เปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่กับงานประชุมวิชาการด้านนาโนเทคโนโลยีระดับสากลอย่าง การประชุมวิชาการและนิทรรศการนานาชาติทางนาโนเทคโนโลยี ครั้งที่ 8 (NanoThailand 2023) ที่ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับสมาคมนาโนเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) จัดขึ้น ภายใต้กรอบแนวคิด "Nanotechnology for Sustainable World" โดยได้รับเกียรติจาก ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานเปิดการประชุม หวังสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านนาโนเทคโนโลยีระดับสากล ยกระดับงานวิจัยและนวัตกรรมนาโนตอบโจทย์โลกเพื่อความยั่งยืน
ดร. ภาวดี อังค์วัฒนะ รองผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สวทช. กล่าวว่า การประชุมวิชาการและนิทรรศการนานาชาติทางนาโนเทคโนโลยี (NanoThailand) ในปี 2023 นี้นับเป็นครั้งที่ 8 โดยจัดขึ้นภายใต้กรอบแนวคิด "Nanotechnology for Sustainable World" ที่มีผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมงานกว่า 350 คน โดยมีผู้ร่วมงานชาวต่างชาติ 100 คนจาก 20 ประเทศทั่วโลก ซึ่งตอบวัตถุประสงค์ของสมาคมนาโนเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ด้วยเป็นกิจกรรมที่ตอบโจทย์ในด้านการแลกเปลี่ยนและเผยแพร่ความรู้ทางวิชาการ ผลงานวิจัย รวมทั้งการนำความรู้ด้านนาโนเทคโนโลยีไปประยุกต์จากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ และนำไปสู่การสร้างความร่วมมือการวิจัยกับทั้งภายในและภายนอกประเทศ
นาโนเทค สวทช. เป็นองค์กรวิจัยแห่งความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมนาโนเทคโนโลยี ซึ่งจะเป็นฟันเฟืองสำคัญในการวางรากฐานเพื่อขยายผลการพัฒนานาโนเทคโนโลยี สร้างความเข้มแข็งทางวิชาการที่เกิดจากการวิจัยและพัฒนา ความสามารถในการนำผลงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์เพื่อสร้างผลกระทบเชิงเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งจะยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนภายในประเทศ เวที NanoThailand นี้ก็จะเป็นหนึ่งในกำลังสำคัญ ขับเคลื่อนความก้าวหน้าทางด้านนาโนเทคโนโลยีของไทยและของโลกไปทั้งองคาพยพ
นายพอ บุณยรัตพันธุ์ อุปนายก สมาคมนาโนเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สมาคมนาโนเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยเป็นหน่วยงานอิสระที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลาง ในการเชื่อมโยง แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางวิชาการจากองค์กรภาครัฐ ตลอดจนมหาวิทยาลัยต่างๆ ให้ไปสู่ภาคอุตสาหกรรมทั้งในระดับประเทศและต่างประเทศ พร้อมทั้งการเป็นศูนย์กลางประสานงาน แก้ปัญหาและพัฒนาอุตสาหกรรมต่างๆ เชื่อมโยงของภาควิชาการและภาคอุตสาหกรรม ในวงการนาโนเทคโนโลยีของประเทศไทยได้อย่างเป็นรูปธรรม และกว้างขวางมากยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกัน ก็เป็นศูนย์กลางในการเผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจให้กับสังคมและประชาชนในประเทศ ซึ่งงาน NanoThailand ก็เป็นอีกหนึ่งเวทีที่จะช่วยส่งเสริมและสร้างความรู้ ความเข้าใจ รวมถึงพัฒนาด้านนาโนเทคโนโลยีร่วมกับเครือข่ายพันธมิตรจากทั่วโลก
