เมื่อวันที่ 12 ก.ย. นางสาววราภรณ์ รุ่งตระการ ที่ปรึกษาด้านระบบบริหารการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) เป็นประธานเปิดโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อสร้างและพัฒนากำลังคนที่มีทักษะและสมรรถนะสูงที่เชื่อมโยงการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อเลี้ยงชีพได้อย่างมั่นคง ภายใต้โครงการผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ฯ โดยมี รศ.บัณฑิต ทิพากร ประธานอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารโครงการผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ฯ อนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารโครงการผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ฯ ผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษา เข้าร่วม และนายสุทน เฉื่อยพุก ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและพัฒนากำลังคน กล่าวรายงาน ณ โรงแรมเบสท์เวสเทิร์น พลัส แวนดา แกรนด์ จังหวัดนนทบุรี
นางสาววราภรณ์ กล่าวว่า สำนักงานปลัดกระทรวง อว. ได้ดำเนินโครงการผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ฯ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 จนถึงปัจจุบัน เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาให้ประเทศไทยสามารถผลักดันการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยสนับสนุนให้สถาบันอุดมศึกษาหลักสูตรและกระบวนการจัดการเรียนการสอน เพื่อสร้างบัณฑิตพันธุ์ใหม่และกำลังคนที่มีสมรรถนะตอบโจทย์ภาคการผลิต และสนองต่อการปฏิรูปการศึกษาไทยและการพัฒนาประเทศไทย (Thailand 4.0) “การสร้างและพัฒนากำลังคนที่มีทักษะและสมรรถนะสูง เพื่อการพัฒนาประเทศ” เป็นบทบาทและภารกิจหลักของกระทรวง อว. ซึ่งจากการวิเคราะห์สภาพปัญหาในปัจจุบัน พบว่า โครงสร้างประชากรโลกมีแนวโน้มเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย เนื่องจากอัตราการเกิดของประชากรที่ลดน้อยลง ในขณะที่อายุขัยของประชากรยืนยาวขึ้น ส่งผลให้กำลังคนต้อง “เรียนรู้” พัฒนาทักษะความชำนาญ และสมรรถนะตลอดเวลาไม่สิ้นสุด “Lifelong Learning” เพื่ออนาคตการมีงานทำอย่างมั่นคงสามารถเลี้ยงชีพได้ตลอดชีวิตท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงงานที่ไม่เคยหยุดเปลี่ยน และ “งานอุบัติใหม่” ที่ขับเคลื่อนและผลักดันโดยเทคโนโลยีอุบัติใหม่ซึ่งยากที่จะคาดเดา แต่องค์กรต้องพลิกผันสร้างนวัตกรรมธุรกิจ และรูปแบบการทำงานเพื่อตอบสนองความต้องการปกติใหม่ให้สำเร็จในทันทีทันใดก่อนการเปลี่ยนแปลงรอบถัดไปจะเกิดขึ้น ซึ่งคาดการณ์โดยประมาณ 5 ปี
นางสาววราภรณ์ กล่าวต่อว่า โครงการผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ฯ จึงมีแนวคิดปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาของสถาบันอุดมศึกษาไทยไปสู่การออกแบบหลักสูตรการศึกษาตามกรอบแนวคิด Skill-First และเชื่อมโยงการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อสร้างสมรรถนะ ความรู้วิชาการ ทักษะเฉพาะทาง และคุณภาพอุปนิสัยและลักษณะบุคคล เพื่อตอบสนองโลกของงานแต่ละชั่วขณะได้อย่างชำนาญและสะสม ทุนทรัพย์ได้เพียงพอสามารถเลี้ยงชีพได้อย่างมั่นคงตลอดชีวิต โดยเชื่อมโยงกับ“หลักสูตร Degree และ Non-Degree Credential” การสร้างและพัฒนากำลังคนเพื่อการพัฒนาประเทศเพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่ได้กล่าวไปแล้ว หากจะผลิตบัณฑิตต้องใช้ระยะเวลาถึง 4 ปี จึงอาจไม่ทันต่อความเร่งด่วนที่จะต้องใช้กำลังคน ซึ่งโครงการผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ฯ มีการปรับรูปแบบหลักสูตร Degree Credential ที่เป็นหลักสูตรในปัจจุบันเป็นชุดหลักสูตร Non-Degree Credential แบบ Credit Bearing ที่ร้อยเรียงโครงสร้างวิชาการความรู้ในรูปแบบรายวิชาเปลี่ยนเป็น โครงสร้างทักษะและสมรรถนะเพื่อการทำงานตามเส้นทางความก้าวหน้าของอาชีพต่าง ๆ และได้รับการรับรองการออกแบบหลักสูตรและการดำเนินการจัดการศึกษาตามมาตรฐานการอุดมศึกษา ปี 2565 หลักสูตร Non-Degree Credential จะใช้ระยะเวลาสั้นกว่า ประมาณ 4-6 เดือน ซึ่งจะเป็นทางเลือกที่สำคัญ เพื่อเพิ่มหรือพัฒนาศักยภาพและขีดความสามารถของกำลังคน ที่ประกอบด้วยสมรรถภาพและสมรรถนะ โดยการเพิ่มพูนทักษะความรู้ให้ตรงกับงาน การพัฒนาทักษะเดิมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการทำงาน และการพัฒนาทักษะความรู้ใหม่ เพื่อรองรับอาชีพที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างประสบความสำเร็จ เพื่อให้สามารถสร้างและพัฒนากำลังคนที่มีทักษะและสมรรถนะสูงได้ภายในระยะเวลาอันสั้น ตอบสนองต่อความต้องการและการพัฒนาประเทศได้อย่างทันท่วงที
ด้าน นายสุทน กล่าวว่า สำนักงานปลัดกระทรวง อว. โดยโครงการผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ฯ มีแนวคิดในการปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาของสถาบันอุดมศึกษาไทย ไปสู่รูปแบบการออกแบบหลักสูตรการศึกษาตามกรอบแนวคิด Skill-First และเชื่อมโยงการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อตอบสนองโลกของงานแต่ละชั่วขณะได้อย่างชำนาญและสะสม ทุนทรัพย์ได้เพียงพอสามารถเลี้ยงชีพได้อย่างมั่นคงตลอดชีวิต โดยการประชุมในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1.ประชาสัมพันธ์ เผยแพร่แนวคิด สร้างความเข้าใจแนวทางการจัดทำหลักสูตร Degree Credential และหลักสูตร Non-Degree Credential ที่เชื่อมโยงการเรียนรู้ตลอดชีวิต 2.แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันกับสถาบันอุดมศึกษาทั้งที่เข้าร่วมโครงการและยังไม่ได้เข้าร่วมโครงการผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ฯ และ 3. สนับสนุนให้สถาบันอุดมศึกษาที่เข้าร่วมโครงการผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ฯ สามารถผลิตกำลังคนที่มีสมรรถนะตอบโจทย์และมีทักษะสอดคล้องกับความต้องการของประเทศ ตามวัตถุประสงค์ของโครงการฯ โดยมีผู้ลงทะเบียนเข้าการประชุมจากสถาบันอุดมศึกษาทั้งในสังกัด อว. และนอกสังกัดทั่วประเทศ ที่อยู่ในห้องประชุม จำนวน 250 คน และร่วมประชุมผ่านทาง Facebook Live จำนวน 300 คน
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.