประเทศชาติต่อไป จากนั้นรับฟังการนำเสนอแนวคิดประสานพลังจากกลุ่มมหาวิทยาลัย และภาพรวมการดำเนินงานอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือจาก ผศ.ดร.ธัญญานุภาพ อานันทนะ ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในฐานะ แม่ข่ายดำเนินงาน และให้เกียรติชมการนำเสนอนวัตกรรมสู่ภูมิภาค ผลผลิตนวัตกรรมสร้างสรรค์ จากมหาวิทยาลัยเครือข่ายอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ ผลงานความสำเร็จของผู้ประกอบการและเหล่า Startup พันธุ์ใหม่ ที่สร้างชื่อและช่วยยกระดับภาพลักษณ์และเศรษฐกิจของประเทศ
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.