วันนี้ (2 กันยายน 2562) เวลาประมาณ 10.00 น. ณ สนามหญ้าหน้าตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะ ให้การต้อนรับ นายมุน แช อิน (Moon Jae-in) ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐเกาหลี และนางคิม จอง ซุก (Gim Jeong-suk) ภริยา ในโอกาสที่เดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ เพื่อกระชับความสัมพันธ์ และขยายความร่วมมือระหว่างไทยและเกาหลี ทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี โดยฝ่ายเกาหลีใต้ ต้องการกระชับความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์กับไทย และดำเนินงานตามนโยบายมุ่งใต้ใหม่ (New Southern Policy-NSP) ส่งเสริมปฏิสัมพันธ์กับประเทศสมาชิกอาเซียนรายประเทศ และความร่วมมือระหว่างเกาหลีใต้กับอาเซียนในฐานะที่ไทยเป็นประธานอาเซียน
เกาหลีใต้เป็นหนึ่งในประเทศหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่มีความสำคัญรอบด้านกับไทย เป็นประเทศคู่ค้า คู่ลงทุนสำคัญ มีนัยสำคัญต่อกันด้านการท่องเที่ยว และมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นในระดับประชาชน นอกจากนี้ เกาหลีใต้ ยังมีบทบาทสำคัญในภูมิภาคเอเชียตะวันออก และพยายามเสริมสร้างบทบาทในเวทีระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง การเดินทางเยือนประเทศไทยของประธานาธิบดีเกาหลีใต้ครั้งนี้ จะเป็นโอกาสดีสำหรับทั้งสองประเทศในการเปิดศักราช ความร่วมมือหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ไทย-เกาหลีใต้ เชื่อมโยงนโยบาย NSP ของเกาหลีใต้ และนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของไทย ต่อยอดจากพื้นฐานของความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน และพัฒนาความร่วมมือให้มีผลเป็นรูปธรรมทั้งในกรอบทวิภาคี อนุภูมิภาค และภูมิภาค นอกจากนั้น ได้มีพิธีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ และบันทึกความเข้าใจระหว่างผู้นำทั้งสองประเทศทั้งสิ้น 6 ฉบับ โดยมี นายกรัฐมนตรีร่วมเป็นสักขีพยาน
ในช่วงบ่าย เวลาประมาณ 14.45 น./ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.) พร้อมด้วย รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ปอว.) และคณะผู้บริหารกระทรวงการอุดมศึกษาฯ เข้าร่วมงาน "Thailand - Korea Business Forum" ซึ่งจัดโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และหอการค้าและอุตสาหกรรมสาธารณรัฐเกาหลี ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล โดยได้รับเกียรติจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษต้อนรับประธานาธิบดี มุน แช อิน คณะนักลงทุนชั้นนำจากสาธารณรัฐเกาหลี และไทยกว่า 600 คนว่า การเดินทางเยือนไทยของประธานาธิบดี มุน แช อิน พร้อมคณะนักธุรกิจชั้นนำในอุตสาหกรรมต่างๆ ของสาธารณรัฐเกาหลีครั้งนี้ เป็นสัญญาณที่แสดงให้เห็นว่านักลงทุนจากสาธารณรัฐเกาหลีให้ความสำคัญกับประเทศไทยในฐานะหุ้นส่วนเศรษฐกิจการลงทุน
นโยบายมุ่งใต้ใหม่ (New Southern Policy-NSP) ของประธานาธิบดี มุน แช อิน ที่ประกาศขยายความร่วมมือด้านต่างๆ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจไปสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นนโยบายที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจของไทยและอาเซียนจึงอยู่ระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจด้านต่างๆ อย่างมีนัยสำคัญและต้องการมหามิตร มาร่วมมือเพื่อสร้างประโยชน์ร่วมกันในอนาคต
รัฐบาลไทยตระหนักถึงบทบาทที่สำคัญของสาธารณรัฐเกาหลี ทั้งด้านการค้าการลงทุน จากการที่สามารถใช้พลังด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมที่เข้มแข็งผสมผสานกับพลังด้านวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์ในการสร้างเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตอย่างก้าวกระโดด ขณะที่ผู้ประกอบการในทุกระดับ รวมทั้งสตาร์ทอัพของสาธารณรัฐเกาหลีก็มีเทคโนโลยีขั้นสูงและนวัตกรรมที่โดดเด่น จุดแข็งต่างๆ ทั้งความสามารถเชิงเทคโนโลยี ประสบการณ์ในหลากหลายอุตสาหกรรมของผู้ประกอบการเกาหลีใต้ ซึ่งได้รับการยอมรับอย่างสูงในระดับโลกเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับความต้องการในการพัฒนาของประเทศไทย ในฐานะที่เป็นประตูสู่ภูมิภาค CLMV และ มีบทบาททางเศรษฐกิจที่สำคัญในอาเซียน
ต่อมา เวลาประมาณ 16.50 น./ ดร.สุวิทย์ รมว.อว. เข้าร่วมประชุมหารือความร่วมมือด้านการพัฒนาและสนับสนุนการเติบโตของวิสาหกิจเริ่มต้น ร่วมกับ Ms. Park Young Sun รัฐมนตรีว่าการกระทรวง SMEs และ Startup สาธารณรัฐเกาหลี พร้อมร่วมเป็นสักขีพยานในพีธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการสนับสนุนวิสาหกิจเริ่มต้น ระหว่าง สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สนช. ร่วมกับ Korea SMEs and Startups Agency (KOSME) ภายใต้กรอบความร่วมมือด้านการพัฒนาและสนับสนุนการเติบโตของวิสาหกิจเริ่มต้นระหว่างประเทศ เพื่อเน้นย้ำความตั้งใจของรัฐบาลในการสนับสนุนกลุ่มวิสาหกิจเริ่มต้น โดยมุ่งหวังให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความพร้อมในการเป็นศูนย์กลาง การเชื่อมโยงของวิสาหกิจเริ่มต้น (Gobal Hub) กระตุ้นความสนใจจากนานาชาติและเพิ่มการลงทุนภายในประเทศนั้นอีกด้วย
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.