27 ธันวาคม 2562 : ศาสตราจารย์สัมพันธ์ ฤทธิเดช เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนาและมอบนโยบายการคัดเลือกนักศึกษาเพื่อรับรางวัลพระราชทานระดับอุดมศึกษา ณ ห้องแกรนด์ บอลลูม โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพฯ โดยมี ผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษา คณะกรรมการดำเนินงานคัดเลือกนักศึกษาเพื่อรับรางวัลพระราชทาน ระดับอุดมศึกษา และผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาฯ เข้าร่วมการประชุม
เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษาฯ กล่าวว่า สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกอ.เดิม) ได้ดำเนินการคัดเลือกนิสิต นักศึกษา ระดับอุดมศึกษา ที่มีผลการเรียน กิจกรรมและมีผลงานดีเด่น เพื่อเข้ารับพระราชทานเกียรติบัตร เข็มเชิดชูเกียรติ และเงินรางวัลพระราชทาน ตั้งแต่ปีการศึกษา 2547 ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งการคัดเลือกนักศึกษาเพื่อรับรางวัลพระราชทานนี้ เป็นงานที่ดำเนินการเพื่อสนองพระราชปรารภของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ที่ทรงพระราชทานรางวัลให้นักเรียน นักศึกษาที่มีความประพฤติดี และมีความมานะพยายาม ในการศึกษาเล่าเรียน ถือเป็นภารกิจสำคัญ เพราะนอกจากจะเป็นโอกาสอันดีในการทำกิจกรรมที่สนองพระราชปรารภแล้ว รางวัลพระราชทานยังเป็นการกระตุ้นให้เกิดการพัฒนามาตรฐานคุณภาพการศึกษาของชาติให้ดียิ่งขึ้น พระองค์ทรงมีวิสัยทัศน์กว้างไกล ทรงเล็งเห็นความสำคัญในการส่งเสริมการศึกษาของชาติ รวมทั้งทรงพระราชทานขวัญกำลังใจแก่นักเรียน นักศึกษาที่มีความประพฤติดี มีผลการเรียนดี มีคุณธรรม จริยธรรม ที่สมควรเป็นต้นแบบของเยาวชนของชาติ ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทร มหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงได้สานต่อพระราชปณิธานให้ดำเนินงานสืบสานการคัดเลือกนักเรียน นักศึกษาเพื่อรับรางวัลพระราชทาน เพื่อให้นักเรียน นักศึกษาได้ตระหนักถึงการเป็นเยาวชนที่ดีของชาติ
การคัดเลือกนักศึกษารวมไปถึงนักศึกษาพิการเพื่อรับรางวัลพระราชทาน ระดับอุดมศึกษา เป็นหนึ่งในพันธกิจที่สำคัญของสำนักงานฯ ที่ต้องให้ความสำคัญในกระบวนการ และขั้นตอนการคัดเลือกนักศึกษาที่มีความโดดเด่นทั้งในด้านกิจกรรม/ผลงาน จิตอาสา มีความรู้คู่คุณธรรม ซึ่งสถาบันอุดมศึกษาจะต้องตระหนักถึงความสำคัญในการคัดเลือกนักศึกษาที่เป็นตัวแทนของสถาบันให้มีความพร้อมตามคุณสมบัติครบทุกด้าน แสดงให้เห็นถึงคุณลักษณะพื้นฐานและกิจกรรมผลงานที่โดดเด่นที่สมควรจะได้รับรางวัลพระราชทาน ประเด็นสำคัญ คือ ขั้นตอนและกระบวนการในการดำเนินการคัดเลือกนักศึกษาเพื่อเป็นตัวแทนของสถาบัน รวมถึงกระบวนการประเมินและคัดเลือกนักศึกษาเพื่อรับรางวัลพระราชทานของคณะอนุกรรมการประเมินและคัดเลือกนักศึกษา ระดับเขต และของคณะอนุกรรมการประเมินและคัดเลือกนักศึกษาพิการฯ ควรจะต้องให้ความสำคัญในการประเมินและคัดเลือกนักศึกษาโดยคำนึงถึงคุณลักษณะในทุกๆ ด้านของนักศึกษาที่สมควรจะได้รางวัลพระราชทาน ประกอบด้วย ด้านความรู้และสามารถ ด้านทักษะความเป็นนักคิด นักบริหารจัดการ ทักษะการเป็นผู้นำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง รวมทั้งด้านบุคลิกอุปนิสัยเป็น ผู้ที่มีจริยธรรมและค่านิยมที่ดีงามอยู่ในพื้นฐานของจิตใจ เช่น การมีจิตอาสา การมีวินัยในตนเอง มีความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม มีความเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข รวมถึงการมีทัศนคติและค่านิยมเพื่อการปฏิสัมพันธ์ที่ดี ตลอดจนการมีจิตสำนึกในจริยธรรมสากล
“ความภาคภูมิใจในความร่วมมือร่วมใจกันของคณะกรรมการฯ และอนุกรรมการฯ ในการคัดเลือกและประเมินนักศึกษาเพื่อรับรางวัลพระราชทานครั้งนี้ นับได้ว่าเป็นงานที่มีเกียรติ เป็นสิริมงคล สมควรที่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายจะต้องดำเนินการด้วยความรอบคอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการคัดเลือกนักศึกษาเพื่อเสนอชื่อเข้ารับรางวัลพระราชทานในระดับสถาบันอุดมศึกษาในแต่ละเขต ซึ่งคณะอนุกรรมการประเมินและคัดเลือกนักศึกษาฯในระดับเขต และคณะอนุกรรมการประเมินและคัดเลือกนักศึกษาพิการฯ จะต้องให้ความสำคัญในกระบวนการประเมินอย่างมีหลักเกณฑ์ บริสุทธิ์ ยุติธรรม มีใจเป็นกลาง ไม่โน้มเอียงไป ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ และคณะอนุกรรมการฯ ควรใช้ดุลพินิจในการพิจารณาตัดสินผลการคัดเลือกอย่างถูกต้อง และเป็นธรรมตามหลักเกณฑ์และแนวปฏิบัติที่สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาฯ กำหนด เพื่อให้ได้นักศึกษาที่สมควรได้รับรางวัลพระราชทานอย่างแท้จริง” เลขาธิการ กกอ. กล่าวในตอนท้าย
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.