วันที่ 13 มกราคม 2563 ดร. นภาพร อาร์มสตรอง รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านกิจการอุดมศึกษาเอกชน ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้แทน สป.อว. รับมอบหลักสูตรสิทธิมนุษยชนศึกษาพื้นฐานที่หลากหลาย พร้อมทั้งร่วมเป็นวิทยากรในการเสวนา เรื่อง “การขับเคลื่อนสิทธิมนุษยชนศึกษาจากองค์ความรู้สู่การปฏิบัติ : หลักสูตรสิทธิมนุษยชนศึกษาสำหรับกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลาย” ในการสัมมนาวิชาการ เรื่อง “การเผยแพร่และการขับเคลื่อนสิทธิมนุษยชนศึกษา (Human Rights Education) ในสังคมไทย” ซึ่งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) จัดขึ้นเพื่อประชาสัมพันธ์และส่งมอบ “หลักสูตรสิทธิมนุษยชนศึกษาสำหรับกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลาย” และ “คู่มือการจัดการเรียนรู้สิทธิมนุษยชนศึกษาสำหรับการศึกษาขั้นพื้นฐาน” ให้แก่หน่วยงานภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคการศึกษา และภาคประชาสังคม โดยมีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดการสัมมนา ณ โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ
ทั้งนี้ ดร. นภาพร อาร์มสตรอง ได้เสนอมุมมองในการเสวนาว่า การจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาตามพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ. 2562 ต้องเป็นไปตามหลักการ ดังนี้ (1) หลักความรับผิดชอบต่อสังคม (2) หลักเสรีภาพทางวิชาการ (3) หลักความเป็นอิสระ (4) หลักความเสมอภาค (5) หลักธรรมาภิบาล และ (6) หลักการอื่นตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา นอกจากนี้ ใน พ.ร.บ.ดังกล่าว ยังได้มีการกำหนดสาระในเรื่องการคุ้มครองผู้เรียนและบทกำหนดโทษ ซึ่งเป็นการคุ้มครองสิทธิของผู้เรียนและผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการอุดมศึกษา ซึ่งกล่าวได้ว่าโดยหลักการดังกล่าวสอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนเป็นอย่างยิ่ง
“โดยหลักความเสมอภาคได้กำหนดให้สถาบันอุดมศึกษาต้องจัดการศึกษาให้แก่ผู้เรียนอย่างเต็มที่และเท่าเทียมกัน ไม่เลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมไม่ว่าด้วยเหตุผลความแตกต่างเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ ความพิการ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา หรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ หรือเหตุอื่นใด นอกจากนี้ สถาบันอุดมศึกษาต้องจัดสรรงบประมาณหรือรายได้ตามสมควรเพื่อเป็นทุนการศึกษาให้แก่ผู้เรียนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา จึงเห็นได้ว่าหลักการดังกล่าวในภาคส่วนอุดมศึกษาทั้งในภาพกระทรวงและสถาบันอุดมศึกษามีจุดมุ่งหมายที่สนับสนุนหลักการของสิทธิมนุษยชนอย่างครอบคลุมทุกมิติ” ดร. นภาพร กล่าว
ดร. นภาพร กล่าวต่อว่า สำหรับภารกิจด้านการส่งเสริมการวิจัยและนวัตกรรมนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องมีกรอบด้านจริยธรรมและแนวทางในการปกป้องสิทธิและคุ้มครอง ทั้งผลงานวิจัย ผู้ทำวิจัย และบุคคลผู้เกี่ยวข้อง โดยได้มีการกำหนดมาตรฐานการวิจัย ซึ่งเป็นข้อกำหนดเกี่ยวกับคุณลักษณะและคุณภาพที่พึงประสงค์ของการวิจัยและนวัตกรรมที่ต้องการให้เกิดขึ้นในทุกกระบวนการของการวิจัยและนวัตกรรมอย่างเป็นระบบและสอดคล้องกับมาตรฐานสากล ทั้งนี้ รวมถึงจริยธรรมที่นักวิจัยพึงปฏิบัติด้วย
ในด้านการเผยแพร่และการขับเคลื่อนสิทธิมนุษยชนศึกษา (Human Rights Education) ในสังคมไทยนั้น ดร. นภาพร กล่าวว่า ตามที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้แทนนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการจัดทำหลักสูตรสิทธิมนุษยชนว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง เป็นการวางรากฐานสำคัญให้เด็กรู้จักสิทธิ เข้าใจสิทธิ และไม่ละเมิดสิทธิ ดังนั้น การนำหลักสูตรสิทธิมนุษยชนศึกษาพื้นฐานที่ได้รับมอบไปเพื่อเผยแพร่ให้สถาบันอุดมศึกษานำไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินการจัดการเรียนการสอน ซึ่งมีตั้งแต่หลักสูตรด้านสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะในระดับปริญญาตรี-โท-เอก หรือหลักสูตรอื่นๆ ในหมวดการศึกษาทั่วไป และวิชาเลือก จึงเป็นสาระสำคัญที่จะสนับสนุนการสร้างองค์ความรู้และการวิจัยด้านสิทธิมนุษยชนมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นการเผยแพร่ขยายผลในวงกว้างอย่างเป็นระบบในสังคมไทยตามเจตนารมย์ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ
สำนักติดตามและประเมินผลอุดมศึกษา : ข้อมูลข่าว
ปราณี ชื่นอารมณ์ : เผยแพร่ข่าว
กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สป.อว.(ภารกิจด้านการอุดมศึกษา)
ถนนศรีอยุธยา ราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
https://www.facebook.com/opsMHESI/
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.