เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2563 สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ (มว.) ได้พัฒนาระบบสอบเทียบเครื่องตรวจจับความเร็วพร้อมด้วยอาคารห้องปฏิบัติการ เพื่อสนับสนุนการบังคับการใช้งานด้านจราจรและคมนาคมของประเทศ และเพื่อสร้างความเป็นธรรมในการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งการใช้กฎหมายในเรื่องขับรถเร็วเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดที่จริงจังและต่อเนื่องจะนำไปสู่การแก้ไข และลดปัญหาการเกิดอุบัติเหตุทางถนนได้อย่างตรงกับสภาพปัญหาและมีประสิทธิภาพ ในการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กองบังคับการตำรวจจราจร กองบังคับการตำรวจทางหลวง กรมการขนส่งทางบก และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ได้มีการนำเครื่องตรวจจับความเร็วของรถประเภทต่างๆ มาใช้งาน เพื่อประกอบเป็นหลักฐานในการบังคับใช้กฎหมาย ได้แก่ กล้องตรวจจับความเร็วด้วยแสงเลเซอร์ และกล้องตรวจจับความเร็วด้วยคลื่นวิทยุ เครื่องตรวจจับความเร็วดังกล่าวจำเป็นต้องได้รับการสอบเทียบที่ย้อนกลับไปยังมาตรฐานการวัดแห่งชาติ เพื่อให้สามารถใช้งานได้อย่างถูกต้อง แต่ปัจจุบันพบว่ายังไม่มีหน่วยงานใดในประเทศสามารถให้บริการสอบเทียบเครื่องตรวจจับความเร็วดังกล่าวได้ ดังนั้น สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ ในฐานะองค์การที่มีหน้าที่จัดหา พัฒนา และรักษามาตรฐานด้านการวัดของประเทศ จึงจำเป็นต้องจัดตั้งระบบสอบเทียบ รวมถึงระบบการถ่ายทอดเทคโนโลยี สำหรับถ่ายทอดค่าความถูกต้องของผลการวัดของเครื่องตรวจจับความเร็วขึ้นในประเทศไทย โดยการออกแบบระบบสอบเทียบเครื่องตรวจจับความเร็วรอบ และการออกแบบเครื่องกำเนิดความเร็วคงที่ ระบบสายพาน และตัวรับสัญญาณเลเซอร์ ได้รับการสนับสนุนข้อมูลโดย Dr.Dai-Hyuk Yu, Head of Center for Time and Frequency และ Mr.Jong Koo Lee, Principal Engineer ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ ประเทศสาธารณะรัฐเกาหลีใต้ : KRISS ณ อาคารห้องปฏิบัติการสอบเทียบเครื่องตรวจจับความเร็ว มว. จ.ปทุมธานี
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.