จีนประกาศให้ไทยเป็น 1 ใน 10 ประเทศนำอุปกรณ์วิจัยวิทยาศาสตร์ของไทยร่วมภารกิจฉางเอ๋อ-8 เตรียมส่งขึ้นสู่อวกาศสำรวจพื้นผิวดวงในปี 2029 นี้ ด้าน “ศุภชัย” ปลัด อว. นำทัพ NARIT-GISTDA โชว์ศักยภาพเทคโนโลยีอวกาศไทยในงานวันอวกาศแห่งชาติจีน 2025 ที่เซี่ยงไฮ้
ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นผู้แทนประเทศไทยร่วมเปิดงาน “วันอวกาศแห่งชาติจีน” ณ นครเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งจัดโดยองค์การอวกาศแห่งชาติจีน (CNSA) พร้อมนำสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NARIT และสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA เข้าร่วมจัดแสดงนิทรรศการในโอกาสครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน โดยมี ดร. ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA และ ดร. วิภู รุโจปการ รองผู้อำนวยการ NARIT เข้าร่วม
งานวันอวกาศแห่งชาติจีนตรงกับวันที่ 24 เมษายน ของทุกปี โดยปีนี้นับเป็นการครบรอบ 10 ปีของ "วันอวกาศจีน" จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “ดวงจันทร์สว่างขึ้นเหนือทะเล ดวงดาวส่องแสงเต็มฟ้า” สื่อความหมายถึง การที่มนุษยชาติร่วมแบ่งปันความสำเร็จในการสำรวจอวกาศ และสะท้อนแนวคิดของจีนในการใช้ประโยชน์จากอวกาศอย่างสันติ และส่งเสริมการสร้างประชาคมโลกที่มีอนาคตร่วมกัน มีผู้แทนประเทศต่าง ๆ และองค์กรอวกาศจากนานาชาติ เข้าร่วมกว่า 41 ประเทศ ซึ่งในปีนี้ไทยได้รับเชิญพิเศษในฐานะประเทศเกียรติยศ (Guest Country of Honor) ในการจัดแสดงการศิลปวัฒนธรรมไทยในรูปแบบ “การแสดงโขน” ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ถ่ายทอดเรื่องราว รามายณะ หรือ รามเกียรติ์ (罗摩衍那) และ ฉางเอ๋อแห่งจันทรา (月之嫦娥) โดย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ วิทยาลัยเพาะช่างและโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร (ฝ่ายมัธยม) และร่วมจัดแสดงผลงานด้านดาราศาสตร์และอวกาศ ภายใต้ความร่วมมือไทย-จีน โดยในงานนี้ไทยยังได้รับการประกาศให้เป็น 1 ใน 10 ประเทศที่ได้นำอุปกรณ์วิจัยวิทยาศาสตร์ของไทยร่วมในโครงการฉางเอ๋อ-8 ที่กำลังเตรียมส่งขึ้นสู่อวกาศเพื่อสำรวจพื้นผิวดวงในปี 2029
โอกาสนี้ ประเทศไทยยังได้รับเกียรติให้เป็นประเทศเดียวที่ร่วมกล่าวเปิดงาน โดย ศ.ดร.ศุภชัย กล่าวว่า ในนามของประเทศไทยรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้ร่วมเฉลิมฉลองครบรอบ 10 ปี วันอวกาศแห่งชาติจีน และภาคภูมิใจที่ได้เป็นพันธมิตรกับองค์การอวกาศแห่งชาติจีน ในการพัฒนาเครื่องมือวิจัย MATCH (Moon-Aiming Thai-Chinese Hodoscope) ซึ่งจะติดตั้งบนยานฉางเอ๋อ-7 เพื่อศึกษาสภาพแวดล้อมดวงจันทร์ ถือเป็นก้าวสำคัญของประเทศไทยในเวทีอวกาศนานาชาติ และนับเป็นผลงานชิ้นแรกของนักวิจัยไทยในภารกิจสำรวจห้วงอวกาศลึก ความร่วมมือครั้งนี้ยังสะท้อนถึงความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างไทย-จีนในวาระครบรอบ 50 ปีทางการทูต แสดงให้เห็นว่าความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมสามารถเป็นสะพานเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ พร้อมสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักวิจัย วิศวกร และเยาวชนรุ่นใหม่ในการร่วมกันสำรวจอวกาศเพื่ออนาคตของมนุษยชาติ
นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการประกาศความร่วมมือระหว่างประเทศเกี่ยวกับภารกิจสำรวจดวงจันทร์และอวกาศห้วงลึก (International Lunar Research Station: ILRS) ซึ่งประเทศไทยได้รับคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 10 ประเทศที่จะได้เข้าร่วมภารกิจฉางเอ๋อ 8 (Chang’e-8) โดยไทยได้เตรียมส่งอุปกรณ์ปฏิบัติภารกิจวิทยาศาสตร์ ได้แก่ ALIGN (Assessing Lunar Ion-Generated Neutrons) ไปกับยานลงจอดดวงจันทร์ปี 2029 ซึ่งอุปกรณ์ดังกล่าว NARITได้พัฒนาร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นอุปกรณ์วิจัยวิทยาศาสตร์ สำหรับวิเคราะห์ปริมาณนิวตรอนที่ปลดปล่อยจากพื้นผิวดวงจันทร์ เพื่อตรวจหาแหล่งน้ำ แร่ธาตุ และองค์ประกอบสำคัญอื่น ๆ ที่จำเป็นต่อการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในอนาคต ถือเป็นก้าวสำคัญที่ช่วยเสริมองค์ความรู้เกี่ยวกับทรัพยากรดวงจันทร์ที่อาจนำไปใช้สนับสนุนโครงการสำรวจอวกาศห้วงลึกในระยะยาว
สำหรับนิทรรศการของประเทศไทยที่นำไปจัดแสดงในครั้งนี้ ประกอบด้วย นิทรรศการเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ผู้ทรงอุมถัมภ์ และทรงผลักดันความร่วมมือด้านดาราศาสตร์ และวิทยาศาสตร์อวกาศระหว่างประเทศไทยและจีนให้เกิดขึ้นในหลายโครงการสำคัญ อาทิ โครงการความร่วมมือไทย-จีน ด้านการสำรวจอวกาศห้วงลึก การจัดแสดงอุปกรณ์วิจัยวิทยาศาสตร์ของไทยที่เข้าร่วมในภารกิจสำรวจดวงจันทร์ฉางเอ๋อ 7 และ 8 ของจีน การเข้าร่วมเครือข่ายการแทรกสอดระยะไกล (Very-long-baseline interferometry: VLBI) ของจีน และเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์วิทยุ VGOS ของไทย-จีน ความร่วมมือกับจีนในด้านการสำรวจระยะไกลและเทคโนโลยีดาวเทียม เช่น ศูนย์ภูมิสารสนเทศสิรินธร (SCGI) โครงการ THEOS-2 และบทบาทของประเทศไทยในฐานะผู้ใช้ระบบดาวเทียมนำทางเป่ยโต่วในต่างประเทศรายแรก ความพยายามเหล่านี้ร่วมกันสะท้อนถึงความมุ่งมั่นร่วมกันในการสร้างนวัตกรรมอวกาศ การแลกเปลี่ยนความรู้ และการพัฒนาอย่างยั่งยืน
นิทรรศการวิทยาศาสตร์อวกาศเนื่องในวันอวกาศแห่งชาติจีนนี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 24 เมษายน - 5 พฤษภาคม 2568 ณ Shanghai World Expo Exhibition & Convention Center บนพื้นที่กว่า 17,000 ตร.ม. มีสิ่งที่น่าสนใจ อาทิ ครั้งแรกของการจัดแสดงตัวอย่างดินจากดวงจันทร์ด้านใกล้และด้านไกลพร้อมกัน โดยเป็นดินดวงจันทร์ที่เก็บกลับมาด้วยยานฉางเอ๋อ 5 และ 6 นิทรรศการด้านการสำรวจอวกาศแบบ interactive และการจัดแสดงผลงานของหน่วยงานด้านอวกาศในจีนทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงระบบนิเวศอวกาศอันเข้มแข็งของจีน รวมถึงเผยแผนภารกิจอวกาศปี 2025 เช่น ภารกิจเก็บตัวอย่างจากดาวเคราะห์น้อยโดยเทียนเวิ่น-2 และภารกิจส่งมนุษย์ขึ้นสู่อวกาศผ่านยานเสินโจว 20 เป็นต้น ขณะเดียวกัน ยังมีการจัดประชุมนานาชาติด้านอวกาศเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ระหว่างวันที่ 24-26 เมษายน 2568 ซึ่งมุ่งเน้นการขยายความร่วมมือด้านอวกาศระดับโลกเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
เผยแพร่ข่าว : นางสาวเยาวลักษณ์ ทับช้างโท
สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
กลุ่มสื่อสารองค์กร
โทรศัพท์ 0 2333 3700
E-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : MHESIThailand
Instagram : mhesithailand
Tiktok : @mhesithailand
X (Twitter) : @MHESIThailand
YouTube : @MHESIThailand
Call Center 1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.