(28 พฤศจิกายน 2562) โรงแรมปทุมวันปริ๊นเซส - กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) จัดระดมสมองภาครัฐ เอกชน หน่วยบริหารจัดการทุน มหาวิทยาลัย สื่อมวลขน โดยชูมาตราการเร่งด่วนฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจด้วย BCG โมเดล
ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เปิดเผยว่า BCG Model (Bio-Circular-Green Model) คือยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนประเทศไทย โดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อนำประเทศไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยอาศัยกลไกวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการขับเคลื่อน และยังเป็นยุทธศาสตร์ที่ตอบโจทย์ประเทศไทยใน 6 มิติ คือ 1. ต่อยอดจุดแข็งไทยด้านความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรม 2. เชื่อมโยงปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง 3. ตอบโจทย์ 10 ใน 17 เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs 4. ครอบคลุม 5 ใน 10 อุตสาหกรรม S-Curve 5. กระจายโอกาสและความมั่งคั่งสู่เศรษฐกิจฐานรากและเศรษฐกิจภูมิภาค และ 6. สานพลังมหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย ชุมชน เอกชน หน่วยงานภาครัฐและเครือข่ายต่างประเทศ
นอกจากนี้ BCG Model ยังเป็นการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจสังคม และสิ่งแวดล้อมของประเทศ ซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน โดยการผลักดันการพัฒนาภายใต้ BCG Model ต้องผนึกกำลังการทำงานในรูปแบบของ “จตุรภาคี” (Quadruple Helix) ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ, เอกชน/ชุมชน/สังคม, มหาวิทยาลัย/สถาบันวิจัย และเครือข่ายต่างประเทศ เพื่อเลือกรับ พัฒนาต่อยอด และปรับใช้องค์ความรู้และเทคโนโลยีให้เหมาะสมกับบริบทของไทย ซึ่งมีองค์ประกอบสำคัญ 2 ส่วน คือ 4 กลไกการขับเคลื่อน BCG (4 BCG Drivers) และ 4 กลไกการส่งเสริม BCG ในลักษณะ 4X4 Matrix โดย 4 กลไกการขับเคลื่อน ประกอบด้วย 1. การพัฒนา 4 สาขายุทธศาสตร์ที่ครอบคลุมการเติบโตทางเศรษฐกิจ ทั้งด้านอาหารและการเกษตร สุขภาพและการแพทย์ พลังงาน วัสดุและเคมีชีวภาพ ตลอดจนด้านการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ 2. การเตรียมกำลังคน ผู้เชี่ยวชาญและผู้ประกอบการ 3. การพัฒนาเชิงพื้นที่ และ 4. การพัฒนาเทคโนโลยีและองค์ความรู้ขั้นแนวหน้า ส่วน 4 กลไกการสนับสนุนประกอบด้วย 1. ปลดล็อคข้อจำกัดทางกฎหมายและกฎระเบียบต่าง ๆ 2. โครงสร้างพื้นฐานสำคัญและสิ่งอำนวยความสะดวก 3. การสร้างความสามารถของกำลังคน และ 4. ยกระดับเครือข่ายพันธมิตรต่างประเทศ
“เศรษฐกิจ BCG มีความสำคัญต่อประเทศสูงทั้งในมิติด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม เนื่องจากเกี่ยวข้องกับการจ้างงานมากถึงครึ่งหนึ่งของจำนวนการจ้างงานรวม มีมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจรวมกัน 3.4 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 21 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือ GDP ซึ่งครอบคลุม 4 สาขา คือ เกษตรและอาหาร สุขภาพและการแพทย์ พลังงาน วัสดุและเคมีชีวภาพ และการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งมีศักยภาพในการเพิ่มมูลค่าเป็น 4.4 ล้านล้านบาทหรือคิดเป็นร้อยละ 24 ของ GDP ในอีก 5 ปีข้างหน้า หากมองให้เห็นภาพว่า BCG ช่วยยกระดับเศรษฐกิจไทยอย่างไร” ดร.สุวิทย์ กล่าว
