ผู้ประกอบการมันสำปะหลังไทย รับลูก เตรียมสร้างแล็บเฉพาะกิจ นำ 2 เทคโนโลยีจาก ไบโอเทค สวทช. ช่วยเกษตรกรไร่มันฯ ‘คัดกรองท่อนพันธุ์มันปลอดโรค’ เพื่อแก้ปัญหา ‘โรคใบด่างมันสำปะหลัง’ หวังป้องกันผลผลิตเป็นศูนย์!! หากเกษตรกรนำท่อนพันธุ์ติดโรคไปปลูกซ้ำ ช่วง พฤศจิกายน 62-มีนาคม 63 นี้
จากกรณีมีรายงานพบ ‘โรคใบด่างมันสำปะหลัง’ โรคอุบัติใหม่ในพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังหลายแห่งในประเทศไทย ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสชนิด Sri Lankan cassava mosaic virus (SLCMV) โดยสาเหตุสำคัญของการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว คือการนำท่อนพันธุ์ที่เป็นโรคใบด่างมันสำปะหลังมาปลูก เนื่องจากเกษตรกรไม่สามารถแยกต้นที่เป็นโรคได้ เพราะท่อนพันธุ์ยังไม่มีใบให้สังเกตลักษณะผิดปกติ ทำให้เกิดการแพร่ระบาดในพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังหลักของประเทศ ในกรณีที่ระบาดรุนแรงสร้างความเสียหายต่อผลผลิตได้ถึง 80-100 เปอร์เซ็นต์
เมื่อเร็วๆ นี้ ศ.ดร.มรกต ตันติเจริญ ที่ปรึกษาอาวุโส สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นประธานการประชุมเพื่อนำเสนอความรู้ ‘เทคโนโลยีการตรวจวินิจฉัยโรคใบด่างมันสำปะหลัง’ และ ‘เทคโนโลยีเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อสำหรับผลิตท่อนพันธุ์มันสำปะหลังปลอดโรค’ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่นักวิจัย สวทช. และพันธมิตร ร่วมกันคิดค้นและวิจัยขึ้นเพื่อแก้ปัญหาโรคใบด่างมันสำปะหลัง โดยมีสมาคมการค้ามันสำปะหลังไทย สมาคมแป้งมันสำปะหลังไทย สมาคมผู้ผลิตมันสำปะหลังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และสมาคมโรงงานผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังไทยรวมทั้งผู้ประกอบการกว่า 30 คน เข้าร่วมรับฟังเพื่อผลักดันให้เกิดการนำเทคโนโลยีจากงานวิจัยไปประยุกต์ใช้ในการผลิตต้นพันธุ์มันสำปะหลังปลอดโรคและกระจายให้เครือข่ายเกษตรกรเพื่อแก้ปัญหาโรคใบด่างมันสำปะหลัง ณ ห้องประชุม 404 ชั้น 4 อาคารศูนย์ประชุมอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี
ศ.ดร.มรกต ที่ปรึกษาอาวุโส สวทช. เปิดเผยว่า ทีมวิจัยจากห้องปฏิบัติการผลิตโมโนโคลนอลแอนติบอดีและการประยุกต์ใช้ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ได้พัฒนาน้ำยาสำหรับตรวจสอบไวรัสใบด่างมันสำปะหลัง โดยใช้เทคนิคอิไลซ่า (Elisa) ซึ่งเป็นวิธีการที่นิยมแพร่หลาย มีความถูกต้องแม่นยำ น้ำยาที่พัฒนาขึ้นมีความไวในการตรวจมากกว่าน้ำยาที่มีการขายในเชิงการค้า สามารถเตรียมตัวอย่างได้คราวละจำนวนมากกว่า 90 ตัวอย่าง และยังมีจุดเด่นที่สามารถตรวจเชื้อไวรัสจากเนื้อเยื่อบริเวณตาของท่อนพันธุ์มันสำปะหลังที่มีขนาดเล็กตั้งแต่ 0.5 เซนติเมตรมีราคาต่อตัวอย่างเฉลี่ย 13 บาท เท่านั้น ซึ่งถูกกว่าน้ำยาตรวจเชิงการค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศหลายเท่าตัว สวทช. พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีการตรวจวินิจฉัยที่พัฒนาขึ้นให้แก่หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่มีความสนใจ
