13 กุมภาพันธ์ 2563 - ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นัดประชุมคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ในสถาบันอุดมศึกษาทั้งของรัฐและเอกชนกว่า 50 แห่ง เพื่อหารือเชิงนโยบายเกี่ยวกับแนวทางการยกระดับวิศวกรรมศาสตร์ของประเทศไทยเพื่อตอบโจยท์การพัฒนาประเทศ และแนวทางยกระดับมาตรฐานคุณภาพการศึกษาวิศวกรรมศาสตร์สู่มาตรฐานโลกด้วยการขอรับการรับรองจาก Accreditation Board for Engineering and Technology (ABET) และ Thailand Accreditation Body of Engineering Education (TABEE)
โดยมี นางสุวรรณี คำมั่น เลขานุการรัฐมนตรีฯ นายองอาจ ปัญญาชาติรักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีฯ ดร.อภิชัย สมบูรณ์ปกรณ์ โฆษกกระทรวง อว. ทีมที่ปรึกษารัฐมนตรีฯ ที่รับผิดชอบการปฏิรูปอุดมศึกษาแบบพลิกโฉมและการปลดล็อคมหาวิทยาลัย นอกจากนี้ยังมี ดร.อรสา ภาววิมล รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา ศาสตราจารย์ ดร.ศุภชัย ปทุมนากูล รองปลัดกระทรวง อว. พร้อมด้วยคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์และสภาคณบดี เข้าร่วมหารือด้วยเป็นจำนวนกว่า 80 คน ณ ห้องประชุมศาสตราจารย์ประเสริฐ ณ นคร อาคารสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ถนนศรีอยุธยา
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า การนัดประชุมครั้งนี้เพื่อหารือเชิงนโยบายเกี่ยวกับแนวทางการยกระดับงานด้านวิศวกรรมศาสตร์ของประเทศไทยให้ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ และแนวทางยกระดับมาตรฐานคุณภาพการศึกษาวิศวกรรมศาสตร์สู่มาตรฐานโลกด้วยการขอรับการรับรองจาก Accreditation Board for Engineering and Technology (ABET) และ Thailand Accreditation Body of Engineering Education (TABEE) โดยในการหารือ มีรองศาสตราจารย์ ดร.พีระพงศ์ ทีฆสกุล ประธานคณะทำงานขับเคลื่อนและติดตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นผู้นำการหารือซึ่งมี 3 แนวทางที่สภาคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ต้องเข้ามามีส่วนในการขับเคลื่อนให้เป็นรูปธรรมโดยเร็วคือ
1.การยกระดับการศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ของประเทศไทยสู่ระดับโลกและการพัฒนาเทคโนโลยีของประเทศ ตามนโยบาย Reinventing Universities โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รัฐชาติ มงคลนาวิน ประธานคณะทำงานขับเคลื่อนและติดตามนโยบายรัฐมนตรี อว.ด้านคุณภาพ เป็นวิทยากรนำหารือ
2.แนวทางการทำงานร่วมกันของคณะวิศวกรรมศาสตร์เพื่อการยกระดับการศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ตาม ABET/TABEE และขับเคลื่อน Thailand 4.0 และ BCG โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐ วรยศ ประธานสภาคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย เป็นวิทยากรนำหารือ
3.แนวทางการ Re skill/Up skill ภาคอุตสาหกรรม โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.ศิริเดช บุญแสง คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมการผลิตขั้นสูง สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เป็นวิทยากรนำหารือ
และ 4. National AI Stratigy กับบทบาทของคณะวิศวกรรมศาสตร์ โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรรณรัช สันติอมรทัต ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและนวัตกรรมดิจิทัล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นวิทยากรนำหารือ จากนั้นได้มีการหารือร่วมกันระหว่างรัฐมนตรีว่าการ อว. ผู้บริหารระดับสูงกับสภาคณบดีวิศรกรรมศาสตร์ ในภาพรวมของการบูรณาการหลักสูตร ทรัพยากรและบุคลากร เพื่อการเป็นรูปธรรมของภารกิจที่หารือร่วมกัน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาฯ กล่าวต่อไปว่า อว.จะนำโจทย์จริงของประเทศมาให้คณะวิศวกรรมศาสตร์ขับเคลื่อนเป็นทีมที่มีบทบาทในศาสตร์ที่ถนัด มีเป้าหมายในการร่วมขับเคลื่อนประเทศไปสู่ Thailand 4.0 เพื่อผลที่เป็นรูปธรรมชัดเจนโดยเร็ว ซึ่งต้องเร่งตอบโจทย์หลายเรื่องคือ 1.มหาวิทยาลัยจะปรับตัวไปสู่การสร้างคนในศตวรรษที่ 21 อย่างไร 2.การ Reinventing มหาวิทยาลัย หรือการปฏิรูปอุดมศึกษาไทยแบบพลิกโฉม การปลดล็อคและกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจแบบใหม่ด้วยหลักสูตรต่างๆ ของมหาวิทยาลัยไทย จะช่วย BCG Economy (Bio-Circular-Green Economy) อย่างไร 3.ปัญญาประดิษฐ์ (AI) หรือการขับเคลื่อนประเทศด้วย AI Economy คณะวิศวกรรมศาสตร์จะตอบโจทย์อย่างไร เพื่อให้เป็น AI Base University และไปสู่ Smart University ในที่สุด 4.การใช้โครงการยุวชนสร้างชาติเป็นกลไก ซึ่งมียุวชนอาสา บัณฑิตอาสาและยุววิสาหกิจเริ่มต้น เป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศด้วยพลังของนิสิตนักศึกษาและบัณฑิตใหม่ 5. ทำให้หลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์ของไทยไปสู่มาตรฐานโลก รวมไปถึงการผลิตกำลังคนที่ไม่ใช่ระดับปริญญา (Non Degree) ด้วย
“เรื่องของ AI พลังเยาวชนสร้างชาติและการยกเครื่องมหาวิทยาลัยไทยนั้น อว.จัดเตรียมงบประมาณไว้เป็นจำนวนกว่า 10,250 ล้าน ในปี 2564 ซึ่งจะทำให้มหาวิทยาลัยไทยในอนาคตสามารถตอบโจทย์การพัฒนาประเทศท่ามกลางกระแสเทคโนโลยีพลิกผัน และเข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืนได้” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาฯ กล่าวในตอนท้าย
อินทิรา บัวลอย : ถ่ายภาพ
ปิยาณี วิริยานนท์ : เขียนข่าว
ปราณี ชื่นอารมณ์ : เผยแพร่
กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สป.อว.(ภารกิจด้านการอุดมศึกษา)
ถนนศรีอยุธยา ราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
www.facebook.com/opsMHESI/
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.