สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ขอมอบ “เพชรแห่งห้วงอวกาศ” สุดล้ำค่า แทนรักและกำลังใจให้ชาวโคราชและชาวไทยเข้มแข็ง แข็งแกร่งดั่งเพชรในวันวาเลนไทน์ที่จะถึงนี้
กระจุกดาวรูปเพชร (Diamond Cluster, NGC 2516, Caldwell 96) เป็นวัตถุท้องฟ้าประเภทกระจุกดาวเปิดที่สวยงามและสว่างมากแห่งหนึ่งบนฟ้าซีกโลกใต้ อยู่ในกลุ่มดาวกระดูกงูเรือ ห่างออกไปประมาณ 1,300 ปีแสง มีอันดับความสว่าง 3.8 จัดเป็นกระจุกดาวที่สว่างที่สุด 10 อันดับแรกบนท้องฟ้า จึงสามารถมองเห็นได้ง่ายด้วยตาเปล่า ภายในกระจุกดาวมีดาวฤกษ์สมาชิกประมาณ 80 ดวง ดาวที่สว่างที่สุดในกระจุกเป็นดาวยักษ์แดง 2 ดวง ท่ามกลางดาวฤกษ์สีน้ำเงินมากมาย
กระจุกดาวรูปเพชร มักถูกเรียกว่ากระจุกดาวรวงผึ้งทางใต้ (Southern Beehive Cluster) เนื่องจากมีความคล้ายคลึงกับกระจุกดาวรวงผึ้ง (Beehive Cluster, M44) ที่สามารถเห็นได้จากซีกโลกเหนือ ค้นพบเมื่อปี พ.ศ. 2294 - 2295 โดย นิกอลา หลุยส์ เดอ ลากาย (Nicolas Louis de Lacaille) นักดาราศาสตร์ชาวฝรั่งเศส
บันทึกและประมวลผลภาพโดย คุณตระกูลจิตร จิตตไสยะพันธ์ และคุณกีรติ คำคงอยู่ ด้วยกล้องโทรทรรศน์ทางไกลอัตโนมัติ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.5 เมตร ของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ติดตั้ง ณ หอดูดาวสปริงบรู๊ค ประเทศออสเตรเลีย
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.