นอกจากนั้นแล้ว ทีมวิจัยนวัตกรรมโรงงานผลิตพืชสมุนไพร ไบโอเทค สวทช. ยังสามารถพัฒนา ‘เทคนิคเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อมันสำปะหลัง’ ที่สามารถเพิ่มปริมาณต้นมันสำปะหลังปลอดโรคได้ 3-4 เท่าภายในเวลา 4 สัปดาห์ เมื่อนำไปปลูกในสภาพแปลงผลผลิตที่ได้ไม่แตกต่างจากวิธีการปลูกของเกษตรกรที่ใช้ท่อนพันธุ์ปกติ และยังได้ประยุกต์ใช้ ‘เทคโนโลยี mini stem cutting’ ในการตัดท่อนพันธุ์ให้มีขนาดเล็กเหลือเพียง 1-2 ตา (ขึ้นอยู่กับอายุของท่อนพันธุ์) เมื่อนำไปปลูกในสภาพแปลงได้ผลผลิต
ไม่แตกต่างจากวิธีการของเกษตรกรที่ใช้ท่อนพันธุ์ขนาดยาวปลูก ทั้งนี้แนวทางดังกล่าวจะเป็นการประหยัดท่อนพันธุ์มันสำปะหลังและสามารถเพิ่มปริมาณต้นพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว
นายอนุวัฒน์ ฤทัยยานนท์ นายกสมาคมแป้งมันสำปะหลังไทย เปิดเผยภายหลังการประชุมและเยี่ยมชมเทคโนโลยีจาก สวทช. ว่า ภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ สมาคมแป้งมันสำปะหลังไทย ซึ่งมีโรงงานแป้งมันสำปะหลังอยู่ในสมาคมฯ มากกว่า 100 โรงงาน เตรียมการเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังทั่วประเทศที่กำลังประสบปัญหาโรคใบด่างมันสำปะหลัง โดยเตรียมตั้งห้องปฏิบัติการเฉพาะกิจขึ้นมา และนำเทคโนโลยีของ สวทช. ทั้ง 2 เรื่อง คือเทคโนโลยีการคัดกรองท่อนพันธุ์ปลอดโรคใบด่าง
มันสำปะหลัง และเทคโนโลยีการขยายพันธุ์มันสำปะหลังปลอดโรคมาใช้พัฒนาท่อนพันธุ์มันสำปะหลังให้แก่เกษตรกรต่อไป เนื่องจากเกษตรชาวไร่มันฯ จำเป็นต้องใช้ท่อนพันธุ์มันสำปะหลังปลอดโรคทดแทนท่อนพันธุ์มันสำปะหลังเดิมที่ติดเชื้อโรคใบด่างมันสำปะหลังซึ่งต้องทำลายทิ้งเท่านั้น เพื่อลดการแพร่ระบาดของโรค
“ทางสมาคมฯ ต้องช่วยเกษตรกรคัดกรองท่อนพันธุ์มันสำปะหลังปลอดโรคอย่างเร่งด่วน เนื่องจากในช่วงเดือนพฤศจิกายน 62 - มีนาคม 63 นี้ เกษตรกรชาวไร่มันสำปะหลังเตรียมเก็บเกี่ยวมันสำปะหลัง และต้องการท่อนพันธุ์ไปปลูกต่อ ซึ่งหากนำท่อนพันธุ์มันสำปะหลังที่ไม่ได้คุณภาพและติดโรคไปปลูกซ้ำอีก ก็เสี่ยงผลผลิตเสียหายได้ถึง 100 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น จึงต้องช่วยเกษตรกรชาวไร่มันสำปะหลังคัดกรองและผลิตท่อนพันธุ์มันสำปะหลังปลอดโรคให้ได้โดยเร็วที่สุด” นายกสมาคมแป้งมันสำปะหลังไทย ระบุ
ด้าน นายกิตติ สุขสมิทธิ์ บริษัทอุตสาหกรรมแป้งมันบ้านโป่ง จำกัด กล่าวว่า เทคโนโลยีทั้ง 2 เทคโนโลยี ของ สวทช. ถือเป็นมิติใหม่และเป็นประโยชน์ต่อวงการมันสำปะหลังอย่างมาก เพราะสามารถช่วยแก้ปัญหาภาวะโรคใบด่างมันสำปะหลังได้อย่างทันท่วงที เนื่องจากหากปล่อยให้เกิดการระบาดไปเรื่อยๆ จะเกิดวิกฤติภายใน 2 ปีแน่นอน โดยจะส่งผลกระทบตามโมเดลที่นักวิชาการคาดการณ์ไว้คือ จะทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น เกิดการขาดแคลนมันสำปะหลัง สร้างปัญหาต่อทั้งผู้ผลิตผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังและผู้บริโภค ประเทศไทยไม่สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ ดังนั้นจึงอยากฝากรัฐบาลให้หามาตรการและนำนักวิชาการจากหน่วยงานต่างๆ ที่สามารถแก้ปัญหานี้ได้ไปช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ประกอบการเป็นการเร่งด่วน
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.