วันที่ 31 มกราคม 2563 กรุงเทพฯ ประเทศไทย - Mr. Pirkka Tapiola เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย พร้อมเอกอัครราชทูตกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป และคณะผู้แทนทางการค้าจากประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป เป็นเจ้าภาพจัดการหารือโต๊ะกลมเพื่อเปิดโอกาสในการสร้างและขยายความร่วมมือร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในเรื่อง BCG Model: การพัฒนาเศรษฐกิจ 3 มิติ คือ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) สำหรับประเทศไทย นำโดยผู้แทนฝ่ายไทยคือ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พร้อมด้วย ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และผู้บริหารจาก สวทช.
ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า BCG Model เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตแบบก้าวกระโดด กระจายโอกาส กระจายรายได้ และนำความมั่งคั่งไปสู่ชุมชนในท้องถิ่นอย่างทั่วถึง นำพาประเทศไทยก้าวข้ามกับดักประเทศรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศรายได้สูง และมีการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืน ซึ่งเศรษฐกิจแนวใหม่ BCG Model มุ่งพัฒนาตอบโจทย์ครอบคลุมทุกภาคส่วน ทั้งในภาคการเกษตรและอาหาร ด้านพลังงานและวัสดุ ด้านสุขภาพและการแพทย์ และด้านการท่องเที่ยว จะสามารถนำพาประเทศไปสู่การเป็นผู้นำการผลิตอาหารคุณภาพ 1 ใน 5 ของโลก เพิ่ม GDP เป็น 4.3 ล้านล้านบาท ลดความเหลื่อมล้ำของสังคมและสร้างงาน รวมถึงสร้างรายได้ให้กับทุกภูมิภาคของประเทศ โดยกระบวนการขับเคลื่อนจะมุ่งเน้นการบริหารจัดการและนโยบายนวัตกรรม ผ่านความร่วมมือระหว่าง ภาครัฐ ภาคเอกชนและประชาชน (PPP) ตลอดจนบูรณาการความร่วมมือของหลายกระทรวง
“การหารือโต๊ะกลมในครั้งนี้ เป็นการสร้างโอกาสที่ดีในการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น วิสัยทัศน์และแผนงานของรัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับ BCG Model รวมทั้งการหารือในการสร้างความร่วมมือแบบได้รับประโยชน์ร่วมกัน (win-win) ระหว่างประเทศไทย และประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปในการวิจัยพัฒนานวัตกรรมเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบาย BCG Model ให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น” ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ กล่าว
Mr. Pirkka Tapiola เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย กล่าวว่า สหภาพยุโรปกำลังลงทุนในข้อตกลงยุโรปสีเขียว หรือ European Green Deal ซึ่งเป็นกลไกขับเคลื่อนเพื่อการเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป เพื่อเพิ่มอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของยุโรป การลดความเหลื่อมล้ำ การเพิ่มคุณภาพชีวิต โดยสหภาพยุโรปต้องการร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อให้หลักการข้อตกลงยุโรปสีเขียวได้รับการส่งเสริมในระดับนานาชาติ โดยสหภาพยุโรปได้นำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาประยุกต์ใช้กับวงจรการผลิต การบริโภค การจัดการขยะและของเสีย รวมถึงการนำกลับมาใช้ใหม่ โดยในสองปีที่ผ่านมา สหภาพยุโรปได้ลงทุนไปเกือบ 1.1 พันล้านยูโร (33 พันล้านบาท) ในการวิจัยและพัฒนา รวมไปถึงการสนับสนุนโครงการวิจัยเพื่อเป็นการริเริ่ม ส่งเสริมและสนับสนุนกลยุทธ์ด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน
โดยในระหว่างการหารือฯ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ ได้นำเสนอภาพรวม BCG Model เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน พร้อมนี้ ผู้บริหาร สวทช. ได้นำเสนอโครงการวิจัยและโครงสร้างพื้นฐานที่สนับสนุน BCG Model เพื่อตอบโจทย์นโยบายรัฐบาล รวมทั้งความคืบหน้าการสร้างเขตส่งเสริมนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor of Innovation: EECi) ตั้งอยู่ในบริเวณวังจันทร์วัลเล่ย์ จ.ระยอง พื้นที่ 3,000 ไร่ และบริเวณอุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ครอบคลุมพื้นที่ 120 ไร่ เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมและชุมชนด้วยการพัฒนาวิจัยและนวัตกรรม การเตรียมความพร้อมรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรสมัยใหม่และอุตสาหกรรมไบโอรีไฟเนอรี เพื่อส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากผลผลิตจากภาคเกษตรกรรมและความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานขั้นสูง เช่น โรงงานสาธิต Industry 4.0 Testbed 4G (The 4th Generation) Synchrotron Facility, Autonomous Vehicle Testing and Living Laboratory and High Performance Computing Facility เพื่อรองรับอุตสาหกรรม s-curve
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์ละเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
ด้านความร่วมมือระหว่างประเทศ คุณภาวิกา เรือนน้อย โทร 0 2117 6935 E-mail: Phawika.rue@nstda.or.th
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สวทช. คุณวีระวุฒิ ฟุ้งรัตนตรัย โทร. 081 614 4465 E-mail: Werawut.fun@nstda.or.th
เผยแพร่ข่าว : นางสาวพจนพร แสงสว่าง
ภาพนิ่ง : นายภูมินทร์ ปั้นเล็ก
วีดีโอ : นายสุเมธ บุญเอื้อ
ส่วนสื่อสารองค์กร กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทร. 02 333 3727 - 3732 โทรสาร 02 333 3834
E-Mail: pr@mhesi.go.th Facebook: MHESIThailand
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.