วันที่ 29 กันยายน 2563 ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.) และคณะรัฐมนตรี เยี่ยมชมผลงานวิจัย “การพัฒนาต้นแบบรถโดยสารไฟฟ้า โครงการพัฒนารถโดยสารไฟฟ้าจากรถโดยสารประจำทางใช้แล้วของ ขสมก. (City transit E-buses)” ซึ่งเป็นผลงานวิจัยและพัฒนาของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งปรระเทศไทย (กฟผ.) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เครือข่ายพันธมิตรที่ครอบคลุมหน่วยงานภาครัฐทั้งหน่วยงานวิจัย สถาบันการศึกษา ทดสอบ หน่วยงานกำกับดูแลมาตรฐาน การจดทะเบียน การใช้งาน นโยบายส่งเสริม และเอกชนผู้ร่วมพัฒนา ภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาโครงการพัฒนารถโดยสารไฟฟ้าจากรถโดยสารประจำทางใช้แล้วขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เพื่อพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการไทยในการออกแบบและผลิตรถโดยสารไฟฟ้า ที่สามารถจดทะเบียนเพื่อใช้งานกับกรมการขนส่งทางบก ได้อย่างถูกต้อง และพร้อมสำหรับการผลิตในระดับอุตสาหกรรม จำนวน 4 รายการ โดยมี ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ให้การต้อนรับ พร้อมด้วยผู้บริหาร สวทช. กฟน. กฟภ. กฟผ. ขสมก. และกลุ่มผู้ประกอบการไทยผู้ร่วมพัฒนา เพื่อนำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรมรถโดยสารไฟฟ้า ที่พัฒนาโดยผู้ประกอบการไทย ภายใต้การให้คำปรึกษา จากนักวิจัย ผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากสถาบันวิจัย สถาบันการศึกษา และภาคเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล
โครงการพัฒนารถโดยสารไฟฟ้าจากรถโดยสารประจำทางใช้แล้วของ ขสมก. (City transit E-buses) ดำเนินการในลักษณะ ภาคีเครือข่าย (Consortium) การพัฒนาอุตสาหกรรมรถโดยสารไฟฟ้าไทย ร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และสถาบันวิจัย ประกอบไปด้วยสมาชิกจาก อว. โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จาก การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) สถาบันยานยนต์ (สยย.) สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งจราจร กรมการขนส่งทางบก (สนข.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) และสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย (TAPMA) มีเป้าหมายในการยกระดับขีดความสามารถของผู้ประกอบการไทยให้สามารถผลิตรถโดยสารไฟฟ้าที่มีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะเป็นรถโดยสารประจำทาง และเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับรถโดยสารประจำทางเก่าที่ปลดอายุการใช้งานแล้ว ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก กฟน. กฟภ. กฟผ. ขสมก. สวทช.และได้รับรถโดยสารประจำทางที่ปลดอายุการใช้งานแล้วจำนวน 4 คัน ที่จะส่งมอบให้ผู้ประกอบการไทยที่ได้รับคัดเลือกจำนวน 4 รายนำไปปรับปรุงให้เป็นรถโดยสารไฟฟ้า โดยผู้ประกอบการไทยที่ผ่านการคัดเลือกจะได้รับการให้คำปรึกษาทางเทคโนโลยีผ่านกลไกการสนับสนุนที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iTAP) สวทช. รายนามผู้ประกอบการที่ผ่านการคัดเลือกประกอบด้วย 1.บริษัท พานทอง กลการ จำกัด 2.บริษัท โชคนำชัย-ไฮเทคเพลสซิ่ง จำกัด 3.บริษัท รถไฟฟ้า ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) 4.บริษัท สบายมอเตอร์ (ไทยแลนด์) จำกัด
นอกจากนี้ภาคีเครือข่ายฯ ได้มีสนับสนุนงบประมาณในการพัฒนาสนามทดสอบน้ำท่วมขังร่วมกับ มจพ. วิทยาเขตปราจีนบุรี เพื่อประเมินประสิทธิภาพของรถในขณะขับขี่ในพื้นที่น้ำท่วมขังเพื่อให้ประชาชนเกิดความมั่นใจในการใช้รถโดยสารไฟฟ้า และอยู่ระหว่างการจัดทำบทวิเคราะห์ความคุ้มค่าในการพัฒนารถโดยสารไฟฟ้า จากรถโดยสารประจำทางใช้แล้ว ขสมก. โดย สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร (SIIT) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก่อนนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อใช้ประโยชน์ต่อไป
ทั้งนี้ สวทช. โดยทีมวิจัยจาก ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) และ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) ได้พัฒนาตู้อัดประจุไฟฟ้าจำนวน 2 ตู้ติดตั้งที่เขตการเดินรถที่ 1 ของ ขสมก. เพื่อให้รถทั้ง 4 คัน ได้ทำการอัดประจุขณะทดลองวิ่งเป็นรถโดยสารประจำทางสาย 543ก (อู่บางเขน-ท่าน้ำนนท์) เป็นระยะเวลา 6 สัปดาห์ นอกจากนั้น ทีมวิจัยจาก สวทช. ยังร่วมให้คำปรึกษาและแก้ปัญหาการออกแบบ และประกอบรถโดยสารไฟฟ้าแก่ผู้ประกอบการ และทีมวิจัยอยู่ระหว่างดำเนินการ นำรถทั้ง 4 คันไปทดสอบสมรรถนะ และ วิเคราะห์คุณลักษณะ สมรรถภาพตามข้อกำหนดคุณลักษณะทางวิศวกรรมเพื่อให้เกิดความมั่นใจในการนำไปใช้งาน และสามารถจดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบกอย่างถูกต้องต่อไป
โดยคุณลักษณะขั้นต่ำที่รถโดยสารทั้ง 4 คัน มีคือ ระยะเวลาในการประจุไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่ 2 – 3 ชั่วโมง ระยะทางที่วิ่งได้ต่อการประจุไฟฟ้า เฉลี่ย 160 – 250 กิโลเมตรต่อการประจุไฟฟ้า และความเร็วสูงสุดต่อเนื่อง 80 – 9 0 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เป็นต้น อย่างไรก็ตามรถโดยสารไฟฟ้าทั้ง 4 บริษัทนี้ ต้นทุนในการเปลี่ยนจากรถโดยสารประจำทางใช้แล้ว ขสมก. เป็นรถโดยสารไฟฟ้าเฉลี่ยคันละ 7 ล้านบาท ในขณะที่การนำเข้ารถโดยสารไฟฟ้าจากต่างประเทศอยู่คันละ 12 – 14 ล้านบาท โดยจะมีคุณลักษณะเด่นของรถโดยสารไฟฟ้าที่ได้รับการพัฒนาจากทั้ง 4 บริษัทดังนี้
ทั้งนี้ในปี 2563 นี้ ผู้ประกอบการไทยทั้ง 4 ราย พร้อมแล้วที่จะผลิตรถโดยสารไฟฟ้า ในการให้บริการประชาชนทั้งในรูปแบบรถโดยสารประจำทาง หรือไม่ประจำทาง เพื่อให้คนไทยได้ร่วมกันภาคภูมิใจในความสามารถของคนไทย ควบคู่ไปกับการสร้างรายได้ให้กับคนในประเทศ
ข้อมูลข่าวและภาพ : สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
เผยแพร่ข่าว : นางสาวพจนพร แสงสว่าง
ส่วนสื่อองค์กร กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทร. 02 333 3727 - 3232 โทรสาร 02 333 3834
E-Mail: pr@mhesi.go.th Facebook: MHESIThailand
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.