รมว.อว. กล่าวถึงรายละเอียดใน 4 สาขา ที่อยู่ใน BCG Model ว่า ในส่วนของการเกษตรและอาหาร ในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา มูลค่า GDP ของสาขาเกษตรเติบโตในอัตราติดลบ การปรับโครงสร้างการผลิตสินค้าเกษตรทั้งระบบจะทำให้มีศักยภาพในการเพิ่ม GDP ของภาคเกษตรได้สูงขึ้นเป็น 1.7 ล้านล้านบาท โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาช่วยยกระดับสินค้าเกษตรสู่มาตรฐานสากล ในส่วนของผลิตภัณฑ์อาหารมีศักยภาพในการเพิ่มมูลค่า GDP จาก 0.6 ล้านล้านบาท เป็น 0.9 ล้านล้านบาท
ด้านสุขภาพและการแพทย์ หากประเทศไทยเร่งรัดการพัฒนาขีดความสามารถด้านการสร้างนวัตกรรมยา วัคซีน ยาชีววัตถุ อุปกรณ์ทางการแพทย์ รวมถึงการวิจัยทางคลินิคและการบริหารจัดการข้อมูลวิทยาศาสตร์การแพทย์รองรับการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ เพื่อลดการนำเข้า ให้ความสำคัญกับนโยบายป้องกันการเกิดปัญหาสุขภาพด้านการแพทย์ มากกว่านโยบายด้านการรักษา มีการขยายบริการด้านสุขภาพไปสู่การให้บริการทางการแพทย์เฉพาะบุคคล ด้วยการใช้ประโยชน์จากข้อมูลพันธุกรรม รวมถึงการสร้างแพล็ตฟอร์มการวิจัยทางคลินิกของประเทศประกอบการสอดประสานการทำงานกับฝ่ายกำกับดูแลของรัฐ ประเทศไทยจะสามารถเพิ่มมูลค่า GDP ในด้านนี้เป็น 90,000 ล้านบาท
ด้านพลังงาน วัสดุและเคมีชีวภาพ มีมูลค่า GDP รวมกันประมาณ 9.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งจัดเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพในการเติบโตสูงจากนโยบายภาครัฐ และยังเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพในการสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการพัฒนานวัตกรรมการผลิตพลังงานที่มีประสิทธิภาพสูงสามารถรองรับของเสียที่หลากหลายทั้งชนิดและคุณสมบัติ ของเสียเหล่านี้เป็นทรัพยากรที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ในรูปของแหล่งพลังงานหมุนเวียนหรือพลังงานทดแทน ในส่วนของวัสดุและเคมีชีวภาพมีศักยภาพในการพัฒนาต่อยอดผลผลิตทางการเกษตรและของเสียไปเป็นสารประกอบ หรือผลิตภัณฑ์เคมีและวัสดุชีวภาพที่มีมูลค่าสูง อาทิ พลาสติกชีวภาพ ไฟเบอร์ เภสัชภัณฑ์ ซึ่งด้วยแนวทางข้างต้นส่งผลให้กลุ่มพลังงาน วัสดุและเคมีชีวภาพ มีศักยภาพในการเพิ่มมูลค่า GDP มากกว่า 2.6 แสนล้านบาท ด้านการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ในกลุ่มนี้ไทยมีศักยภาพในการเพิ่ม GDP ได้เป็น 1.4 ล้านล้านบาท ด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่มจากการกระจายแหล่งท่องเที่ยวสู่เมืองรองโดยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ระบบดิจิทัล สินค้าและบริการซึ่งดำเนินการด้วยชุมชนท้องถิ่น เน้นตลาดคุณภาพ สร้างมาตรฐาน ความสะดวก สะอาด ปลอดภัย ร่วมกับการชูอัตลักษณ์ของแต่ละพื้นที่ โดยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้บริหารจัดการและดูแลระบบนิเวศอย่างเป็นระบบ รวมถึงการพัฒนาสู่แบบแผนการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนด้วย การจัดทำ National Guideline ด้านขีดความสามารถในการรองรับของแหล่งท่องเที่ยว จัดทำระบบบัญชีต้นทุนทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมในเขตพัฒนาการท่องเที่ยวที่สำคัญ รวมถึงการปรับพฤติกรรมของนักท่องเที่ยว และการฟื้นฟูและพัฒนาแหล่งเสื่อมโทรมทางธรรมชาติเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ นอกจากนี้ยังเตรียมความพร้อมของผู้ประกอบการเพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่มีต่อการดำเนินธุรกิจ ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ไทยต้องใช้โอกาสในการใช้องค์ความรู้ และความคิดสร้างสรรค์ เชื่อมโยงกับทุนทางปัญญา ทุนทางวัฒนธรรม และความหลากหลายทางชีวภาพ ส่งเสริมและร่วมมือกับภาคธุรกิจการท่องเที่ยวและธุรกิจบริการ ในการสร้างนวัตกรรมดิจิทัลรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุที่จะส่งผลกระทบโดยตรงกับการท่องเที่ยวในอีก 5-10 ปีข้างหน้า
