วันนี้ (16 กันยายน 2562) ณ โรงแรมโนโวเทล กรุงเทพ สยามสแควร์ ปทุมวัน กรุงเทพฯ/ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สนช.) หรือ (NIA) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ "การหารือแนวทางบทบาทการพัฒนานวัตกรรมของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม" เพื่อให้เกิดความชัดเจนในยุทธศาสตร์และโครงสร้างองค์กรที่สอดคล้องกับบทบาทและหน้าที่ของ สนช. ในการดำเนินงาน โดยมี ผู้บริหาร เจ้าหน้าที่หน่วยงานในสังกัดกระทรวง อว. พร้อมด้วยภาคีเครือข่าย เข้าร่วมประชุม โดย นายพันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เป็นผู้กล่าวรายงาน และได้รับเกียรติจาก ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานการประชุมและมอบนโยบายการดำเนินงาน
ดร.สุวิทย์ กล่าวว่า แนวนโยบายที่จะดำเนินการในอนาคต NIA ต้องยกระดับแผนงานเดิมให้มีความเข้มข้นและเห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นโปรแกรม GROOM GRANT และ GROWTH ต้องส่งเสริมและสร้างผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรม รวมทั้งกระจายโอกาสในการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมในระดับส่วนกลางและภูมิภาคให้เพิ่มมากขึ้น เน้นสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อพัฒนาธุรกิจนวัตกรรม และสร้างธุรกิจนวัตกรรมที่หลากหลายและเข้มแข็ง พร้อมมุ่งยกระดับความสามารถธุรกิจนวัตกรรมของผู้ประกอบการไทยสู่เวทีนานาชาติ และสร้างโอกาสลงทุนเพิ่มในธุรกิจนวัตกรรม ด้วยการเชื่อมโยงระบบเทคโนโลยีและนวัตกรรมจากพันธมิตรต่างประเทศให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สนช.) ถือเป็นหนึ่งในหน่วยงานภายใต้กำกับของกระทรวง อว. และได้ถูกจัดประเภทให้เป็นหน่วยงานในระบบวิจัยและนวัตกรรม ภายใต้กระทรวง อว. เป็นหน่วยงานที่ให้ทุนสนับสนุนการพัฒนาวิทยาศาสตร์ งานวิจัยและนวัตกรรม รวมทั้งการบริหารจัดการงานวิจัยและนวัตกรรม
นายพันธุ์อาจ กล่าวถึง เป้าหมายของการดำเนินงานเพื่อปรับเปลี่ยนประเทศด้วยนวัตกรรม ซึ่งมี 4 หัวข้อหลัก ได้แก่
1. Innovation Infrastructure - การเข้าถึงและใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐานทางนวัตกรรม/ สร้างปัจจัยและมาตรฐานการสนับสนุนรูปแบบใหม่สำหรับธุรกิจนวัตกรรม เพิ่มความสะดวกในการสร้างนวัตกรรม โดยมีเป้าหมายที่จะส่งเสริมและผลักดันนโยบายการพัฒนาพื้นที่ การลงทุนของอุตสาหกรรมและธุรกิจด้านนวัตกรรม ด้วยนวัตกรรมในระดับภูมิภาค ระดับเมือง และระดับย่าน/ พัฒนาศักยภาพบุคลากรผู้ขับเคลื่อนนวัตกรรมเชิงพื้นที่ในประเทศไทย พร้อมทั้งพัฒนาความสามารถด้านนวัตกรรมให้กับนวัตกรและผู้ให้บริการนวัตกรรม รวมทั้ง เร่งการเพิ่มจำนวนนวัตกรและองค์กรนวัตกรรม/ พัฒนาให้เกิด Sectoral Champion ในพื้นที่ และสร้างโอกาสการเข้าถึง โครงสร้างพื้นฐานด้านนวัตกรรม กำหนดทิศทางการขยายผลธุรกิจนวัตกรรมที่มีคุณลักษณะเฉพาะของแต่ละพื้นที่ให้เป็นที่รู้จักและเกิดการยอมรับ
2. Innovation-driven Enterprises - สร้างผู้ประกอบการและบริษัทนวัตกรรมใหม่/ สร้างผู้นำนวัตกรรม พร้อมยกระดับห่วงโซ่มูลค่าด้วยเครือข่ายนวัตกรรม โดยมีเป้าหมายที่จะพัฒนาวิสาหกิจเริ่มต้นและผู้ประกอบการนวัตกรรมรายใหม่ที่ใช้องค์ความรู้ด้าน วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมเป็นส่วนสำคัญในการดำเนินธุรกิจ เพื่อผลักดันประเทศไทยไปสู่ Startup Nation ยกระดับและแก้ปัญหาความสามารถด้านนวัตกรรมของอุตสาหกรรม เป้าหมายผ่านกระบวนการพัฒนาโครงการนวัตกรรมที่จำเป็นต่อการพัฒนา ประเทศ ส่งเสริมและสร้างผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรมและวิสาหกิจเริ่มต้น ทั้งส่วนกลางและภูมิภาค โดยใช้นวัตกรรมแบบเปิดเป็นตัวขับเคลื่อน/ สนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อพัฒนาธุรกิจนวัตกรรม
3. Innovation for Sustainability - สร้างนวัตกรรมเพื่อสังคม ลดความเหลื่อมล้ำ/ นวัตกรรมที่ห่วงใยและแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม และนวัตกรรมที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล ศึกษาแนวโน้มความเปลี่ยนแปลงทั้งในระดับโลกและระดับประเทศ ออกแบบภาพอนาคตการพัฒนานวัตกรรมด้วยการมองอนาคต ส่งเสริมการใช้เครื่องมือการมองอนาคตในภาครัฐและเอกชน
4. Innovation Status in Global Arena - องค์กรนวัตกรรมไทยต้องเติบโตสู่ระดับโลก พร้อมกันกับนวัตกรรมไทยต้องก้าวไปสู่ระดับโลก และต้องเป็นประเทศแห่งนวัตกรรม สื่อสารคุณค่านวัตกรรมของไทย ทั้งในประเทศและต่างประเทศ สร้างภาพลักษณ์แบรนด์นวัตกรรมของไทย ยกระดับการรับรู้ประเทศไทย สู่ประเทศฐานนวัตกรรม
โดย การดำเนินงานดังกล่าว เป็นไปตามแนวทางนโยบายการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ อววน. ผ่านการปรับเปลี่ยนประเทศด้วยนวัตกรรม ของกระทรวง อว. ที่ได้วางไว้ใน 4 แพลตฟอร์ม 16 โปรแกรม ได้แก่ แพลตฟอร์ม 1 การพัฒนากำลังคน และสถาบันความรู้/ แพลตฟอร์ม 2 การวิจัยและสร้างนวัตกรรม เพื่อตอบโจทย์ท้าทายของสังคม/ แพลตฟอร์ม 3 การวิจัยและสร้างนวัตกรรม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน/ แพลตฟอร์ม 4 การวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนา เชิงพื้นที่และลดความเหลื่อมล้ำ
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.