เมื่อวันที่ 25 พศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยถึงนโยบายการยกระดับการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ของประเทศ ว่า ปัจจุบันประเทศไทยของเรามีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้าน ววน. เป็นจำนวนมาก อาทิ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (จิสด้า) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.) สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (สซ.) สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) และยังมี สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) และอุทยานวิทยาศาสตร์ที่กระจายอยู่ทุกภูมิภาค เป็นต้น ทั้งหมดนี้ อยู่ในความดูแลของกระทรวง อว. ตนจึงมีแนวคิดที่จะนำหน่วยงานวิจัยและพัฒนาเหล่านี้มาช่วยกันสร้างผู้ประกอบสตาร์ทอัพที่เป็นแอดวานซ์เทคโนโลยีหรือมีเทคโนโลยีขั้นสูง โดยให้อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคที่ตั้งอยู่ในมหาวิทยาลัยต่างๆ ซึ่งทำงานใกล้ชิดกับผู้ประกอบการในพื้นที่เป็นกลไกหลักในการจัดทำตัวชี้วัดขับเคลื่อนการบูรณาการร่วมกัน (Joint KPIs) กับหน่วยงานวิจัยและพัฒนาที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละด้าน เพื่อร่วมกันสร้างผู้ประกอบการใหม่ที่มีเทคโนโลยีเชิงลึก (Deep Tech Startup) เช่น อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคร่วมมือกับ จิสด้า หรือ สดร.เพื่อสร้างสตาร์ทอัพในธุรกิจอวกาศ หรือร่วมมือกับ สซ. ร่วมมือกับ สทน. เพื่อสร้างผู้ประกอบใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีแสงซินโครตรอนหรือเทคโนโลยีนิวเคลียร์เป็นฐานในการสร้างธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เป็นต้น
“เราต้องมีแผนที่จะสร้างสตาร์ทอัพบนโครงสร้างพื้นฐานที่เรามี รัฐเป็นผู้ลงทุนในโครงการสร้างพื้นฐาน หรือการวิจัยและพัฒนาเหล่านี้ไปแล้วมากมายมหาศาล ดังนั้น จึงต้องพัฒนาให้เกิดผู้ประกอบการหรืออุตสาหกรรมที่สอดคล้องกับโครงสร้างพื้นฐานที่มีในประเทศ ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ หากเราทำได้เราอาจมีสตาร์ทอัพไทยยิงดาวเทียมแข่งกับประเทศอื่นๆ ก็เป็นได้” ปลัดกระทรวง อว.กล่าว
ปลัดกระทรวง อว. กล่าวต่อว่า อีกเรื่องที่ตนมองว่าเป็นหัวใจของทุกอย่าง คือ การผลิตคน โดยเฉพาะการผลิตกำลังคนทักษะสูง เดิมเราจะมองว่าเป็นหน้าที่ของมหาวิทยาลัยเท่านั้น แต่วันนี้ตนมองว่าไม่ใช่ เพราะนอกจากจะมหาวิทยาลัยแล้ว หน่วยงานวิจัยและพัฒนาเหล่านี้ต้องมีหน้าที่นี้ด้วย จริงๆ วิกฤตของประเทศไทยที่สำคัญที่สุดคือวิกฤติการผลิตคน เราไม่สามารถผลิตคนที่จะไปตอบโจทย์อุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นใหม่ได้ เรามีปัญหาการพัฒนากลุ่มคนที่มีศักยภาพ (Talent Development) เราไม่สามารถพัฒนาคนที่จะไปตอบโจทย์อุตสาหกรรมที่มันเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ตนจึงตั้งใจให้สำนักงานปลัดกระทรวง อว. ทำงานคู่ขนานกับมหาวิทยาลัยและหน่วยงานวิจัยแและพัฒนาเพื่อผลิตคนที่มีทักษะสูง ซึ่งจะต้องมีทักษะ 2 ด้านหลักๆ คือ ทักษะเฉพาะด้าน (Specific Skill) เช่น ทักษะด้านดิจิทัลทักษะด้าน AI และทักษะที่เรียกว่า Soft Skill ซึ่งสำคัญกว่า เพราะเป็นทักษะที่จะต้องมีเพื่อที่จะให้เท่าทันเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะ Soft Skill ด้านการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life Long Learning) เพราะเราต้องอัพเกรดตัวเองเรื่อยๆ เพื่อให้รู้เท่าทันอยู่เสมอ
“ต่อให้ทุกวันนี้กระทรวง อว. จะผลิตหลักสูตรหรือคอร์สเรียนออนไลน์ออกมามากมายแค่ไหน หรือมีระบบธนาคารหน่วยกิตที่ทันสมัยขนาดไหนก็ตาม แต่ถ้าคนไม่เรียนก็เหมือนเดิม ดังนั้น สิ่งที่ตนอยากจะทำที่สุด คือ การปลูกฝังวัฒนธรรมและทักษะของการเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องทำให้คนมี Growth Mindset หรือวิธีคิดที่เชื่อว่าทักษะและความรู้ความสามารถของเราสามารถพัฒนาได้ผ่านการเรียนรู้และการพยายามฝึกฝนให้ได้ก่อน อีกหนึ่งสิ่งคือ ความสามารถในการที่จะปรับตัวกับการที่จะอยู่กับความเปลี่ยนแปลง เพราะฉะนั้นคนที่จะเข้ามาพัฒนาทักษะหรือเข้ามาเป็นสตาร์ทอัพต้องได้รับการบ่มเพาะวิธีคิดเหล่านี้ ซึ่งเรื่องนี้นอกจากมหาวิทยาลัยแล้ว อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค รวมถึงหน่วยงานวิจัยและพัฒนาของกระทรวง อว. จะต้องเข้ามาช่วยทำให้เกิดขึ้นให้ได้“ ศ.ดร.ศุภชัย กล่าว
เผยแพร่ข่าว : นางสาวเยาวลักษณ์ ทับช้างโท
สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
กลุ่มสื่อสารองค์กร
โทรศัพท์ 0 2333 3700
E-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : MHESIThailand
Instagram : mhesithailand
Tiktok : @mhesithailand
X (Twitter) : @MHESIThailand
YouTube : @MHESIThailand
Call Center 1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.