“เศรษฐกิจ BCG มีศักยภาพในการเพิ่มมูลค่า GDP จากสัดส่วน 21% ของ GDP เป็น 24% ของ GDP หรือจากมูลค่า 3.4 ล้านล้านบาทเป็น 4.4 ล้านล้านบาทใน 5 ปี การเพิ่มมูลค่า GDP จำนวน 1 ล้านล้านบาท จำเป็นที่ประเทศต้องลงทุนเพิ่มเติมโดยให้มีความสอดคล้องกับมูลค่าเพิ่มของแต่ละสาขา อย่างไรก็ดี การนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมไปใช้ร่วมกับความคิดสร้างสรรค์ ส่งผลให้เกิดศักยภาพในการเพิ่มมูลค่าของทุกสาขาเพิ่มขึ้นร้อยละ 5-20 จากมูลค่าผลิตภัณฑ์และบริการรูปแบบเดิม ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2563 อว. ได้จัดสรรงบราว 4,000 ล้านบาท สำหรับการขับเคลื่อน BCG ตลอดจนกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่อง และเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องจำเป็นที่รัฐบาลต้องให้การสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติมโดยมุ่งเน้นในสาขาที่ก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นมากและส่งผลกระทบในวงกว้าง นอกจากนี้ เพื่อให้การขับเคลื่อน BCG รวดเร็วยิ่งขึ้น ใน 3 ปีแรกจึงได้กำหนดสัดส่วนประมาณการมูลค่าการลงทุนเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG ระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนอยู่ที่ 30 : 70 หรือคิดเป็นการลงทุนจากภาครัฐ 15,000 ล้านบาท และเป็นการลงทุนจากภาคเอกชน 35,000 ล้านบาท และหลังจาก 3 ปี รัฐจะลงทุนในสัดส่วนที่ลดลง อย่างไรก็ตาม การพัฒนาเศรษฐกิจ BCG ที่ยั่งยืนนอกจากต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในสังคมแล้ว จะต้องมีการส่งเสริมและปลูกฝังให้เกิดวัฒนธรรม BCG ให้เกิดขึ้นในประเทศ อาทิ การใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ลดของเสียเหลือทิ้ง การอนุรักษ์ธรรมชาติและรักษาสิ่งแวดล้อม” ดร.สุวิทย์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม กระทรวงได้วางโครงการริเริ่มสำคัญที่สร้างผลกระทบสูงเพื่อให้เกิด BCG Economy อย่างเป็นรูปธรรม โดยด้านการเกษตร จะดำเนินการพัฒนาแพลตฟอร์มสมาร์ทฟาร์มแห่งชาติ พร้อมกลไกสนับสนุนแก่วิสาหกิจหรือเกษตรกรที่ต้องการทดลองใช้เทคโนโลยีสมาร์ทฟาร์ม เช่น การอุดหนุนทุนวิจัยให้แก่ผู้ประกอบการที่ต้องการถอดแบบเพื่อปรับปรุงเทคโนโลยีสมาร์ทฟาร์มขั้นสูงจากต่างประเทศ รวมถึงสิทธิประโยชน์สำหรับอุตสาหกรรมผลิตหรือธุรกิจบริการสมาร์ทฟาร์มที่ลงทุนในประเทศ ให้คำปรึกษาแก่ชุมชน ลักษณะเดียวกับการให้คำปรึกษา SMEs ขยายผลการใช้ Agri-Map เพื่อเพิ่มความหลากหลายของสินค้าเกษตร ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต (yield) และประสิทธิภาพการผลิตโดยทำงานร่วมกับเครือข่ายเกษตรกรรุ่นใหม่ เพื่อให้การผลิตสอดคล้องกับความต้องการตลาด รวมถึงพัฒนาศูนย์ทดสอบเครื่องจักรกลการเกษตรให้สามารถรับรองมาตรฐานสากล ด้านอาหาร จะริเริ่มสร้างตลาดกลางและตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าสำหรับสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพของไทยที่เชื่อมโยงกับแพลตฟอร์มการผลิตและพัฒนามาตรฐานสินค้า ตลอดจนโครงการพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อการขับเคลื่อนผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพและส่วนประกอบอาหารสุขภาพมูลค่าสูง ด้านสุขภาพการแพทย์ ริเริ่มการจัดตั้งหน่วยบริหารจัดการการวิจัยทางคลินิก (Clinical Research Organization: CRO) และการผลักดันให้เกิดศูนย์ทดสอบยาและเวชภัณฑ์ โครงการพัฒนายาชีววัตถุและระบบทดสอบผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์เพื่อการขึ้นทะเบียน การค้นหาตัวยาจากสารสกัดธรรมชาติ สมุนไพรไทย โดยใช้เทคโนโลยีตรวจคัดกรองสารออกฤทธิ์พร้อมกันในปริมาณมาก (High-throughput