สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) กระทรวงการอุดมศึกษาฯ (อว.) ร่วมกับ CTBTO PrepCom เป็นเจ้าภาพจัดฝึกอบรมนานาชาติ ด้านการตรวจพิสูจน์แผ่นดินไหว ระหว่างวันที่ 28 ตุลาคม - 1 พฤศจิกายน 2562 ณ จังหวัดเชียงใหม่ ดึงผู้แทนกว่า 40 คน จาก 23 ประเทศทั่วโลก ร่วมเสริมความรู้ พัฒนาเทคนิคพิสูจน์แผ่นดินไหว พร้อมยกระดับขีดความสามารถด้านการเฝ้าตรวจการทดลองนิวเคลียร์ทั่วโลก หวังขับเคลื่อนสนธิสัญญาว่าด้วยการห้ามทดลองนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรมในทุกมิติ
นางสาววิไลวรรณ ตันจ้อย เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมการฝึกอบรมนานาชาติ หัวข้อ CTBTO National Data Center (NDC) Capacity Building Workshop and Regional Seismic Travel Time (RSTT) in Combination with Data Sharing and Integration Training ระหว่างวันที่ 28 ตุลาคม - 1 พฤศจิกายน 2562 ณ โรงแรมแชงกรีลา เชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานทางนิวเคลียร์และการตรวจวัดแผ่นดินไหวกว่า 40 คน จาก 23 ประเทศทั่วโลก อาทิ สหรัฐอเมริกา รัสเซีย บังคลาเทศ จอร์แดน คาซัคสถาน กาตาร์ อังกฤษ คูเวต มองโกเลีย ตูนีเซีย เวเนซุเอลา ทาจิกิสถาน ศรีลังกา ซามัว และไทย ซึ่งเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาว่าด้วยการห้ามทดลองนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์ (Comprehensive Nuclear-Test-Ban Treaty Organization : CTBTO) พร้อมเปิดเผยว่า ปส. และ CTBTO ร่วมกันเป็นเจ้าภาพจัดกิจกรรมในครั้งนี้ขึ้น เพื่อเสริมสร้างความรู้เกี่ยวกับสนธิสัญญาว่าด้วยการห้ามทดลองนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์ (Comprehensive Nuclear-Test-Ban Treaty หรือ CTBT) และการทำงานของคณะกรรมาธิการเตรียมการองค์การสนธิสัญญาว่าด้วยการห้ามทดลองอาวุธนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์ ((CTBTO PerpCom) มุ่งหวังเพิ่มขีดความสามารถประเทศสมาชิกให้สามารถดำเนินการตามสนธิสัญญาฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เป็นประโยชน์ระหว่างศูนย์ข้อมูลแห่งชาติ และมีการพัฒนาแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ ให้สามารถระบุจุดที่เกิดแผ่นดินไหวได้อย่างถูกต้องแม่นยำมากยิ่งขึ้น ซึ่งถือเป็นการเตรียมความพร้อมของประเทศสมาชิกก่อนที่สนธิสัญญาฯ จะมีผลบังคับใช้
นางสาววิไลวรรณ กล่าวว่า ประเทศไทยได้ลงนามเป็นภาคีในสนธิสัญญาว่าด้วยการห้ามทดลองอาวุธนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์ กับ CTBTO PrepCom และกับรัฐภาคีอื่น โดยมีความตกลงร่วมกันว่าจะไม่ทดลองอาวุธนิวเคลียร์ หรือระเบิดนิวเคลียร์อื่นใด และให้ความร่วมมือในการจัดตั้งเครือข่ายเฝ้าตรวจการทดลองนิวเคลียร์ทั่วโลก โดยประเทศไทยได้ดำเนินการตามพันธกรณีภายใต้สนธิสัญญา CTBT โดยการจัดตั้งสถานีที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
1. สถานีเฝ้าตรวจนิวไคลด์กัมมันตรังสี อาร์เอ็น 65 (Radionuclide Station; RN65) ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม
2. สถานีตรวจวัดความสั่นสะเทือนของพิภพ พีเอส 41 (Primary Seismic Station; PS41) ณ สถานีวัดความสั่นสะเทือน จังหวัดเชียงใหม่ ภายใต้การดำเนินงานของกรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ
3. ศูนย์ข้อมูลแห่งชาติ เอ็น 171 (National Data Center; NDC N171) ณ ปส.
นางสาววิไลวรรณ กล่าวในตอนท้ายว่า นอกจากผู้เข้าร่วมจะได้ฝึกปฏิบัติการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ทดสอบความถูกต้องในการระบุตำแหน่งและเวลาการเกิดแผ่นดินไหวเพื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลจริงและเหตุการณ์อ้างอิงอื่น ๆ และเข้าศึกษาดูงาน ณ PS41 แล้วนั้น ยังจะได้มีโอกาสในการหารือถึงแนวทางการประยุกต์ใช้ข้อมูลที่ได้จากสถานีตรวจวัดความสั่นสะเทือนของพิภพในงานทางด้านวิทยาศาสตร์และพลเรือนอื่นๆ เช่น การแจ้งเตือนภัยสึนามิ การศึกษาทางด้านธรณีวิทยา อันจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศสมาชิกและภูมิภาคต่าง ๆ เป็นอย่างมาก
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มความร่วมมือและประสานงานระหว่างประเทศ โทร 0 2596 7600 ต่อ 4104
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.