(15 มกราคม 2563) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สอวช.) จัดการประชุมคณะกรรมการอำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ครั้งที่ 1/2563 โดยมี ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.) เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วย นางสุวรรณี คำมั่น เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาฯ, รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาฯ, ดร.กิติพงศ์ พร้อมวงศ์ ผู้อำนวยการ สอวช., คณะผู้บริหาร กรรมการ และผู้ทรงคุณวุฒิเข้าร่วมประชุม
ดร.กิติพงศ์ ผอ.สอวช. กล่าวชี้แจงถึงระเบียบวาระ เรื่องเพื่อทราบต่อที่ประชุมในวันนี้ว่า มีดังนี้
1. เรื่อง แนะนำสภานโยบาย และ สอวช.
2. เรื่อง บทบาทของคณะกรรมการอำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ
3. เรื่อง การแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูงของ สอวช.
ดร.กิติพงศ์ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา สอวช. ได้ดำเนินการขับเคลื่อนระบบ อววน. 2 เรื่อง คือ 1. การจัดทำนโยบายและยุทธศาสตร์ อววน. พ.ศ. 2563 - 2570 และการจัดทำกรอบงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยออกแบบให้มีการจัดสรรงบประมาณแบบ Platform Management ดังนี้ แพลตฟอร์มที่ 1 การพัฒนากำลังคนและสถาบันความรู้ แพลตฟอร์มที่ 2 การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ท้าทายของสังคม แพลตฟอร์มที่ 3 การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน และแพลตฟอร์มที่ 4 การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่และลดความเหลื่อมล้ำ ขณะเดียวกัน สอวช. ยังได้ริเริ่มการวิจัยเชิงระบบ เพื่อให้เห็นภาพใหญ่ของประเทศว่าตอนนี้ประเทศอยู่จุดไหน ต้องเดินต่อไปอย่างไร ซึ่งจะทำให้สามารถรู้ทิศทางในการขับเคลื่อนประเทศและสามารถกำหนดนโยบายได้อย่างตอบโจทย์และชัดเจน ซึ่งการวิจัยเชิงระบบจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงประเทศอย่างมาก
ด้าน ดร.สุวิทย์ รมว.อว. กล่าวว่า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มุ่งผลักดันในเรื่องของ “BCG Model” การพัฒนา 3 เศรษฐกิจ คือ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ไปพร้อมๆ กัน เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรม โมเดลดังกล่าวจะช่วยสนับสนุนให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน กระจายรายได้ โอกาส และความมั่งคั่งแบบทั่วถึง
BCG จะเป็นกลไกขับเคลื่อนที่เป็นรูปธรรมของ Thailand 4.0 และการปฏิรูปประเทศ นอกจากนั้น ยังมีกลไกขับเคลื่อนประเทศในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่สำคัญ คือ Earth-Space System ระบบโลกและอวกาศ ซึ่งเป็นการสร้างจุดเปลี่ยนสําคัญในการผลักดันให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและความสามารถในการแข่งขันที่เหมาะสม เพื่อก้าวสู่ความเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีที่เป็นโจทย์ท้าทายของโลก สร้างความเชื่อมั่นในการลงทุนจากภาคเอกชนและนำไปสู่การเป็นเจ้าของเทคโนโลยีและผู้ส่งออกเทคโนโลยี รวมถึงการเพิ่มศักยภาพบุคลากรเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีและการรับมือภัยคุกคามอันเกิดจากพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ล้ำยุค การพยากรณ์อากาศที่แม่นยำ การเฝ้าระวังและเตือนภัยล่วงหน้าจากภัยพิบัติธรรมชาติ ผลกระทบจากมลพิษในดิน น้ำและอากาศ และเสริมสร้างความมั่นคงและยั่งยืนในการป้องกันประเทศ รวมถึงการผลักดันเรื่อง AI Intelligent System อีกด้วย
นอกจากนั้น การประชุมในครั้งนี้ มีระเบียบวาระเสนอต่อที่ประชุม เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ ดังนี้
1. เรื่อง ระเบียบ กอวช. ว่าด้วยผู้ขับเคลื่อนพันธกิจเฉพาะเรื่อง พ.ศ. ...
2. เรื่อง การกำหนดเครื่องหมายของเครื่องแบบผู้อำนวยการ สอวช. และพนักงาน สอวช.
รวมไปถึงข้อเสนอแนะต่างๆ เพื่อการป้องกัน และแก้ไขข้อผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.