16 ธันวาคม 2562 : นางอรสา ภาววิมล รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา เป็นประธานเปิดการสัมมนา เรื่องความเป็นสากล เชื่อมโยงถึงความเท่าเทียมระหว่างเพศ สู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (The Roles of Higher Education Internationalization in Achieving Sustainable Development Goals: Gender Equality in the Thai Context) ณ โรงแรมพูลแมน คิงพาวเวอร์ กรุงเทพฯ โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนาประกอบด้วยคณาจารย์ นักวิชาการและนักศึกษาจากสถาบันอุดมศึกษา และหน่วยงานต่างๆ ประมาณ 130 คน กิจกรรมประกอบด้วยการบรรยายและการเสวนาโดยเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้มาแสดงความคิดเห็นร่วมกับอาจารย์และผู้แทนจากภาคประชาสังคม
สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาฯ จัดการสัมมนาในครั้งนี้ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ ศูนย์ SEAMEO RIHED และมูลนิธิการศึกษาไทย-อเมริกัน (ฟุลไบร์ท) โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก UNESCO เพื่อให้เป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในด้านการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศในบริบทของสังคมไทย และเพื่อสะท้อนให้เห็นว่าในความเป็นสากลของอุดมศึกษานั้นควรเชื่อมสู่การศึกษาด้านความเป็นพลเมืองโลกซึ่งรวมเรื่องของการเข้าใจในหลักสิทธิมนุษยชน ประเด็นเหล่านี้เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals)
ดร.อรสา ภาววิมล รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา กล่าวเปิดการประชุมโดยชี้ให้เห็นว่า เมื่อมองนโยบายในระดับโลกสู่ระดับประเทศ จะเห็นถึงกรอบการพัฒนาที่มีความเชื่อมโยงกันทั้งในมิติด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ที่มี “คน” เป็นหัวใจสำคัญ และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนซึ่งเป็นวาระการพัฒนาของโลกก็ให้ความสำคัญต่อการขจัดความเหลี่อมล้ำทางเพศในการศึกษา รวมถึงการศึกษาเพื่อความเป็นพลเมืองโลกที่ต้องมีความรู้ความเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชน ความเสมอภาคระหว่างเพศ การส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งความสงบสุข รวมถึงการพัฒนาบทบาทของสตรีและเด็กผู้หญิง ซึ่งเชื่อมโยงสู่ยุทธศาสตร์ชาติที่ให้ความสำคัญต่อการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคมโดยไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง ดังนั้น สถาบันการศึกษาต้องจัดการศึกษาให้แก่ผู้เรียนอย่างเต็มที่และเท่าเทียมกันโดยไม่เลือกปฏิบัติ
Mr. Shigeru Aoyagi ผู้อำนวยการยูเนสโกกรุงเทพฯ กล่าวถึงการที่หลายประเทศยังมีช่องว่างในเรื่องความเท่าเทียมระหว่างเพศ การลดช่องว่านั้นควรอาศัยการปรับเปลี่ยนทัศนคติและบรรทัดฐานของสังคมในภาคการศึกษาก็ยังมีปัญหาความไม่เท่าเทียมกันโดยเฉพาะในภูมิภาคแอฟริกา สำหรับประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกรวมทั้งไทยมีจำนวนนักศึกษาหญิงในระดับอุดมศึกษามากกว่านักศึกษาชาย แต่ในสาขา STEM ยังมีนักศึกษาหญิงเป็นจำนวนน้อย ซึ่งในเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนข้อที่ 4 ว่าด้วยเรื่องของการศึกษา ได้ให้ความสำคัญกับการขจัดความเหลื่อมล้ำทางเพศ และการจัดการศึกษาที่เข้าถึงได้สำหรับผู้เรียนทุกคน
นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล นำเสนอเรื่องของการรณรงค์เพื่อลดความรุนแรงทางเพศและการที่ผู้หญิงเป็นผู้ถูกทำร้าย สื่อที่ทำให้ผู้หญิงดูด้อยกว่าผู้ชาย ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของปัญหาความไม่เท่าเทียมระหว่างชายหญิง รวมทั้งค่านิยมและทัศนคติที่ว่าผู้ชายต้องเป็นใหญ่ งานบ้านเป็นเรื่องของผู้หญิงเท่านั้น ซึ่งประเด็นปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นทั้งในเมืองและชนบท และภาคการศึกษาควรต้องปรับปรุงหลักสูตรที่ควรสร้างความตระหนักถึงความเท่าเทียมกันระหว่างชายหญิง รวมทั้งนำไปสู่การปรับเปลี่ยนค่านิยมและทัศนคติให้เห็นว่าผู้หญิงและผู้ชายมีความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน
นอกจากนี้ยังมีการเสวนาแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่จะช่วยสร้างความเสมอภาคระหว่างเพศ เช่น การสอดแทรกเรื่องของเพศสภาวะในเนื้อหาวิชาต่างๆ การเปลี่ยนความเชื่อและวิธีคิด (Mindset) การส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยทำวิจัยเพื่อการพัฒนา การลงพื้นที่ทำงานกับชุมชนเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางสังคม การส่งเสริมให้เด็กผู้หญิงได้เรียนในสาขา STEM ซึ่งหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบด้านกิจการนักศึกษาในมหาวิทยาลัยก็ควรให้นักศึกษาหญิงและผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศได้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการบริหารจัดการและการตัดสินใจด้วย.
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.