เมื่อวันที่ 25 พ.ย. พญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนาวิชาการ “Insight THE LINE: Saudi Arabia’s Vision 2030 : โอกาสลงทุนของผู้ประกอบการไทยในซาอุดีอาระเบีย” จัดโดย กลุ่มนักศึกษาระดับปริญญาเอกสาขาบริหารธุรกิจอิสลาม มหาวิทยาลัยเกริก ณ ห้อง Grand Meroz 1 โรงแรมอัล มีรอช กรุงเทพฯ วิทยาลัยนานาชาติอิสลามกรุงเทพ
พญ.เพชรดาว กล่าวว่า ในงานวันนี้มีมหาวิทยาลัยหลายแห่ง องค์ชั้นนำ ทั้งภาครัฐและเอกชนที่ให้ความสนใจ เพราะต่างมีเป้าหมายเดียวกันในการทำความเข้าใจต่อโอกาสการลงทุนในประเทศซาอุดีอาระเบียภายใต้วิสัยทัศน์ 2030 (Vision 2030) ผ่านผู้ที่มีประสบการณ์ตรง มีความเชี่ยวชาญและปฏิบัติจริง เข้าใจถึงปัญหา อุปสรรค และโอกาสของนักธุรกิจไทยในซาอุดีอาระเบีย โดยมีเป้าหมายคือ “เปลี่ยนแปลงประเทศ จากเดิมที่เน้นการพึ่งพารายได้จากน้ำมัน เป็นการพึ่งพารายได้จากภาคธุรกิจ เปลี่ยนแปลงสังคมให้เท่าทันยุคเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ ส่งเสริมให้ประชาชนดำเนินธุรกิจในประเทศ ปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมที่แห้งแล้งเป็นพื้นที่สีเขียวและรักษาธรรมชาติแบบยั่งยืน พลิกฟื้นประเทศด้วยการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และการรักษามรดกทางประวัติศาสตร์” สิ่งเหล่านี้จึงเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญทั้งในมุมของนักธุรกิจและนักการศึกษาที่ต้องเข้าใจต่อทิศทางที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งหนึ่งในเป้าหมายดังกล่าวคือการพัฒนา “โครงการ The Line”
พญ.เพชรดาว กล่าวต่อว่า โครงการ The Line เป็นเมืองอัจฉริยะ หรือที่รู้จักกันดีว่าเป็น “เมืองกระจก” ที่ยาวพาดผ่านทะเลทรายถึง 170 กิโลเมตร สูง 500 เมตร โดยคาดการณ์ว่าจะรองรับผู้อยู่อาศัยถึง 9 ล้านคน แน่นอนว่าการสร้างเมืองใหม่แห่งนี้จำเป็นจะต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวกและสถานที่ต่าง ๆ ไว้รองรับ ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียน มหาวิทยาลัย โรงพยาบาล สนามกีฬา สวนสาธารณะ และที่อยู่อาศัย และภายในเมืองดังกล่าวจะไม่ใช้รถยนต์ในการขนส่ง ทั้งนี้เพื่อสอดรับนโยบายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เราจะเห็นว่าโครงการ The Line เป็น Mega Project ของซาอุดีอาระเบีย แต่ที่กล่าวมานั้นเป็นเพียงแค่โครงการเดียวซึ่งอยู่ภายใต้ NEOM ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่ล้วนแล้วเป็นโอกาสสำคัญทางธุรกิจของไทยทั้งสิ้น
“สำหรับประเทศไทยอย่างน้อยมีข้อได้เปรียบทางธุรกิจกับซาอุดีอาระเบียหลายประการ 1. เมื่อซาอุดีอาระเบียมีการพัฒนาประเทศ จำเป็นจะต้องมีการเพิ่มแรงงานที่มีทักษะในหลาย ๆ ด้าน ซึ่งไทยมีศักยภาพด้านแรงงานและทักษะอาชีพ ดังนั้นแรงงานที่มีทักษะจะตอบโจทย์กับการทำงานในซาอุดีอาระเบีย อย่างไรก็ตาม อาจต้องพัฒนาในเรื่องของข้อตกลงด้านค่าแรงที่เพิ่มขึ้นให้เหมาะสมกับค่าครองชีพที่สูงในซาอุดีอาระเบีย 2. การก่อสร้างในซาอุดีอาระเบียกำลังเติบโต ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์จึงมีโอกาสสูง เนื่องจากแต่ละเมืองล้วนมีการก่อสร้างที่จะรองรับการเพิ่มที่อยู่อาศัย และพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ 3. อุตสาหกรรมการดูแลสุขภาพและการบริการ ซึ่งไทยมีศักยภาพสูง นักธุรกิจที่เข้าใจกับการบริการ Halal Wellness จึงเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่น่าสนใจในการลงทุน และ 4. กลุ่มที่พัฒนาส่งออกสินค้าฮาลาล ซึ่งเป็นที่น่ายินดีว่ารัฐบาลได้สนับสนุนนโยบาย Soft Power ด้านอาหาร และผลักดันอุตสาหกรรมฮาลาลแห่งชาติ จึงเป็นโอกาสดีสำหรับผู้ที่สนใจต่อการส่งออกสินค้าประเภทอาหารฮาลาล ปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยที่ออกมาตรฐานฮาลาลได้รับอนุมัติให้ร่วมเป็นสมาชิกของหน่วยงานอาหารและยา (SFDA) ประเทศซาอุดีอาระเบีย ส่งผลให้การนำเข้าสินค้าฮาลาลภายใต้การรับรองของคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยได้รับการยอมรับจากหน่วยงาน SFDA ด้วยทำให้การเติบโตของตลาดการส่งออกสินค้าฮาลาลในซาอุดีอาระเบียมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น” พญ.เพชรดาว กล่าว
ข่าว : นางสาวพรนภา สวัสดี
ถ่ายภาพ : นางสาวอินทิรา บัวลอย
กลุ่มสื่อสารองค์กร กองกลาง
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3972 โทรสาร 0 2333 3834
e-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : @MHESIThailand
Twiiter : @MHESIThailand
Call Center โทร.1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.