เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2562 ณ ลานสยามดิสคัฟเวอรี่ พลาซ่า: กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด ร่วมจัดกิจกรรมในโครงการ “Circular Living Campaign 2019” โดย สวทช. ได้นำ ไอออนเฟรซ (IonFresh) เครื่องกรองอากาศแบบไฟฟ้าสถิต (Electrostatic Air Purifier)
ซึ่งพัฒนาโดย ทีมวิจัยศูนย์เทคโนโลยีเพื่อความมั่นคงของประเทศและการประยุกต์เชิงพาณิชย์ สวทช. ติดตั้งที่บริเวณใต้ต้นคริสต์มาส Magical Christmas Tree โดยเครื่อง IonFresh จะช่วยลดปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 มีอัตราการกรองอากาศ 5,000 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง เพื่อกรองอากาศให้กับประชาชนทั่วไปเป็นของขวัญในช่วงเทศกาลแห่งความสุขส่งท้ายปี กิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้น ณ ลานสยาม ดิสคัฟเวอรี่ พลาซ่า ตั้งแต่บัดนี้ ถึง 11 มกราคม 2563
การสร้างสรรค์ต้นคริสต์มาส Magical Christmas Tree สยามดิสคัฟเวอรี่ ร่วมกับ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ จีซี และได้รับการสนับสนุนจากศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน และ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) คิดค้นประดิษฐ์ผลงานต้นคริสต์มาสในแนวรักษ์โลก ซึ่งในปีนี้นำเสนอภายใต้แนวคิด “Clean Air Eco Christmas Tree” ออกแบบเป็นรูปกังหันใบพัดสีขาวทำจากวัสดุเป็นแผ่นกระดาษเคลือบพลาสติกชีวภาพทำจากอ้อย ข้าวโพด มันสำปะหลังจำนวน 1,000 ใบ ขนาด 70 × 50 เซนติเมตร สำหรับปีนี้บริเวณใต้ต้นคริสต์มาส (Magical Christmas Tree) ได้เพิ่มความพิเศษมากกว่าทุกปี คือ มีเครื่องกรองอากาศ ‘IonFresh’ เป็นเครื่องกรองอากาศแบบไฟฟ้าสถิต (Electrostatic air purifier) สำหรับใช้งานภายนอกอาคารจำนวน 4 เครื่อง วิจัยและพัฒนาโดย ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อความมั่นคงของประเทศและการประยุกต์เชิงพาณิชย์ (National Security and Dual-Use Technology Center –NSD) สวทช.
ดร.ศิวรักษ์ ศิวโมกษธรรม ผู้อำนวยการศูนย์ NSD สวทช. เปิดเผยว่า ทีมวิจัย สวทช. มุ่งมั่นวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีให้นำไปสู่ผลิตภัณฑ์ที่มีการถ่ายทอดสู่ภาคเอกชนใช้งานได้จริง และแก้ไขปัญหาของประเทศได้ สำหรับเครื่องกรองอากาศแบบไฟฟ้าสถิต IonFresh เป็นการพัฒนาเทคโนโลยีการกรองฝุ่นละอองขนาดอนุภาคเล็กกว่า 2.5 ไมครอน หลักการทำงานของเครื่อง IonFresh อาศัยการตกตะกอนเชิงไฟฟ้าสถิต IonFresh จะสร้างประจุบวกให้ไปจับกับฝุ่นละออง จากนั้นอนุภาคของฝุ่นละอองจะถูกดูดเข้าไปติดที่แผ่นโลหะซึ่งมีประจุลบภายในเครื่อง อากาศที่ออกมาจึงเป็นอากาศสะอาด อย่างไรก็ดีเป้าหมายของการพัฒนาเทคโนโลยีเครื่องกรองอากาศระบบไฟฟ้าสถิต ทีมวิจัย NSD ต้องการนำไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่กึ่งปิดกึ่งเปิด โดยเฉพาะในพื้นที่เซฟโซนสำหรับเจ้าหน้าที่กู้ไฟป่าได้พักทำงานบริเวณพื้นที่เกิดเหตุต่าง ๆ เช่น ไฟป่า เพลิงไหม้ รวมถึงพื้นที่โถงขนาดใหญ่ให้ผู้หลบภัยชั่วคราว เป็นต้น
“จุดเด่นของเครื่อง IonFresh คือ สามารถกรอง ‘ฝุ่น PM 2.5’ และเมื่อฝุ่นละอองเกาะเต็มแผ่นโลหะสามารถถอดไปล้างทำความสะอาดแล้วนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ที่สำคัญการกรองฝุ่นแบบระบบไฟฟ้าสถิต ออกแบบแผงกรองฝุ่นให้ลมผ่านง่าย ไม่ลดแรงลมในการดูดกรองฝุ่นละออง ทำให้พัดลมดูดฝุ่นทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยให้ประหยัดไฟฟ้า สำหรับต้นแบบเครื่อง IonFresh ที่นำมาติดตั้งใน Clean Air Eco Christmas Tree ครั้งนี้ เป็นแบบใช้งานภายนอกอาคาร มีจำนวน 4 เครื่อง มีอัตราการสร้างอากาศบริสุทธิ์รวม 5,000 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง (ราว 1,200 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมงต่อ 1 เครื่อง) เพื่อช่วยลดปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ในพื้นที่ภายนอกหรือพื้นที่ควบคุม” ผู้อำนวยการศูนย์ NSD สวทช. กล่าว
สำหรับอนาคตนอกจากทีมวิจัย NSD สวทช. จะพัฒนาไปใช้ในพื้นที่สาธารณะขนาดใหญ่แล้วยังมองไปถึงการกำจัดฝุ่นที่แหล่งกำเนิด ทั้งในโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ยังไม่มีการใช้เทคโนโลยีป้องกันฝุ่นละอองออกสู่สาธารณะเนื่องจากเทคโนโลยีต่างประเทศยังมีราคาแพงอยู่มาก แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีเครื่อง IonFresh สามารถพัฒนาและผลิตได้แล้วในประเทศโดยนักวิจัยไทยและราคาถูกกว่าต่างประเทศหลายเท่า
ขอเชิญชวนประชาชนมาร่วมค้นพบประสบการณ์ความสุขพร้อมไอเดียรักษ์โลกในงาน “Siam Discovery The Magical Eco Playground Celebration 2020” ที่ลานสยาม ดิสคัฟเวอรี่ พลาซ่าใกล้แยกปทุมวัน กทม. ตั้งแต่บัดนี้ถึง 11 มกราคม 2563
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.