29 พฤศจิกายน 2562 ณ ทำเนียบรัฐบาล/นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมหารือระดับสูงว่าด้วยความร่วมมือระหว่างไทย-ฮ่องกง กับ นางแคร์รี หล่ำ (Carrie Lam) ผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกง สาธารณรัฐประชาชนจีน ภายหลังการประชุมได้มีการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือหรือ MOU 5 ฉบับ โดยมีคณะรัฐมนตรีประกอบด้วย นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เข้าร่วม
ไทย – ฮ่องกง มีความเชื่อมั่นว่าการประชุมฯ ในครั้งนี้เป็นก้าวสำคัญในการกำหนดแนวทางและเป้าหมายของความร่วมมือระหว่างกัน เนื่องจากจะเป็นกลไกเชิงนโยบายที่ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนร่วมหารือกัน โดยที่ประชุมฯ เห็นพ้องส่งเสริมความร่วมมือในด้านต่าง ๆ ดังนี้
1. ด้านการค้าและการลงทุน ทั้งสองฝ่ายยืนยันว่าจะร่วมมือกันผลักดันให้มูลค่าการค้าไทยและฮ่องกงบรรลุเป้าหมาย 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2563 ตามที่ทั้งสองฝ่ายได้ตั้งเป้าไว้ เมื่อปี 2560 พร้อมทั้งเริ่มหารือในเบื้องต้นเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการจัดทำความตกลงการค้าเสรีไทย - ฮ่องกง และการปรับปรุงความตกลงว่าด้วยการคุ้มครองการลงทุนของภาคเอกชนให้สอดคล้องกับบริบทปัจจุบัน
2. ด้านการลงทุนและการโยกย้ายฐานการผลิต ทั้งสองฝ่ายจะร่วมกันส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนในการสร้างเครือข่าย การแลกเปลี่ยนการเยือน และการร่วมกิจกรรมระหว่างกัน โดยมุ่งยกระดับศักยภาพของผู้ประกอบการทั้งสองฝ่าย
3. ด้านการเงิน ทั้งสองฝ่ายจะร่วมกันขับเคลื่อนการเชื่อมโยงตลาดหลักทรัพย์และตลาดทุนของกันและกัน ผ่านผลิตภัณฑ์การลงทุนชนิดใหม่ ๆ นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายจะร่วมมือกันเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานกำกับดูแลตลาดหลักทรัพย์เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงข้อมูลการตลาด โดยเฉพาะการทำ regulatory mapping ซึ่งจะปูทางไปสู่ผลิตภัณฑ์ด้านการเงินใหม่ ๆ รวมถึงผลิตภัณฑ์การลงทุนสีเขียว (ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม)
4. ด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยที่คนไทยและฮ่องกงต่างมี “พลังแห่งความสร้างสรรค์” (creative power) อยู่มาก อาทิ ในด้านภาพยนตร์ ละคร โฆษณา การออกแบบ สองฝ่ายจึงจะร่วมกันพัฒนาและเสริมสร้างให้มีการใช้พลังนั้นเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์และบริการของทั้งสองฝ่าย ซึ่งจะมีการจัดทำแผนงานร่วมกันต่อไป
5. ด้านการส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้น (Start-up) ด้านดิจิทัลและเทคโนโลยี ทั้งสองฝ่ายตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างระบบนิเวศของการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม และได้รับทราบถึงพัฒนาการที่เป็นรูปธรรมระหว่าง Hong Kong Cyberport และ Innospace Thailand และแสดงความพร้อมที่จะส่งเสริมความร่วมมือในลักษณะดังกล่าวให้มีมากยิ่งขึ้น โดยจะร่วมกันสนับสนุนการดำเนินการแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ การทำวิจัยร่วม เพื่อส่งเสริมให้ Start-up เข้าสู่ตลาดโลกได้ง่ายขึ้น
สำหรับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้มีการลงนาม MOU 1 ฉบับ ระหว่าง สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กับ Hong Kong Science and Technology Park Corporations (HKSTP) เกี่ยวกับการสนับสนุนวิสาหกิจเริ่มต้น (Startups) และสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ครอบคลุม 4 ด้าน ได้แก่ 1.การสนับสนุนการ Soft-Landing ของบริษัททั้งสองฝ่าย (เช่น ให้ข้อมูล BOI และการจดทะเบียน บริษัท เป็นต้น) 2.Joint-Incubation Program (การบ่มเพาะวิสาหกิจเริ่มต้นร่วมกัน) 3.การจัดกิจกรรม Start-up Pitching ร่วมกัน 4.การดำเนินการจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) ระหว่างผู้ประกอบการทั้งสองฝ่าย 5.Co-investment (การร่วมลงทุน) ในวิสาหกิจเริ่มต้นที่น่าสนใจร่วมกัน โดยหัวข้อที่ประเทศไทยสนใจและฮ่องกงมีความเชี่ยวชาญและสามารถร่วมมือกันได้แบบ Win-Win ได้แก่ AI, Fin-tech, Bio-tech และ Digital technology
ข่าว : นายปวีณ ควรแย้ม
ภาพ : นายสกล นุ่นงาม
ส่วนสื่อสารองค์กร กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทร. 02 333 3727 – 3732 โทรสาร 02 333 3834
E-Mail: pr@mhesi.go.th Facebook: MHESIThailand
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.