วันนี้ (3 กุมภาพันธ์ 2563) ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.) พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกระทรวง อว. ประชุมหารือร่วมกับ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ และผู้อำนวยการโรงพยาบาลของโรงเรียนแพทย์จากทั่วประเทศ เรื่อง “การเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์การติดเชื้อไวรัสโคโรนา” ณ ห้องประชุมวิจิตร ศรีสอ้าน ชั้น 5 สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม อาคารถนนศรีอยุธยา โดยดำเนินการซักซ้อม เตรียมการความพร้อมทั้งด้านบุคลากรทางการแพทย์ การดูแลผู้ป่วย ตลอดจนเครื่องมือ อุปกรณ์ ยาและเวชภัณฑ์ ของโรงพยาบาลภายใต้สังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมทั้งประสานความร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้เตรียมรับมือกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
โดยหลังการประชุม ดร.สุวิทย์ รมว.อว. เปิดเผยว่า การประชุมหารือในครั้งนี้ เป็นการซักซ้อม เตรียมความพร้อมให้กับคณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลของโรงเรียนแพทย์จากทั่วประเทศ ภายใต้สังกัดกระทรวง อว. และชี้แจงถึงบทบาทของกระทรวง เพื่อรองรับสถานการณ์การติดเชื้อไวรัสโคโรนา สำหรับการดูแลนักศึกษา ทางกระทรวง อว. มีการประกาศมาตรการที่จะดูแลนักศึกษาต่างชาติ ที่มาศึกษาต่อในประเทศไทย รวมทั้งนักศึกษาไทยที่ศึกษาอยู่ในประเทศที่มีการระบาด โดยมีมาตรการ อาทิ การดูแลสุขภาพของนักศึกษาจีนที่อยู่ในประเทศไทย หากนักศึกษาเหล่านั้นกลับไปประเทศจีน ก่อนจะเดินทางกลับมาประเทศไทยให้ปฏิบัติอย่างไร รวมทั้งเมื่อกลับมาเรียบร้อยแล้ว มหาวิทยาลัยจะดำเนินการดูแลอย่างไร อีกส่วนหนึ่งคือ นักศึกษาไทยที่อยู่ในประเทศจีน ได้มีการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้รับทราบถึงสถานการณ์ ดูแลความเป็นอยู่ ความปลอดภัยของนักศึกษา ที่อยู่ในเมืองอู่ฮั่น และประเทศต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยต่างๆ ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการอุดมศึกษาฯ มีคณะแพทยศาสตร์จำนวน 23 แห่ง ซึ่งโรงพยาบาลมีจำนวนกว่า 14,475 เตียง มีแพทย์และพยาบาลวิชาชีพ มากกว่า 23,758 คน พร้อมรับสถานการณ์ไวรัสโคโรน่าดังกล่าวได้อย่างทันท่วงที
รมว.อว. กล่าวต่อว่า ได้มอบหมายให้ทางสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษาฯ ดำเนินการร่วมกับเครือข่ายต่างๆ สนับสนุนการให้ทุนวิจัยอย่างเร่งด่วน ผ่านความต้องการของประเทศ เพื่อให้เข้าใจเรื่องใน 5 ประเด็น ดังนี้
1. เรื่องของการศึกษาตัวเชื้อ ลักษณะทางพันธุกรรมของเชื้อ โดยเฉพาะหากมีการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม
2. การศึกษาแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ เพื่อเข้าใจการแพร่กระจายของเชื้อ ซึ่งจะทำให้สามารถที่จะเข้าถึงผู้ที่มีการติดเชื้อ และไม่ให้มีการแพร่กระจายออกไป
3. การวินิจฉัย ชุดตรวจวินิจฉัยที่แม่นยำ รวดเร็ว
4. วิเคราะห์สถานการณ์และการเปลี่ยนแปลงของการระบาดต่าง ๆ หากมีข้อมูลใหม่เพิ่มเติม จะมีศูนย์ปฏิบัติการที่ดูแลเรื่องข้อมูลและการกรอกข้อมูลต่าง ๆ
5. การพัฒนายาและวัคซีน เพื่อใช้ในการควบคุมและป้องกัน
อย่างไรก็ตาม ทาง วช. ได้ดำเนินการเรื่องดังกล่าวไปเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ ศูนย์ปฏิบัติการของกระทรวง อว. จะเป็นกำลังเสริมในการเชื่อมโยงการดำเนินงานของศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขของกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานอื่น ๆ ต่อไป
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.