เมื่อวันอาทิตย์ที่ 20 เม.ย. นางสาววราภรณ์ รุ่งตระการ รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้รับมอบหมายจาก ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล ปลัดกระทรวง อว. เป็นหัวหน้าคณะพร้อมด้วยนางวัฒนาโสภี สุขสอาด ผู้อำนวยการโครงการสถาบันไทยโคเซ็น รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์และแผนการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิโครงการสถาบันไทยโคเซ็น เข้าพบปะและพูดคุยเพื่อให้กำลังใจ ติดตามความเป็นอยู่ รับทราบปัญหาอุปสรรคจากนักเรียนทุนรัฐบาลโครงการจัดตั้งสถาบันไทยโคเซ็นที่มาศึกษา ซึ่งในโอกาสนี้ ศ.ดร สุริยน ตันสุริยวงศ์ อาจารย์ชาวไทยเพียงคนเดียวที่เป็นอาจารย์ประจำภาควิชา Media Engineering, Okinawa KOSEN มากว่า 10 ปี ซึ่งได้ให้ความดูแลเอาใจใส่นักเรียนทุนเป็นอย่างดีได้ร่วมประชุมหารือในครั้งนี้ด้วย ณ Okinawa KOSEN ประเทศญี่ปุ่น
คณะผู้แทน อว. ได้ร่วมพูดคุยและให้กำลังใจนักเรียนทุนที่ได้รับทุนการศึกษาเพื่อมาศึกษาต่อ ณ Okinawa KOSEN ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นนักเรียนทุนในระดับ Regular Course และ Advanced Course จำนวน 10 ราย โดย รอง.ปอว. ได้กล่าวว่าการเดินทางมาครั้งนี้ได้ถือโอกาสมาหารือพบปะนักเรียนทุนโครงการไทยโคเซ็น ซึ่งกระทรวง อว. มีความห่วงใยในความเป็นอยู่ของนักเรียนทุนทั้งด้านการเรียนและด้านสุขภาพเนื่องจากเข้าใจดีว่าการศึกษาเล่าเรียนหลักสูตรโคเซ็นมีความเข้มข้นทั้งในด้านวิชาการเนื้อหาวิชาการที่ใช้ภาษาญี่ปุ่นในการเรียนการสอน กระทรวง อว. มุ่งหวังให้นักเรียนทุนมีความมุ่งมั่น ตั้งใจศึกษาเล่าเรียน เพื่อนำความรู้และทักษะขั้นสูงที่ได้รับจากสถาบัน KOSEN ประเทศญี่ปุ่น กลับมาเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศไทยในอนาคต ทั้งนี้ จากการพูดคุยกับนักศึกษาและรับฟังเสียงสะท้อนทั้งจากอาจารย์ที่ดูแลนักศึกษาพบว่า นักศึกษาสามารถปรับตัวในการดำเนินชีวิตได้เป็นอย่างดี ได้รับการดูแลจากอาจารย์อย่างใกล้ชิด นักศึกษามีผลการเรียนดี ได้รับโอกาสให้ไปนำเสนอผลงานวิจัยเป็นภาษาญี่ปุ่นในเวทีวิชาการต่าง ๆ โดยนักศึกษาได้ขอให้มีการเตรียมความพร้อมด้านภาษาญี่ปุ่นให้เข้มข้นโดยเฉพาะคำศัพท์ด้านเทคนิคด้านวิศวกรรมที่ต้องเรียนเป็นภาษาญี่ปุ่น จึงต้องใช้เวลาปรับตัวค่อนข้างมาก นอกจากนี้ยังได้ปรึกษาเกี่ยวกับการเข้าสู่เส้นทางอาชีพภายหลังสำเร็จการศึกษา โดยรองปลัดฯ ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า กระทรวง อว. พร้อมที่จะดูแลนักเรียนทุนโครงการไทยโคเซ็นอย่างดีโดยอยู่ระหว่างการเตรียมการเพื่อเชื่อมกับภาคอุตสาหกรรมรองรับการเข้าสู่ตำแหน่งงานโดยการขับเคลื่อนผ่านแผนงาน Industrial Linkage ที่อยู่ระหว่างดำเนินงานกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้กระทรวง อว. ได้เปิดกว้างการปฏิบัติงานในภาคอุตสาหกรรมตามเงื่อนไขสัญญารับทุนซึ่งนักศึกษาสามารถปฏิบัติงานได้กับทั้งบริษัทไทยและบริษัทต่างชาติที่เข้ามาลงทุนได้ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ
ด้านนางวัฒนาโสภี ผู้อำนวยการโครงการสถาบันไทยโคเซ็น ได้ให้ข้อมูลเพื่อสร้างจิตสำนึกของการเป็นนักเรียนทุนรัฐบาลซึ่งถือเป็นความภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ทุกคนได้มีโอกาสมาศึกษาเล่าเรียน ณ ประเทศญี่ปุ่น จึงขอให้ตั้งใจเรียนและเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว กระทรวง อว. มีแนวทางในการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สภาอุตสาหกรรม หอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ (Japanese Chamber of Commerce, Bangkok : JCC) องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (Japan External Trade Organization : JETRO) รวมทั้ง อว. ยังมี Platform STEM Plus เพื่อช่วยสนับสนุนและเชื่อมโยงการเข้าทำงานกับภาคอุตสาหกรรม ภายหลังที่สำเร็จการศึกษาได้ตามความเชี่ยวชาญของนักเรียนทุนได้ทันที
ซึ่งจะเห็นได้จากความสำเร็จของนักศึกษารุ่นที่ 1 และรุ่นที่ 2 ของสถาบันโคเซ็นแห่ง สจล. ซึ่งที่มีจำนวน Job offer จากภาคอุตสาหกรรมมากกว่า 100 บริษัทมีความสนใจและพึงพอใจที่จะรับนักเรียนไทยโคเซ็นเข้าทำงานทันทีด้วยค่าตอบแทนที่สูง เนื่องจากนักเรียนทุนไทยโคเซ็นเก่งทั้งทฤษฎีและปฏิบัติจริง อีกทั้งยังมีทักษะด้านภาษาอังกฤษและภาษาญี่ปุ่นเป็นอย่างดี ตนจึงขอให้นักเรียนทุกคนมั่นใจได้ว่า กระทรวง อว. มีการวางแนวทางการเข้าสู่เส้นทางอาชีพ (Career Path) ในภาคอุตสาหกรรมเพื่อเป็นวิศวกรนักปฏิบัติที่มีทักษะสูง และเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศไทยได้อย่างยั่งยืน
ดร.สัมพันธ์ ศิลปนาฎ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิฯ ได้ให้กำลังใจและข้อคิดแก่นักเรียนทุนว่า ในปัจจุบันที่เทคโนโลยีก้าวหน้าอย่างมาก ทำให้อายุเฉลี่ยของนักเรียนทุนมีแนวโน้มยืนยาวมากขึ้น ทำให้นักเรียนทุนฯ ต้องมีทักษะที่จำเป็นในหลายๆ ด้านเพื่อประกอบอาชีพและค้นหาความชอบความถนัดของตนเอง Lifelong learning เป็นสิ่งจำเป็น นักเรียนทุนควรเรียนรู้เทคโนโลยีในหลายๆศาสตร์วิชา ตลอดทุกช่วงวัย เพื่อให้สามารถเป็นกำลังคนคุณภาพที่พร้อมเข้าทำงานในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ที่มีความหลากหลายและความท้าทายทางเทคโนโลยีในยุคปัจจุบันได้
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.