เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2567 นายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี ผู้อำนวยการกองขับเคลื่อนและพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) รักษาการในตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานปลัดกระทรวง อว. เป็นประธานเปิดโครงการพัฒนาระบบบริหารการเงินและแนวทางการเพิ่มรายได้กลุ่มพัฒนาชุมชนท้องถิ่นหรือชุมชนอื่น หรือ สถาบันอุดมศึกษา กลุ่ม 3 Reinventing University (Area- Based and Community Engagement) ภายใต้โครงการพัฒนาความเป็นเลิศของสถาบันอุดมศึกษาและพัฒนากำลังคนขั้นสูง (Reinventing University) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานปลัดกระทรวง อว. และมหาวิทยาลัยบูรพา และบรรยายพิเศษ ในหัวข้อ ทิศทางการพลิกโฉมมหาวิทยาลัยไทย โดยมี ดร.พีรพัฒน์ มั่งคั่ง ผู้อำนวยการสำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยบูรพา ผศ.ดร.ไชยยันต์ ชนะพรมมา กรรมการกลั่นกรองการจัดสถาบันอุดมศึกษากลุ่มพัฒนาชุมชนท้องถิ่นหรือชุมชนอื่น รศ.ดร.วิทวัส แจ้งเอี่ยม คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยบูรพา ศ.ดร.พีระพงศ์ ทีฆสกุล กรรมการการอุดมศึกษา ผศ.ดร.มารุต ตั้งวัฒนาชุลีพร ผู้รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายบริการวิชาการและการเรียนรู้ตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยบูรพา คณะผู้บริหาร คณาจารย์และเจ้าหน้าที่ เข้าร่วม ณ ห้อง Mayfair ballroom A ชั้น 11 โรงแรม เดอะ เบอร์เคลีย์ โฮเต็ล ประตูน้ำ กรุงเทพฯ
นายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับการพลิกโฉมสถาบันอุดมศึกษา (Reinventing University) เพื่อให้สถาบันอุดมศึกษาสามารถเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อันนำไปสู่ความยั่งยืนได้นั้น สิ่งที่สถาบันอุดมศึกษาจำเป็นต้องดำเนินการ นอกจากการผลิตกำลังคนคุณภาพสูง การยกระดับการวิจัยและสร้างนวัตกรรมให้มีความเป็นเลิศแล้ว หัวใจสำคัญที่จะขับเคลื่อนทุกภารกิจให้บรรลุเป้าหมายได้ คือการปฏิรูประบบการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะด้านระบบการเงินและงบประมาณที่จะต้องคล่องตัว โปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้
นายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ กล่าวต่อว่า สำนักงานปลัดกระทรวง อว. ได้ผลักดันและขับเคลื่อนการจัดตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาการอุดมศึกษา เพื่อปรับบทบาทของระบบการอุดมศึกษาสู่ระบบการเรียนรู้รูปแบบใหม่ ในการทำหน้าที่จัดสรรงบประมาณและกำกับติดตามให้เกิดการพัฒนาความเป็นเลิศของสถาบันอุดมศึกษา และการส่งเสริมการผลิตกำลังคนระดับสูงเฉพาะทาง รวมถึงสำนักงานปลัดกระทรวง อว. ยังได้ผลักดันให้เกิดการปฏิรูประบบบริหารจัดการโดยการจัดทำเป็นแพลตฟอร์มกลางที่ดำเนินการในเชิงรุก ซึ่งในระยะแรกดำเนินการใน 2 ด้าน คือ ด้านการบริหารบุคลากร และการปฏิรูปด้านการเงินและงบประมาณ โดยเริ่มต้นดำเนินการร่วมกับสถาบันอุดมศึกษาในสังกัดกลุ่ม 3 ทั้ง 48 แห่ง และจะขยายผลไปยังสถาบันอุดมศึกษาในกลุ่มอื่นต่อไป
“โครงการนี้จะทำให้สถาบันอุดมศึกษาในกลุ่ม 3 กลุ่มพัฒนาชุมชนท้องถิ่นหรือชุมชนอื่น ทั้ง 48 แห่ง เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับปัญหาและอุปสรรค ข้อจำกัดของการพัฒนาระบบบริหารการเงินและงบประมาณ และร่วมกันออกแบบระบบการบริหารทางการเงินที่สามารถนำไปปรับใช้ได้จริง รวมไปถึงการกำหนดนโยบาย ทิศทางการแสวงหารายได้อื่น ๆ นอกเหนือจากการจัดการเรียนการสอน เพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านการเงินและงบประมาณของมหาวิทยาลัย อย่างเหมาะสม เกิดความคล่องตัว เกิดประสิทธิภาพและความคุ้มค่าในการใช้จ่ายงบประมาณ“ นายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ กล่าว
ด้าน ดร.พีรพัฒน์ กล่าวว่า การประชุมในครั้งนี้ คาดหวังว่าทุกท่านจะมีการนำเสนอและสร้างแนวคิดต่าง ๆ ร่วมกัน และสามารถแก้ไขปัญหาและอุปสรรคในการทำงานที่ทำให้ท่านรู้สึกว่าติดขัดและไม่ราบรื่น ซึ่งเป็นหน้าที่ของกระทรวง อว. ที่จะเป็นส่วนกลางในการช่วยสนับสนุนทุกท่าน โดยในหลักการกระทรวง อว. จะไม่ลดทอนอำนาจหน้าที่ของมหาวิทยาลัย แต่จะเพิ่มประสิทธิภาพให้มากยิ่งขึ้น เพื่อที่จะสามารถแข่งขันสู่ระดับสากล พร้อมมุ่งสู่การพัฒนาชุมชนท้องถิ่นให้กลายเป็นแหล่งเรียนรู้เพื่อถ่ายทอดสู่สังคมต่อไป
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.