สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนิน ทรงเปิด “อาคารอำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้ (จังหวัดสงขลา)” ที่พื้นที่ส่วนขยาย ตำบลทุ่งใหญ่ ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่” ในวันที่ 24 กันยายน 2563 โดย ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หัวหน้าส่วนราชการ และ ผู้บริหาร คณาจารย์และบุคลากรมหาวิทยาลัย เฝ้าฯ รับเสด็จฯ โดยหลังจากทรงกดปุ่มเปิดแพรคลุมป้ายอาคารอำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ ภาคใต้ (จังหวัดสงขลา) แล้ว ทรงรับฟังการถวายรายงานภาพรวมของอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้ โดย ผศ.คำรณ พิทักษ์ ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้ และ "นวัตกรรมเด่นของอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้" โดย ผศ.นพ.สุนทร วงษ์ศิริ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้แก่
GISS Unit เทคโนโลยีการหล่อโลหะแบบสเลอร์รี่ (บริษัท กิสโค จำกัด) : GISS Unit คือ เครื่องผลิตโลหะแบบสเลอร์รี่ที่คิดค้นและพัฒนาเทคโนโลยีขึ้นใหม่ระดับโลก ที่เรียกว่า เทคโนโลยีการหล่อโลหะแบบ สเลอร์รี่ เป็นวิธีการหล่อโลหะแบบกึ่งของแข็ง ซึ่งน้ำโลหะที่ใช้จะไม่เหลวเหมือนน้ำ แต่จะมีความหนืดมากขึ้นคล้ายวุ้น สามารถไหลได้ดีและมีความร้อนต่ำ จึงทำให้ยืดอายุแม่พิมพ์ ยาวขึ้น รวมถึงลดเวลาในการหล่อชิ้นงานต่อชิ้นให้สั้นลงเมื่อเทียบกับวิธีการหล่อชิ้นส่วนโลหะในปัจจุบัน ส่งผลให้ต้นทุน การผลิตชิ้นส่วนโลหะต่ำลงและคุณภาพของชิ้นงานหล่อสูงขึ้น
ชุดตรวจคัดกรองการติดเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 (PSU COVID-19 Rapid Test) : ใช้สำหรับตรวจคัดกรอง ผู้ป่วยในกลุ่มเสี่ยงได้อย่างรวดเร็ว ใช้หลักการ Immunochromatography (อิมมูโนโชมาโตกราฟฟี) (ICT) ในการตรวจหาภูมิคุ้มกันของร่างกายที่สร้างต่อเชื้อทั้งชนิด IgM และ IgG และจำเพาะต่อโปรตีนของเชื้อไวรัสก่อโรค COVID-19 โดยวิธี ICT เป็นวิธีที่นิยมใช้ในการตรวจเนื่องจากทำได้ง่าย รวดเร็ว มีความคงตัวมีความไวและความจำเพาะสูง สามารถใช้ประโยชน์ได้ ทั้งการตรวจหาการติดเชื้อในเบื้องต้นและตรวจติดตามการพัฒนาภูมิคุ้มกันของร่างกาย ใช้เวลาในการตรวจเพียง 15-20 นาที ชุดตรวจเก็บรักษาได้ที่อุณหภูมิห้องเป็นเวลาหลายเดือน อีกทั้งตัวอย่างที่ใช้ในการตรวจมีปริมาตรน้อย ประมาณ 15-20 ไมโครลิตร (2-3 หยด) ใช้ได้กับตัวอย่างเลือดที่เจาะจากปลายนิ้วพลาสมาหรือซีรัมและทอดพระเนตรนิทรรศการผลงานนวัตกรรมเด่นด้านต่างๆ เช่น ด้านยางพารา ด้านสุขภาพ และด้านอาหารเป็นต้น จากนั้นทรงปลูกต้นศรีตรังซึ่งเป็นดอกไม้ประจำมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
“อาคารอำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้ (จังหวัดสงขลา)” แห่งนี้ ประกอบด้วยห้องปฏิบัติการ เครื่องมือสำหรับการวิจัยและพัฒนา บริการวิเคราะห์ทดสอบรับรองมาตรฐาน การส่งเสริมการจัดตั้งและการเติบโตของธุรกิจด้านวิทยาศาสตร์ นอกจากนั้น ยังมีการให้บริการแบบครบวงจร โดยเป็นที่ตั้งของศูนย์ออกแบบนวัตกรรม สำนักงานความร่วมมืออุตสาหกรรม ศูนย์ประสานงานกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ภายใต้ความร่วมมือระหว่างสำนักงานกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และ อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้ โดยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และ มหาวิทยาลัยทักษิณ
อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้ จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นศูนย์กลางในการให้บริการเพื่อเชื่อมโยงองค์ความรู้จากมหาวิทยาลัยไปสู่ภาคเอกชนในภูมิภาคภาคใต้ เพื่อนำทรัพยากรและโครงสร้างพื้นฐานวิจัยในภาครัฐมาพัฒนาให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อสร้างความเข้มแข็งด้านเทคโนโลยี และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.