สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดประชุมเสวนาเรื่อง “เห็ดป่าไมคอร์ไรซา เพื่อการฟื้นฟูป่า สร้างแหล่งอาหารและรายได้ของชุมชน” โดยได้รับเกียรติจาก นายนิธิวัชร์ ศิรโภคาวิโรจน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ เป็นประธานในพิธีเปิดดร.อาภารัตน์ มหาขันธ์ รองผู้ว่าการวิจัยพัฒนาด้านพัฒนาอย่างยั่งยืน ร่วมเสวนาฯ ในวันที่ 25 พฤศจิกายน2562 ณ มหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ จังหวัดแพร่
สำหรับงานเสวนาดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อคืนองค์ความรู้จากการวิจัยสู่ชุมชน แลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์ และแนวคิด ระหว่างหน่วยงานผู้สนับสนุนงบประมาณสำหรับการวิจัย หน่วยงานวิจัย เกษตรกรที่ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการเพาะเห็ดป่าไปแล้ว (10 ชุมชนใน จ.แพร่) เกษตรกรที่จะรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีระยะที่ 2 (10 ชุมชนใน จ.แพร่ น่าน และพะเยา) ในปี 2563 รวมทั้ง นักวิจัย เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องและประชาชนผู้สนใจ ภายในงานมีการมอบกล้าไม้ที่ใส่เชื้อเห็ดเผาะและกล้าไม้ที่ใส่เชื้อเห็ดตับเต่าเป็นที่ระลึกอีกด้วย
อนึ่งเห็ดป่าไมคอร์ไรซาหลากหลายชนิด เช่น เห็ดเผาะ เห็ดระโงก เห็ดตะไคล และเห็ดตับเต่า ที่เจริญออกดอกในพื้นที่ป่าเฉพาะในฤดูฝนนั้น นับเป็นแหล่งอาหารและสร้างรายได้มหาศาลแก่ชุมชนที่อาศัยอยู่โดยรอบพื้นที่ป่าไม้ (รวมทั้งพื้นที่ป่าชุมชน) การเจริญของเส้นใยเห็ดกระทั่งพัฒนาเป็นดอก ของเห็ดกลุ่มไมคอร์ไรซานี้จำเป็นต้องอาศัยต้นไม้ที่จำเพาะกับชนิดของเห็ดโดยเส้นใยของเห็ดจะอาศัยอยู่ที่บริเวณรากฝอยของต้นไม้แบบเกื้อกูลกัน (symbiosis) การออกดอกของเห็ดป่าในแต่ละปีผันแปรตามปัจจัยสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญได้แก่ สภาพอากาศ และ ปริมาณน้ำฝน ดังนั้นผลผลิตจากเห็ดป่าที่เป็นแหล่งอาหารและรายได้หลักของชาวบ้านที่อาศัยอยู่รอบพื้นที่ป่าไม้จึงผันแปรไม่มั่นคง ซึ่ง สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) หรือ BEDO ได้ให้ความสำคัญและจัดสรรงบประมาณ ให้ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ - แพร่ เฉลิมพระเกียรติ ดำเนินโครงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการเพาะเห็ดป่าไมคอร์ซาแบบจำลองธรรมชาติเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนอย่างยั่งยืน” โดยมีกรอบการทำงานหลัก 2 ส่วน ได้แก่ ด้านการวิจัย และด้านการถ่ายทอดองค์ความรู้ และ เทคโนโลยีที่ได้จากผลงานวิจัยสู่ชุมชน เพื่อนำไปสู่การเพาะเห็ดป่าเพื่อสร้างแหล่งอาหารและรายได้ของชุมชนอย่างยั่งยืนในอนาคต การดำเนินงานในส่วนของการวิจัยนั้นได้ สำรวจความหลากหลายและลักษณะทางนิเวศวิทยาของเห็ดป่าไมคอร์ไรซากินได้ในพื้นที่จังหวัดแพร่ พร้อมทั้งนำตัวอย่างเห็ดที่สำรวจพบไปแยกเชื้อเห็ดและทดลองเลี้ยงเชื้อเพื่อเพิ่มปริมาณเส้นใยเห็ดในห้องทดลอง รวมทั้ง คัดเลือกเห็ดที่มีศักยภาพ (มีราคาสูง นิยมบริโภค และชาวบ้านต้องการเพาะ) สำหรับถ่ายทอดสู่ชุมชน ได้ 2 ชนิด คือ เห็ดเผาะ และเห็ดตับเต่า ซึ่งเห็ดทั้ง 2 ชนิด ดังกล่าว สามารถทำหัวเชื้อเห็ดได้ปริมาณมากพอสำหรับใช้ถ่ายทอดเทคนิคการเพาะเห็ดป่าแก่ชุมชนต่อไป สำหรับงานหลักด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยีการเพาะเห็ดป่าให้แก่ชุมชนนั้น ได้ดำเนินการถ่ายทอดให้แก่ชุมชนในพื้นที่ จังหวัดแพร่ จำนวน 10 ชุมชน มีผู้เข้ารับการถ่ายทอด รวม 300 คน จำนวนต้นไม้ที่รับการใส่เชื้อเห็ดเผาะ (ไม้ป่าวงศ์ยาง : Dipterocarpaceae เช่น ยางนา เหียง เต็ง รัง ยางพลวง เป็นต้น) และเห็ดตับเต่า (กลุ่มไม้ผลและไม้ดอก เช่น ลำไย อโวคาโด ขนุน หว้า แคบ้าน กาแฟ และ หางนกยูงไทย เป็นต้น) เพื่อนำไปปลูกรวม 9,663 ต้น รวมทั้งได้จัดทำพื้นที่ต้นแบบสำหรับการเพาะเห็ดป่าไมคอร์ไรซา 4 พื้นที่ ในชุมชนบ้านบุญแจ่ม บ้านทุ่งล้อม บ้านท่อสมาน และ อบต.เตาปูน ทั้งนี้เพื่อใช้เป็นพื้นที่สำหรับวิจัย เรียนรู้และดูงานของชุมชนต่อไป
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.