โดยในงาน NanoThailand 2023 นี้ ยังได้รับเกียรติจากวิทยากรกิตติมศักดิ์ ซึ่งเป็นนักวิจัยในระดับแนวหน้าของโลก 2 ท่าน คือ Prof. Susumu Kitagawa จากสถาบัน Institute for Integrated Cell-Material Sciences (iCeMS), Kyoto University, Japan เป็นผู้บุกเบิกเคมีเชิงฟังก์ชันของ MOF และค้นพบ MOF ที่มีสมบัติยืดหยุ่น ซึ่งมีสมบัติแตกต่างไปจากวัสดุที่มีรูพรุนทั่วไป ที่จะมาบรรยายในหัวข้อเรื่อง “Chemistry and Application of Soft Porous Crystals from MOFs/PCPs” และ Prof. Cees Dekker จากสถาบัน Kavli Institute of Nanoscience, Delft University of Technology, Netherlands ผู้เชี่ยวชาญด้านนาโนพอร์ (nanopore) เป็นผู้ค้นพบสมบัติทางอิเล็กทรอนิกส์ใหม่ ๆ ของท่อนาโนคาร์บอน จะมาบรรยายในหัวข้อเรื่อง “Employing Nanotechnology for Single-molecule Biology: From Nanopore Protein Sequencing to Chromosome Organization” นับเป็นโอกาสในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ความก้าวหน้าด้านนาโนเทคโนโลยีของโลก
ศ. ดร. จำรัส ลิ้มตระกูล อธิการบดีเกียรติคุณ สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) กล่าวว่า งาน NanoThailand 2023 นี้ นับเป็นความภูมิใจที่ VISTEC ได้ร่วมเป็นเจ้าภาพ และนำเสนอความก้าวหน้าของงานวิจัยทางด้านนาโนเทคโนโลยีภายใต้แนวคิด “นาโนเทคโนโลยีเพื่อโลกอย่างยั่งยืน" โดยมีวัตถุประสงค์หลักคือ การนำนาโนเทคโนโลยีไปใช้ในหลายสาขาเพื่อสร้างสรรค์การพัฒนาที่ยั่งยืน งานประชุมนี้จะเป็นแนวทางในการแลกเปลี่ยนความรู้ทางเทคโนโลยี และการแบ่งปันความคืบหน้าล่าสุดในการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อสร้างโลกที่ยั่งยืนต่อไป
การประชุมวิชาการนานาชาติ NanoThailand 2023 ภายใต้แนวคิด “Nanotechnology for Sustainable World” ประกอบด้วย 13 หัวข้อดังนี้ (1) Nanoencapsulation and Functional Ingredients (2) Theory and Simulation for Nanosystems (3) Nanosafety & Standard (4) Nanomaterials and Nanotechnology for Electronic/Optoelectronic Devices and Sensors (5) Nanomedicine, Nanosensor and Nano-Biotechnology (6) Nanotechnology for Energy Storage and Management (7) Nanotechnology for Environment and Agriculture (8) Nanotechnology for Catalysis and Industrial Applications (9) Nanotechnology for Startups and Industrial Enterprises (10) Nanocharacterization & Instrumentation และมี Special session อีก 3 sessions ได้แก่ (11) Advanced Nanostructured Materials for a Global Circular Economy (12) Symposium on Bio-Based Chemicals & Fuels from Lignocellulose 2023 (Hub of Knowledge) และ (13) The 2nd Thailand Symposium on Nanopore technology
นอกจากนี้ ในงานยังมีการนำเสนอผลงานวิจัยที่โดดเด่นทางด้านนาโนเทคโนโลยี จากศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ ได้แก่ เทคโนโลยีนาโนเอ็นแคปซูเลชันและส่วนประกอบเชิงฟังก์ชัน, ชุดตรวจต่าง ๆ อาทิ และเทคโนโลยีการดักจับคาร์บอน (Carbon Capture Utilization, CCU) รวมถึงมีผลงานนวัตกรรมที่พัฒนาจากงานวิจัยมาเป็นผลิตภัณฑ์ จากบริษัท CLEANTECH AND BEYOND CO., LTD ภายใต้การดูแลของบริษัท วิสอัพ จำกัด (VISUP) ที่จัดตั้งโดยสถาบันวิทยสิริเมธี และผลงาน BioVis ที่เป็นการเพิ่มทรัพย์จากขยะอินทรีย์ มาจัดแสดงในงาน นอกจากนี้ยังมีการนำเครื่องมืออุปกรณ์วิทยาศาสตร์ จากบริษัทชั้นนำมาร่วมออกบูทจำนวน 12 บริษัท
ดร. ภาวดีกล่าวทิ้งท้ายว่า เราคาดหวังให้งานนี้เป็นเวทีที่ผสานพลังของเครือข่ายพันธมิตรด้านนาโนเทคโนโลยีจากทั่วโลก ทั้งด้านวิจัยและด้านการศึกษา แลกเปลี่ยนและเสริมสร้างองค์ความรู้ด้านนาโนเทคโนโลยี เพื่อพัฒนานวัตกรรมที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรโลก บูรณาการการทำงานร่วมกับพันธมิตรผ่าน Ecosystem หรือระบบนิเวศด้านนาโนเทคโนโลยีที่เข้มแข็ง อันเกิดจากความร่วมมือในเวทีโลกเช่นงาน NanoThailand นี้ และนำไปสู่ความร่วมมือระหว่างกันในอนาคต เพื่อขับเคลื่อนความก้าวหน้าทางด้านนาโนเทคโนโลยีของโลก และของไทยเรา
ข้อมูลโดย : สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : 02 564 7000
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.