Screening) และการจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมสารสกัดสมุนไพรเพื่อผลิตเครื่องสำอาง/เวชสำอางอย่างครบวงจร ด้านพลังงาน วัสดุ และเคมีชีวภาพ มีโครงการบริหารจัดการชีวมวลและขยะชุมชนเพื่อพลังงานและลดการเผาวัสดุเหลือทิ้งจากการเกษตร สร้างศูนย์กลางอุตสาหกรรมชีวภาพเพื่อลดระยะทางขนส่ง และนำวัตถุดิบทางการเกษตรมาเพิ่มมูลค่าให้สูงขึ้น ริเริ่มโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์พลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพ เพื่อทดแทนพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง และโครงการบริการโรงงานต้นแบบและวิจัยร่วมภาคอุตสาหกรรม ด้านท่องเที่ยวบริการและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ มีโครงการสำคัญที่จะริเริ่มการพัฒนาบุคลากรในท้องถิ่นเพื่อสามารถบริหารการท่องเที่ยวและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว การสร้างเนื้อหาข้อมูล และผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น การพัฒนาระบบบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวด้วยสารสนเทศชุมชน (DMS/DMO) รวมถึงการพัฒนา National Guideline ของการประเมินความสามารถในการรองรับของพื้นที่ (Carrying Capacity) ด้านดิจิทัลเทคโนโลยี มีโครงการขยายผลการใช้ Agri-Map เพื่อลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต (yield) และประสิทธิภาพการผลิตโดยทำงานร่วมกับเครือข่ายเกษตรกรรุ่นใหม่ (Young Smart Farmer) และครอบคลุมสินค้าเกษตรให้หลากหลายมากขึ้น เพื่อให้การผลิตสอดคล้องกับความต้องการตลาด เป็นแพลตฟอร์มเกษตร/อาหารแห่งชาติ บูรณาการข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม ข้อมูลน้ำ และอื่นๆ เชื่อมโยงข้อมูล BCG 5 ภูมิภาค (เหนือบน เหนือล่าง อีสาน ตะวันออก และภาคใต้) รวมถึงรองรับการทำ food traceability ริเริ่มโครงการ National BCG Data Platform สำหรับบูรณาการข้อมูลทั้ง 4 กลุ่ม 5 ภูมิภาคและเทคโนโลยีฐาน (เศรษฐกิจหมุนเวียน) เข้าด้วยกัน และแพลตฟอร์มทางด้านสุขภาพการแพทย์สำหรับประชากรตลอดช่วงชีวิต ส่วนด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน กระทรวงจะยกระดับโครงการต้นแบบเพื่อเป็น Thailand Circular Hub โดยมีการพัฒนาระบบนิเวศสำหรับเศรษฐกิจหมุนเวียน ในพื้นที่บางกะเจ้า จ.สมุทรปราการ และพื้นที่บ้านโป่ง จ.ราชบุรี เพื่อให้เกิดกลไกการขับเคลื่อนการลงทุนระบบจัดการและระบบแยกขยะแบบครบวงจรด้วยนวัตกรรมใหม่ๆ และเกิดการใช้ผลิตภัณฑ์บนฐานเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างแพร่หลาย โดย 34 องค์กรรัฐ-เอกชน-ท้องถิ่น-NGOs พร้อมร่วมขับเคลื่อนการดำเนินงาน ตลอดจนมีการจัดตั้งศูนย์จัดการขยะมูลฝอยชุมชนด้วยเทคโนโลยีการแปรรูปขยะเป็นเชื้อเพลิง ในรูปแบบประสานพลังประชารัฐขับเคลื่อนนวัตกรรมไทย
BCG Model ถือเป็นนโยบายชูธงในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย และเป็นหมัดเด็ดในการนำประเทศฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจสู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่การจะก้าวไปสู่เป้าหมายที่กำหนดต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งพลังความคิดและการลงมือปฏิบัติ การประชุม "BCG in Action - จัดทัพขับเคลื่อน BCG" ในครั้งนี้ จึงเป็นเวทีสำคัญที่จะบูรณะประเทศด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเพื่อขับเคลื่อนนโยบาย BCG
----------------------------------------
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.)
โทรศัพท์ 081-7536119 (แพรประพันธ์) 02160 5432 ต่อ 730 มือถือ 08-0441-5450 (วรรณพร)
Email: pr@nxpo.or.th / Website: www.nxpo.or.th / Facebook: https://www.facebook.com/NXPOTHAILAND
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.